′ยิ่งลักษณ์′ ลุยน้ำ ′ท่วม-แห้ง′ ก็เรื่อง ′ได้-เสีย′ ก็อีกเรื่อง

′ยิ่งลักษณ์′ ลุยน้ำ ′ท่วม-แห้ง′ ก็เรื่อง ′ได้-เสีย′ ก็อีกเรื่อง

เปลี่ยนแปลงกำหนดนัดหมายแทบทุกอย่างทั้งหมด


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุโขทัย ในวันที่ 13 กันยายน

โดยจะเดินทางด้วยเครื่องบินไปลงที่สนามบิน จ.พิษณุโลก ก่อนเดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปยัง จ.สุโขทัย จากนั้นกลับมาค้างคืนที่ จ.พิษณุโลก

จากนั้น ช่วงเช้าวันที่ 14 กันยายน จะลงพื้นที่ จ.พิจิตร และ จ.กำแพงเพชร เพื่อตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่บางระกำ พร้อมกับเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่มาเตรียมแผน พร้อมมอบนโยบายรับมือสถานการณ์น้ำ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเหมือนที่ จ.สุโขทัย

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในการประชุม กบอ.ครั้งล่าสุด นายกรัฐมนตรีแสดงความ ไม่พอใจอย่างยิ่งกับเหตุน้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย เนื่องจากผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รายงานสถานการณ์เข้ามา

ทำให้ต้องตัดสินใจลงพื้นที่ด้วยตัวเอง

ต้นสัปดาห์ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ต้องลงจากทำเนียบรัฐบาล มารับคำร้องเรียนของชาวบ้านท่าอิฐ จ.นนทบุรี ที่เดินขบวนกันมาร้องทุกข์ว่า

แม้เวลาจะผ่านไปร่วม 1 ปี ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่

แต่วันนี้ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐ


ทั้งสองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของกลไกรัฐในการจัดการและรับมือกับสภาพน้ำ

ประการหนึ่ง ภาวะ "ซิงเกิ้ล คอมมานด์" เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งระบบตามแผนการที่วางไว้จะเกิดขึ้นไม่ได้

ถ้าไม่มีข่าวสารข้อมูลเข้ามาสู่การรับรู้เพื่อวางแผนและตัดสินใจ

ประการหนึ่ง มีความผิดพลาด บกพร่อง และความไร้ประสิทธิภาพในองค์กรของรัฐ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมาจนกระทั่งถึงระดับกระทรวง ทบวง กรม ที่ทำให้การเยียวยาประชาชนผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างล่าช้า

ล่าช้าเสียจนภาระในการแก้ไขปัญหาต้องตกมาอยู่บนบ่าของนายกรัฐมนตรี

แม้ด้านหนึ่ง ความเป็นจริงในท้ายที่สุด จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่

แต่ก่อนที่จะถึงเวลาดังกล่าว ทำอย่างไรรัฐบาลจะไม่สิ้นสภาพไปเสียก่อน

เพราะความไม่เชื่อมั่นส่วนหนึ่ง และด้วยแรงกระพือทางการเมืองอีกส่วนหนึ่ง

ถึงในด้านสถิติข้อมูล น.อ.สมศักดิ์ ขาว สุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมทางตอนบนของประเทศปริมาณน้ำเริ่มลดลง เพราะฝนตกทางภาคเหนือเริ่มหยุด ขณะที่การระบายน้ำก็เป็นไปตามแผน

แต่เหตุการณ์ที่น้ำท่วมตัวเมืองสุโขทัยเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอุดจุดที่น้ำลอดใต้ดินขึ้นมาราว 2 วัน

ก่อนจะสูบน้ำที่ท่วมขังออก

และยืนยันปีนี้น้ำจะไม่ท่วม จ.ปทุมธานี, นนทบุรี และกรุงเทพฯ แน่นอน เพราะมีการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปริมาณน้ำ

แม้จะมีปริมาณฝนมาก แต่เมื่อเทียบเกณฑ์เฉลี่ยของน้ำฝนพบว่ามีปริมาณน้ำฝนก็ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว 30%

"ปีที่แล้วที่น้ำท่วมเกิดจากมีปริมาณน้ำท้ายเขื่อนมากบวกกับเขื่อนปล่อยน้ำมามากทำให้เกิดปริมาณน้ำที่มากจนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งต่างจากปีนี้

"ขณะนี้ปริมาณไหลอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เทียบกับปีที่แล้วปริมาณน้ำไหล อยู่ที่ 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที"

และปัจจัยอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในปีนี้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ปัจจัย ได้แก่

1.มีฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ด้วยปริมาณ 100 มิลลิเมตร/ชั่วโมง

2.มีพายุเข้าประเทศไทยแบบเต็มๆ

3.ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณการไหลอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที


จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตร/ วินาที

ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่อาจวางใจ

เพราะท้ายที่สุด น้ำจะท่วมหรือจะแห้งก็เป็นประเด็นหนึ่ง

ขณะที่รัฐบาลจะ "ได้" หรือ "เสีย" จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

เป็นเหตุผลว่าทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงเอาจริงเอาจังอย่างยิ่ง

กับการจัดการปัญหาน้ำท่วม

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์