ความภูมิใจของชาวจังหวัดเชียงรายกับรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นสิ่งที่เป็นมงคลสูงสุดของชาวจังหวัดเชียงราย ที่พระองค์พระราชทาน ประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนปูนพลาสเตอร์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับทหารกองพันทหารราบที่ 473 ณ ฐานปฏิบัติการดอยพญาพิภักดิ์ อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2525 ขณะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมทหารและราษฎร ช่วงที่มีการสู้รบระหว่างทางการไทยกับคอมมิวนิสต์ ซึ่งปัจจุบันรอยพระบาทถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ.กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าสักการะและปัจจุบันหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ประชาชนต่างทยอยมาสักการะและลงนามถวามความอาลัยอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งพันโท รัชตะ ท้าวคำลือ ผู้บังคับกองพันกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เปิดเผยว่ารอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นรอยพระบาทคู่เดียวของจังหวัดเชียงรายและในประเทศไทย ที่พระองค์ทรงพระราชทานตามคำกราบบังคมทูลขอของ พันโท วิโรจน์ ทองมิตร ตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 473 ในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานว่า ขอรอยพระบาทจากพระองค์ท่าน เมื่อรบชนะแล้วแผ่นดินนี้เป็นของพระองค์ท่าน เหล่าทหารหารได้ยึดกลับคืนมาถวายให้กับพระองค์แล้ว พระองค์เสด็จมาในผืนแผ่นดินแห่งนี้ ซึ่งนำมาด้วยชัยชนะแห่งสันติภาพ และสันติสุขของปวงชนชาวไทยในพื้นที่นี้สืบไป
ด้าน นายสนธยา แสงอรุณ อายุ 70 ปี และ น.ส.พิมพา ชินเมธีพิทักษ์ อายุ 70 ปี สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 1/ 9 หมู่ 13 ตำบลสันทราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานรอยพระบาท ก็ยังคงเก็บรักษาภาพถ่ายจำนวนมากที่ทางนายสนธยาเป็นผู้ถ่ายเอาไว้ขณะนั้น ทั้งภาพที่ขยายเอาไว้เพื่อเอาไว้กราบไหว้เป็นประจำ และภาพในอัลบั้มรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไฟฉายไว้ในบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่ง น.ส.พิมพา คือคนที่นั่งขณะพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับรอยพระบาทได้เล่าถึงความทรงจำอันงดงามด้วยความปลาบปลื้มและได้น้อมนำหลักปรัชญาความพอเพียงของพระองค์มาใช้ในชีวิตประจำวัน
ในขณะที่นายสนธยา ซึ่งเป็นผู้ที่บันทึกภาพและสร้างศาลาประทับในวันนั้นก็ได้เล่าถึงพระองค์ด้วยความตื้นตันจนน้ำตาคลอว่า สมัยนั้นตนเองและภรรยามีฐานะยากจน แต่ พันโทวิโรจน์ ซึ่งเป็นเพื่อนกันได้มาขอให้ไปช่วย พวกตนจึงตั้งใจทำสุดความสามารถ ซึ่งวันนั้นได้เห็นแววตาอันอ่อนโยนและทรงมีพระเมตตาของพระองค์ท่านที่ยังจำติดตาจนทุกวันนี้และจากวันนั้นถึงวันนี้นับว่าเป็นบุญของตนเองและครอบครัว ซึ่งหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ตนเองและภรรยาก็มีความเศร้าโศกเสียใจ เป็นอย่างมากจึงได้นำภาพที่เคยถ่ายในอริยะบทต่างๆของพระองค์มาดูเพื่อรำลึกถึงความหลังที่ยังไม่เคยลืม