ศาลฎีกาสั่ง 6 แบงก์โอนเงิน ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านเข้าคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายนว่า วันเดียวกันนี้

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งไปยังธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง เพื่อแจ้งคำพิพากษาให้ทราบเกี่ยวกับคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 46,373 ล้านบาทเศษ และมีคำสั่งให้โอนเงินที่อายัดไว้ไปยังบัญชีของกรมบัญชีกลาง ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังโดยอธิบดีกรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้งไปยังธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่ง เพื่อแจ้งให้ทราบถึงวิธีปฏิบัติในการโอนเงินในบัญชีต่างๆ มายังบัญชีเงินคงคลัง บัญชีที่ 1 ซึ่งเป็นรายได้แผ่นดินของประเทศ


แหล่งข่าวที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมนตรีคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากคดียึดทรัพย์เกิดขึ้นครั้งแรก

ทำให้มีเงื่อนไขการปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากหากเป็นคดีทั่วไป เมื่อศาลมีคำพิพากษาจะต้องมีการขอคำสั่งให้มีการอายัดทรัพย์ก่อน แต่กรณีนี้เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้แล้ว เมื่อศาลมีคำพิพากษาก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างอื่นอีก สามารถดำเนินการยึดทรัพย์ได้เลย พนักงานอัยการจึงขออำนาจศาลเพื่อขอบังคับคดี โดยเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา พนักงานอัยการไปทำคำร้องขอให้ศาลทำหนังสือถึงธนาคาร 6 แห่งเพื่อแจ้งคำพิพากษารวมทั้งขอให้ธนาคารส่งเงินเข้าบัญชีของกรมบัญชีกลาง ซึ่งศาลได้ดำเนินการให้ในวันนี้


"กรณีนี้กระทรวงการคลังถือเป็นเจ้าหนี้ มีสิทธิอายัดทรัพย์ได้ แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะให้ทนายยื่นอุทธรณ์ พร้อมทั้งขอทุเลาการบังคับคดี เพราะการอุทธรณ์ไม่มีเหตุให้ทุเลาการบังคับคดี เมื่อศาลยังไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ก็มีสิทธิอายัดทรัพย์ได้เลย" ที่ปรึกษารัฐมนตรีคลังระบุ


ที่พรรคเพื่อไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย

ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การเงินการคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า มีข้อน่าสังเกตคืออัยการสูงสุด ที่ดูเหมือนว่า รีบเร่งทำงานเอาใจรัฐบาล แทนที่จะรอการพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่พ.ต.ท.ทักษิณได้ยื่นอุทธรณ์ไว้ และขอทุเลาการบังคับคดีไว้ก่อน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การที่อัยการสูงสุดเร่งรีบให้บังคับคดีอาจเป็นการใช้อำนาจโดยไม่สุจริต และในวันที่ 8 เมษายน

ในฐานะประธาน กมธ.การเงินฯได้ออกหนังสือเชิญอธิบดีกรมบัญชีกลางเข้าชี้แจงถึงกรณีที่มีการเกี่ยงงอนโยนอำนาจหน้าที่ในการลงนามในคำสั่งบังคับคดีเพื่อโอนเงินจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เข้าคลัง และเบื้องหน้าเบื้องหลัง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่ากระทรวงการคลังดำเนินการไม่สุจริต ประพฤติมิชอบ กลั่นแกล้งหรือไม่ และการขออายัดเงินในบัญชีที่ไม่ระบุในคำสั่งศาลฎีกา แต่มีความพยายามที่จะให้ดีเอสไอและข้าราชการในกระทรวงการคลังเข้ามาตรวจสอบหาเรื่องเพิ่มเติม จึงอยากฝากรัฐบาลว่าระวังการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามมาตรา 157



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์