นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ต.ค. นี้ สศช.จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา จัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน เพิ่มเติมแนวทางกรอบการดูแลเศรษฐกิจมหภาค ที่ต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัดไว้ในแผนบริหาร ราชการแผ่นดินให้ชัดเจน
ก่อนเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 28 ต.ค. นี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี คือตั้งแต่ปีงบประมาณ 52-54 เพราะในอีก 3 ปีข้างหน้าโอกาสที่เศรษฐกิจ ไทยจะขยายตัวในระดับ ที่ 6%-8% นั้นค่อนข้างยาก โดย สศช. คาดการณ์ว่าไทยจะฝ่าพ้นวิกฤติได้ที่อัตราขยายตัวเพียง 3%-4% จากนั้นจึงจะกลับมาขยายตัวในระดับปกติที่ 5%-6% ในปี 54
ทั้งนี้ต้องกำหนดให้ชัดเจน ทั้งกรอบการก่อหนี้สาธารณะ สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) การจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนซึ่งต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในเศรษฐกิจมหภาคว่าสามารถรองรับได้เพียงใด เพราะในปี 52-54 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงมาก
ขณะที่ไทยจำเป็นต้องผลักดันให้เกิด การลงทุนด้วยการก่อหนี้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณา ให้เกิดความสมดุลระหว่างการลงทุนในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์และด้านกายภาพ รวมทั้งต้องพิจารณาระดับความเหมาะสมของการก่อหนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง การรักษาเสถียรภาพของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
“สศช.ต้องการวอร์นนิ่งหรือบอกเตือน เพราะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่ใช่เมื่อต้องการกู้เงินแล้วแต่ไม่คำนึงถึงวินัยการคลัง แต่ที่สำคัญที่สุดต้องเป็นการกู้เงินเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาวคือการพัฒนาศักยภาพของคน ที่ต้องดูความสมดุลทั้งด้ายกายภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ และทุนสังคม ไม่ใช่ลงทุนด้านกายภาพถึง 90% แต่ลงทุนด้านศักยภาพของคนเพียงแค่ 10%
ดังนั้นการลงทุนต้องเฉลี่ยให้สมดุล แล้วลำดับความสำคัญที่เป็นศักยภาพ ไม่ใช่ลงทุนรถไฟฟ้าไปมากจนกระทั่งคนไม่มีเงินขึ้นรถไฟฟ้า หรือรัฐบาลไม่มีเงินพอที่จะให้การอุดหนุน”
นอกจากนี้ยังต้องกำหนดแนวทางการ ใช้งบประมาณในภูมิภาคที่มีจำนวนเงินในโครงการต่าง ๆ ทั้งกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล โอทอป รวมถึงงบผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีไม่ต่ำกว่า 1 แสน ล้านบาท ซึ่งต้องมีแนวทางมียุทธศาสตร์ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับงบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. เพื่อไม่ให้เกิด การซ้ำซ้อน.