นายกฯ เตรียมเยือนจีน และประชุมเอเปก ที่ญี่ปุ่น

กรุงเทพฯ 10 พ.ย. – นายกรัฐมนตรีเผยเยือนจีน-ญี่ปุ่น 12-14 พ.ย.นี้

เพื่อร่วมพิธีเปิดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 พร้อมหารือทวิภาคีผู้นำจีน โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการค้า-การลงทุน-การท่องเที่ยว ระหว่างไทย-จีน และเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ที่ญี่ปุ่น เชื่อจะมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาค่าเงินและปัญหาภัยพิบัติ

นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภารกิจในการเดินทางไปประเทศจีน และญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2553 ว่า

การเดินทางไปประเทศจีน เพื่อไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 สืบเนื่องจากการไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของความร่วมมือกับนครกวางโจว และกวางตุ้ง  ที่ไทยต้องการจะกระชับความสัมพันธ์  ซึ่งสิ่งที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยโดยเฉพาะ คือ ปัญหาสินค้าเกษตรและผลไม้ จึงใช้โอกาสการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ในการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย  ขณะนี้มีการส่งมอบผลไม้ไทยคุณภาพดี 10 ประเภท เพื่อใช้เป็นของขวัญมอบให้กับบรรดาบุคคลสำคัญที่มาเข้าร่วมในมหกรรมกีฬา และในงานเลี้ยงกีฬาเอเชียนเกมส์ นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมาก็สามารถขยายช่องทางในการเข้าถึงตลาดมากยิ่งขึ้น  ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรไทย

นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  นอกจากร่วมพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 แล้ว จะมีการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีจีน ที่ไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา

เพื่อติดตามด้านความร่วมมือต่าง ๆ กับจีน โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวใหม่ ที่เดิมมีแผนปฏิบัติการอยู่แล้ว แต่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ มีความตื่นตัวอย่างมากในการขยายการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกัน จะมีความร่วมมือในบางสาขา ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาดำเนินการ คือ ด้านรถไฟ ซึ่งรัฐสภาไทยได้อนุมัติกรอบการเจรจาแล้ว และอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ทั้งรายการโทรทัศน์ และละคร ที่จะนำเข้าไปฉายในจีน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เจรจามีความคืบหน้าเช่นกัน


นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการเดินทางร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก  ที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า การประชุมเอเปกครั้งนี้ จะอยู่ระหว่างการประชุมจี-20 โดยกรอบการประชุมเอเปก จะมี 2 ประเด็นต่อเนื่อง

ประเด็นแรกจะเป็นประเด็นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก มองว่าการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ ควรจะมีการกำหนดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ตัวเลข  แต่เป็นการเติบโตที่สมดุล  มีความยั่งยืน  เป็นการเติบโตที่เป็นธรรม  กระจายไปอย่างทั่วถึง  ซึ่งจะมีคณะทำงานกลับมารายงานต่อผู้นำในการช่วยกำหนดมาตรการในระดับประเทศในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ประเด็นที่ 2  คือ การมองไปข้างหน้าถึงความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่จะมีเขตการค้าเสรีต่อไป ก็เป็นจังหวะที่ดีที่จะได้ทบทวนเรื่องของเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้ว่า ประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มเอเปกจะขจัดปัญหาเงื่อนไขทางการค้าภายในปี 2552  ซึ่งจะมีการรายงานความคืบหน้า และอาจมีการเร่งรัดให้เกิดการค้าเสรีขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการประเมินความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาค เพราะขณะนี้จะเห็นว่ามีความริเริ่มในเรื่องความร่วมมือ เช่น การขยายตัวของเอเชียตะวันออกที่ได้เชิญสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เข้ามาร่วม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาค่าเงิน เชื่อว่าในเวที จี-20 คงเป็นเวทีที่ถกเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

เรายังไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุม จี-20 ยังให้ความสำคัญกับปัญหาค่าเงิน จึงมั่นใจว่าในเวทีเอเปก ก็จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารืออย่างแน่นอน
เพราะประเทศในภูมิภาคเราได้รับผลกระทบค่อนข้างแรงเรื่องของการเคลื่อนไหวค่าเงินสหรัฐ

“จี-20 จะมีข้อเสนอของบางประเทศในการกำหนดเป้าหมายดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะต้องถกกันว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าเวทีระหว่างประเทศ สหรัฐ กับจีน อาจมีการพาดพิงกันไปมา สภาพอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นสะท้อนความไม่สมดุลบางอย่าง ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจเข้าไปอยู่ในหัวข้อที่กำหนดไว้ คือ การเติบโตที่สมดุลด้วย เพราะการสมดุลต้องสมดุลทุกด้าน ทั้งด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ ความสมดุลในระดับภูมิภาค และระดับโลกในภาพรวมด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี  ยังกล่าวถึงกรณีภัยพิบัติว่า แต่ละประเทศมีความตื่นตัวกันค่อนข้างมาก

และหัวข้อหนึ่งที่พูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน หนีไม่พ้นสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และมีกรอบการเจรจาที่ค้างกันอยู่จากโคเปนเฮเกน และจะไปที่แคนคูน ปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาภัยพิบัติก็อาจมีการหารือกัน เพราะไม่ใช่ไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่ประสบปัญหา แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์