เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึง กรณีของบริษัทขายอาหารเสริมเวลท์ เอเวอร์ ซึ่งมีซินแสโชกุน มีชื่อเป็นกรรมการบริษัท คดีนี้มีประชาชนเป็นผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 คน และได้ถูกประชาชนที่เป็นผู้เสียหายแจ้งความว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ จากพฤติการณ์ที่มีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ทรัพย์สินไปจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง
หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และพนักงานสอบสวนเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องแล้ว อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีแล้ว นอกจากข้อหาฉ้อโกงประชาชน อัยการยังมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ในการเรียกทรัพย์หรือราคาทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดตามฐานความผิดที่กำหนดคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ โดยคดีนี้อัยการมีอำนาจเรียกเอาเงินที่ประชาชนที่เป็นผู้เสียหายถูกฉ้อโกงไปคืนกลับมาได้ แต่อัยการไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหายแทนผู้เสียหายได้ เช่น ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาสนามบิน ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในระหว่างผิดนัด และค่าเสียหายอื่น ๆ เป็นต้น เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจอัยการไว้
แต่ตัวผู้เสียหายมีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่จะยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องโชกุน ก่อนเริ่มสืบพยาน แต่ในกรณีไม่มีการสืบพยานก็ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี เพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ โดยเป็นการให้สิทธิผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมจากกรณีที่อัยการไม่สามารถเรียกร้องให้ได้ตามมาตรา 43 ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย โดยไม่ต้องไปฟ้องคดีส่วนแพ่งเพื่อฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นคดีใหม่ โดยผู้เสียหายที่ยื่นคำร้องตามมาตรา 44/1 นี้ จะอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งตามมาตรา 44/1 วรรคสอง แต่ไม่ได้มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการในคดีอาญา เว้นแต่ผู้เสียหายจะได้ยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายจะไม่ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1นี้ ก็ได้ โดยผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นคดีแพ่งต่างหากด้วยตนเอง
ในกรณีนี้ประชาชนเป็นผู้เสียหายที่เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน คือ จากการจงใจกระทำละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้ได้รับความเสียหายทางทรัพย์สินอันมีมูลเหตุมาจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเหมือนกัน จึงเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงร่วมกันที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องร่วมกันของกลุ่มบุคคล และมีสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เหมือนกัน ในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้น และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มบุคคลเหมือนกัน ประกอบกับคดีมีประชาชนที่เป็นผู้เสียหายจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม จึงเข้าลักษณะองค์ประกอบที่จะยื่นคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 222/1 ถึง มาตรา 222/49 เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้ด้วย
นายธนกฤต กล่าวต่อว่าในการยื่นคำร้องจะต้องมีการแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มให้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มพร้อมกับการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี โดยการที่ศาลจะพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด โดยคำพิพากษาของศาลจะมีผลผูกพันสมาชิกกลุ่มทุกคน
กรณีที่มีผู้เสียหายที่มีมูลเหตุในการฟ้องคดีร่วมกันเป็นจำนวนมาก การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและความขัดแย้งกันของคำพิพากษา และเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และยังเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยที่ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีต่อศาล ให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย แต่หากประชาชนที่เป็นผู้เสียหายไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดำเนินคดีแบบกลุ่มก็สามารถเลือกที่จะใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายต่างหากเฉพาะคดีของตนไปได้
สำหรับอายุความในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ หากผู้เสียหายประสงค์จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนด้วยตนเอง โดยไม่ยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง คดีก็จะเป็นเรื่องของอายุความในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ได้กำหนดให้เอาอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าทางแพ่งมาใช้บังคับ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ได้กำหนดให้อายุความในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมูลละเมิดในคดีแพ่งจากเดิมมีอายุความ 1 ปี ขยายยาวออกไป หรืออายุความสะดุดหยุดลงตามที่มาตรา 51 กำหนด เว้นแต่ศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีอาญาจนคดีถึงที่สุด ก่อนที่จะมีการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในคดีแพ่ง จึงจะทำให้อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งมีอายุความเท่าเดิมตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดคือ 1 ปี
สำหรับการกระทำความผิดของบริษัทขายอาหารเสริมและผู้ก่อเหตุ นี้ หากประชาชนที่เป็นผู้เสียหายถูกหลอกลวง คนละวัน คนละเวลา จำนวนเงินที่ถูกหลอกลวงแตกต่างกัน ก็อาจจะถือว่าความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกจากกันได้ จึงเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหลายกรรมต่างกัน ไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว หากเทียบเคียงกับกรณีของ นายสิทธิกร บุญฉิม หรือ เสี่ยอู๊ด ซึ่งกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนในการจัดสร้างพระเครื่องและมีประชาชนเป็นผู้เสียหายจำนวนมากเช่นเดียวกันกับที่ ศาลฎีกาก็พิพากษาลงโทษ นายสิทธิกร ว่าได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันรวมทั้งสิ้น 921 กระทง