พิธา เปิด 9 ข้อ ต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล
วันนี้ (9 มิ.ย.2567) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีการสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ที่อาคารอนาคตใหม่ โดย ย้ำว่า แนวทางการต่อสู้มีทั้งหมด 9 ข้อต่อสู้ 3 หมวดหมู่ กระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ เน้นไปที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดีเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เป็นการแสดงความคิดเห็นชี้นำสังคม ตามข้อกังวลของศาลธรรมนูญ
สำหรับแนวทางการต่อสู้ 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี
2.กระบวนการยื่นคำร้อง กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.คำวินิจฉัยของคดีเมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ผูกพันต่อคดีนี้
4.การกระทำที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นการล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
5.การกระทำตามคำวินิจฉัย เมื่อ 31 ม.ค.67 ไม่ได้เป็นมติของพรรค
6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็นฉุกเฉิน ฉันพลัน และไม่มีทางอื่นแก้ไขในระบอบประชาธิปไตย
7.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
8.จำนวนปีในการตัดสิทธิ์ทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด
9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา
นายพิธา ยังชี้แจงเน้นไปที่แนวทางต่อสู้คดี 3 ข้อ คือประเด็นขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากการศึกษาของฝ่ายกฎหมายอย่างละเอียดแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจขอบเขตอำนาจพิจารณาคดีนี้ เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรค และตัดสิทธิ์การเมือง
ส่วนประเด็นการยื่นคำร้องของ กกต.ที่พรรคมองว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก ผู้ถูกร้องคือพรรคก้าวไกล ไม่มีโอกาสรับทราบ ข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และไม่มีการโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐาน ซึ่งขัดต่อระเบียบที่่ กกต.ตราขึ้นเอง
อีกประเด็นหนึ่งคือกรณีคำวินิจฉัยศาลฯ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ไม่ผูกพันกับคำวินิจฉัยในคดีนี้ ซึ่งอาจจะมีคนคิดว่า ข้อเท็จจริงได้รับการวินิจฉัยแล้ว และด่วนสรุปว่าคำวินิจฉัยคดีก่อนผูกพันคดีนี้โดยอัตโนมัติ แม้แต่ กกต. ยังใช้คำวินิจฉัยนี้เป็นหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคก้าวไกล แต่ความเป็นจริงตามหลักการทางกฎหมายกรณีที่คำพิพากษาคดีหนึ่งจะผูกพันกับอีกคดีหนึ่งได้ก็ต่อเมื่อเป็นข้อหาเดียวกัน และระดับโทษใกล้เคียงกัน
ด้วยเหตุผล-ข้อเท็จจริงทั้งหมดคดีนี้จึงไม่มีความผูกพันกับคดีเมื่อวันที่ 31 ม.ค. และเห็นว่าต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีใหม่ ด้วยมาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงกว่าคดีก่อน
นายพิธา ยังย้ำถึงกรณีโทษยุบพรรคว่า ต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น ซึ่งมาตรการยุบพรรค เป็นบทลงโทษที่มีได้ในระบบประชาธิปไตย เพื่อปกป้องประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของประชาธิปไตย เป็นตัวแทนประชาชน ดังนั้นการยุบพรรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น
นายพิธา ยังมั่นใจว่า สุดท้ายแล้วคดียุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้จะเป็นโมฆะ เพราะขาดความชอบธรรม และยังแตกต่างจากคดียุบอนาคตใหม่ รวมทั้งคดียุบพรรคอื่นๆ ซึ่งดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอนของ กกต.มาตามกระบวนการ ซึ่งแตกต่างจากคดียุบพรรคก้าวไกลในครั้งนี้
ทั้งนี้การแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล เกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ รับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา กกต.ยื่นคำร้อง อ้างอิงหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกล ใช้นโยบายหาเสียง ผ่านแก้ไขมาตรา 112 มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองฯ หรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมุข โดยนัดพิจารณาในวันที่ 12 มิ.ย.นี้เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ธนกร อัด พิธา ไม่เคารพคำสั่งศาล ดื้อแถลงแนวทางสู้
- กกต. ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ ศาล รธน. แล้ว ปมยุบพรรคก้าวไกล
- กกต.ยื่นคำร้องยุบก้าวไกล ผ่าน E-filing จับตาพิจารณาทันที 20 มี.ค.
- ฉบับเต็ม คำวินิจฉัยศาล รธน.‘พิธา-ก้าวไกล’ล้มล้างการปกครอง
- เปิดชื่อพยานปากเอก ก่อนศาลชี้คดีพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง
- พี่เต้ ยื่นหนังสือเอาผิดก้าวไกล ลั่น ยุบพรรคแน่100%
- ก้าวไกล ต้องลุ้นดาบ 2 จะมีนักร้องร้องต่อ หรือ กกต.วินิจฉัยเอง
- “เรืองไกร” เด้งรับ! จ่อร้อง กกต. ยุบก้าวไกลพรุ่งนี้!
- เปิดชื่อ 44 สส.พรรคก้าวไกล ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ 112
- เปิดคำแถลง ก้าวไกล ยันไม่มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย
- ด่วน! ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ พิธา-พรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง
>> ดูทั้งหมด :ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ พิธา-พรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง