ผู้กำกับโจ้ มีประวัติรักษา ไบโพลาร์ คาดใช้สู้คดีในชั้นศาล
หลังจากที่ ตำรวจคุมตัว อดีต พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ไปศาล จ.นครสวรรค์ เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง พร้อมยื่นค้านประกันตัว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ขณะที่ คดีของผู้กำกับโจ้ และลูกน้อง รวม 7 คน ถูกโอนเข้าไปที่ บก.ป เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เนื่องจากคดีนี้เกิดในพื้นที่ กลัวว่าประชาชนจะระแวงว่าจะเกิดการช่วยเหลือกัน
ล่าสุด รายงานจากตำรวจภูธรภาค 6 เผยข้อมูลว่า ผู้กำกับโจ้ มีประวัติ เคยรักษาโรคไบโพลาร์ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มาสักระยะหนึ่งแล้ว และต้องกินยาอยู่เรื่อย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำประเด็นนี้มาต่อสู้ในชั้นศาล
สำหรับ อาการ ไบโพลาร์ นั้น มีบทความเผยแพร่ผ่านทาง โรงพยาบาล สมิติเวช ระบุอาการไว้ว่า
เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอารมณ์รุนแรงแตกต่างกัน 2 ขั้ว ระหว่าง ซึมเศร้า (Depressive Episode ) และอารมณ์คลุ้มคลั่ง (Manic Episode) โดยผู้ป่วยอาจต้องเผชิญอารมณ์สุดโต่งแต่ละขั้วยาวนานและเรื้อรัง รวมถึงเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูงถึง 70-90% ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทั้งของตนเองและคนใกล้ชิดอย่างมาก
ไบโพลาร์ คือ โรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถทำให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตประจำวันได้ ถ้าเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี แต่หากขาดความเข้าใจจากคนรอบข้าง ทิ้งให้ผู้ป่วยเผชิญกับโรคเพียงลำพัง ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้
อาการไบโพลาร์ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มอารมณ์แสดงออก ดังนี้
อารมณ์คุ้มคลั่ง (Manic Episode) ช่วงที่อารมณ์ดีสนุกสนานสุดขีด ขยันคึกคักมากเกินปกติ พูดคุยเสียงดัง มีความมั่นใจสูง ไม่แคร์สายตาคนรอบข้าง บางกรณีอาจใช้จ่ายเกินตัว หรือพบอารมณ์ก้าวร้าวฉุนเฉียว
อารมณ์ซึมเศร้า (Depressive Episode) ขลาดกลัว เก็บตัว ไม่มั่นใจในตัวเอง ปล่อยปละตัวเอง เก็บตัว สิ้นหวัง บางครั้งส่งผลทำให้เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ รู้สึกตัวเองหมดคุณค่า อยากตาย
ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจเกิดช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือเป็นอยู่ยาวนานแล้วหายไป จากนั้นเปลี่ยนสลับมาเกิดอารมณ์อีกขั้ว หรืออาจเป็นอารมณ์ขั้วใดขั้วหนึ่งติดต่อกันหลายๆ รอบ ทั้งนี้ไม่มีอาการใดอาการหนึ่งแน่นอนตายตัว ดังนั้นการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น เคยเป็นคนเรียบร้อยไม่ค่อยพูด กลับกลายเป็นคนพูดคุยไม่หยุด เสียงดัง กล้าแสดงออกมากเกินไป หรือจากคนที่มีความมั่นใจสูง กลายเป็นคนปล่อยตัว เงียบลง ซึมเศร้า เก็บตัว หรือป่วยบ่อยๆ หากพบคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
สาเหตุของโรคไบโพลาร์ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) สารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารโดปามีน (Dopamine) ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์
พันธุกรรม ปัจจุบันยังไม่ทราบรูปแบบที่ชัดเจนของการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่พบผู้ป่วยมักมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคไบโพลาร์เช่นเดียวกัน
วิกฤตชีวิต เช่น สูญเสียคนรัก ตกงาน เครียดเรื้อรัง หรือเจ็บป่วยกะทันหัน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์อย่างรุนแรง