นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกระบวนการอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 23 มี 4 ขั้นตอน 1. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แจ้งเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 2.ประธาน สนช.แจ้งต่อที่ประชุมให้รับทราบ 3.ประธาน สนช.เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ และ 4.เมื่อพระองค์ทรงรับ ประธาน สนช.จะแจ้งให้ประชาชนทราบ เมื่อ 4 ขั้นตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว จะต้องเรียกพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกว่าจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงจะเรียกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชอำนาจเท่ากันทุกประการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการประกาศให้ราชกิจจานุเบกษา
เมื่อถามว่า เวลานี้สามารถเรียกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ว่าในหลวงได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ เพราะต้องรอให้ขั้นตอนต่างๆแล้วเสร็จ
ขณะที่ในวันเดียวกันนี้ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Tongthong Chandransu บอกเล่าเรื่องราวเมื่อครั้งที่มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2516 เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีบางช่วงดังนี้
"สายวันนี้ เมื่อครู่ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับทราบ มติของคณะรัฐมนตรีที่แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ซึ่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้เข้าเฝ้าฯเพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯขึ้นทรงราชย์ต่อไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประกอบกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
"ในอนาคตอันใกล้ เมื่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เข้าเฝ้าฯได้กราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงราชย์แล้ว จะได้มีประกาศของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป
ตั้งแต่เวลาที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เข้าเฝ้าฯและทรงรับอัญเชิญขึ้นทรงราชย์แล้ว จะได้ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ของปวงชนชาวไทยสืบไป"