ป.ป.ช. ชงแก้ ก.ม. เอาผิดนักการเมือง

ไทยรัฐ

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงแนวทางการทำงานของ ป.ป.ช.ปี 2550 ว่า ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เพื่อเสนอต่อรัฐบาล โดยกฎหมายสำคัญที่จะขอแก้ไขคือ มาตรา 66 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ระบุว่า การกล่าวหานักการเมืองจะต้องมีผู้เสียหายโดยตรงมาร้องเรียน ป.ป.ช.จึงจะดำเนินการตรวจสอบได้ จะขอแก้ไขเป็นไม่จำเป็นต้องมีผู้เสียหายมาร้องเรียน โดยให้มีผู้กล่าวหามาร้องเรียนก็สามารถดำเนินการตรวจสอบได้แล้ว เพื่อให้การไต่สวนนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตทำได้ง่ายขึ้น เหมือนกับการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐที่มีแค่ผู้กล่าวหามาร้องเรียนก็สามารถตรวจสอบได้แล้ว การขอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องอายุความคดีทุจริต ซึ่งที่ผ่านมาการนับอายุความคดีทุจริตจะหยุดลงเมื่อคดีไปถึงชั้นศาล แต่ระหว่างที่เรื่องอยู่ใน ป.ป.ช.จะยังไม่หยุดนับ จึงขอแก้ไขให้การนับอายุความคดีทุจริตหยุดลงเมื่อเรื่องมาถึง ป.ป.ช.เพราะ บางคดีเรื่องมาถึง ป.ป.ช.ก็ใกล้หมดอายุความแล้ว ทำให้ เกิดปัญหาในการทำงาน เพราะจะต้องเร่งทำงานกัน

เสนอ ขรก. ซี 9 เปิดบัญชีทรัพย์สินฯ

นายปานเทพกล่าวว่า ขณะเดียวกันจะเสนอขอแก้ไขกฎหมายเรื่องการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชน จากเดิมที่ให้รัฐมนตรีเปิดเผยบัญชีทรัพย์ สิน เป็นให้ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไป ที่เป็นระดับบริหาร หรือมีหน้าที่ควบคุมงบประมาณ ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯให้สาธารณชนทราบด้วย เนื่องจากเป็นผู้ใช้อำนาจการบริหาร มีอำนาจในการสั่งการ อีกทั้ง ที่ผ่านมาข้าราชการะดับสูงบางคนก็เคยมีปัญหาเรื่องบัญชีทรัพย์สินฯมาแล้ว จึงต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินฯเพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความโปร่งใส นอกจากนี้ จะเสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องการจำนำสินค้าเกษตรต่างๆ เช่น ลำไย ข้าว ยางพารา การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เพื่อป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างทำได้ยากขึ้น การแก้ไขกฎหมายกันผู้ต้องหาระดับเล็กๆไว้เป็นพยาน เพื่อให้เบาะแสในการเอาผิดผู้ต้องหาในระดับสูงได้ การให้รางวัลนำจับแก่ประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริตจนนำไปถึงการยึดทรัพย์ หรือดำเนินคดีได้

เล็งตั้ง ป.ป.ช. จังหวัดสกัดการทุจริต

นายปานเทพกล่าวว่า ยังมีแนวคิดจะให้มี ป.ป.ช.จังหวัด ที่ตั้งจากบุคคลที่น่าเชื่อถือในจังหวัด ให้เป็นเครือข่ายคอยดูแลเรื่องการทุจริตในจังหวัดก่อนที่เรื่องจะมาถึง ป.ป.ช.ใหญ่ และช่วยชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้แก่ อบต. และ อบจ.ทราบ เพราะที่ผ่านมานักการเมืองท้องถิ่นยังไม่เข้าใจเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ จนมีการทำผิดกฎหมายจำนวนมาก

ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า ส่วนการทำงานด้านการปราบปรามของ ป.ป.ช. จะต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้น

โดยเฉพาะเรื่องการไต่สวน เพราะเดี๋ยวนี้คดีต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ถ้าเจ้าหน้าที่ตามไม่ทัน สำนวนก็จะอ่อนมาก จึงต้องให้ความสำคัญกับสำนวน ป.ป.ช.เพราะอัยการ ศาลจะยึดเป็นหลักในการพิจารณาคดี ดังนั้นสำนวน ป.ป.ช.จะต้องแน่นหนา จึงต้องมีการจัดอบรมพนักงานไต่สวนของ ป.ป.ช.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์