โต้งจูบปาก ขุนคลัง โอนหนี้ 1.14 ล้านล้าน

โต้งจูบปาก ขุนคลัง โอนหนี้ 1.14 ล้านล้าน

วันที่ 10 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมตรี และ รมว.พาณิชย์
 
พร้อมด้วยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม.  ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ เพื่อเป็นแหล่งเงินให้รัฐบาลสามารถลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยโดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ขณะเดียวกันยังเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่จะดำเนินการควบคู่กัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของธุรกิจและให้สามารถดำเนินชีวิตตามปกติสุขต่อไป



สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. ที่เกี่ยวข้องกับการโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท นั้น
 
ได้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำในมาตรา 7 (3) โดยให้ตัดถ้อยคำว่า "ธนาคารแห่งประเทศไทยและหรือกองทุนฟื้นฟูฯ" คงเหลือเพียงแค่ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าบัญชี 5 ตามจำนวนที่ ครม. กำหนดเท่านั้น ซึ่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการบังคับหรือโอนหนี้ไปอยู่ที่ธปท.หรือซ่อนหนี้ไว้ที่ ธปท. แต่อย่างใด แต่หนี้ก้อนนี้ยังคงเป็นหนี้ของประเทศต่อไปแต่ต้องการบริหารจัดการหนี้ก้อนนี้อย่างครบวงจรเพื่อลดสัดส่วนหนี้ต่องบประมาณและเปิดทางให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนได้เพิ่มเติมมากขึ้น

 

ด้านนายธีระชัย กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูฯ จะทำหน้าที่เหมือนกับพาหนะ มี ธปท. เป็นผู้ขับเคลื่อนโดยเข้ามาดูแลบริหารจัดการหนี้ก้อนนี้
 
ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าการ ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำแผนรายละเอียดทั้งหมดเพื่อหาทางนำเงินมาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ เบื้องต้นได้มอบหมายให้ ธปท.พิจารณาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะชำระหนี้เงินต้นให้หมดภายใน 25 ปีโดยที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินในอัตราที่สูงมากเกินไปนัก แต่หากจะเก็บเพิ่มมากกว่าปัจจุบันสถาบันการเงินก็ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ขณะเดียวกันแนวโน้มเงินฝากในอนาคตขยายตัวมากขึ้นทำให้ ธปท. มีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในปีนี้ ธปท. มีแนวโน้มว่ามีผลกำไรมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแนวโน้มในการชำระหนี้จึงมีมากขึ้นด้วย



รมว.คลัง กล่าวอีกว่า หลังจากนี้กระทรวงการคลังจะจัดทำรายละเอียดการออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินในประเทศ

ทั้งกรณีพันธบัตรของกระทรวงการคลังที่นำมาใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่กำลังจะครบกำหนด ทั้งพันธบัตรออกใหม่อีกจำนวน 350,000 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับประกันภัยต่ออีก 50,000 ล้านบาท โดยการก่อหนี้เพิ่มอีกประมาณ 300,000 ล้านบาทจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2-3% แต่สามารถลดภาระหนี้ต่องบประมาณได้มากกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ตนและนายกิตติรัตน์ ได้มีความเห็นพ้องกันแล้ว ยอมรับว่าการทำงานย่อมมีข้อถกเถียงกันในเชิงวิชาการถือเป็นเรื่องธรรมดา และตอนนี้ไม่ได้มีเกาเหลาใด ๆ แล้ว


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์