จากสนธิถึงอริสมันต์มาตรฐานบนเส้นขนาน

คมชัดลึก : ดูเหมือนว่าทางออกของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีนำคำปราศรัยของ "ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล" หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ด้วยการยื่นเรื่องขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีต่อพนักงานอัยการถึง 3 ครั้ง 3 ครา จะไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไร

ไม่สวยงามเพราะเมื่อเทียบเคียงกับคดี "อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง" แกนนำคนเสื้อแดง ที่ใช้คำพูดเสมือนยั่วยุให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ขณะขึ้นเวทีปราศรัยในหลายจังหวัด จนถูกออกหมายจับเพียงชั่วข้ามคืน เหมือนเป็นคนละเรื่อง หนังคนละม้วน และก่อให้เกิดคำถามเรื่องสองมาตรฐาน ตามที่คนเสื้อแดงมักกล่าวหาอยู่เนืองๆ


 "สนธิ" หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำเทปคำปราศรัยของดา ตอร์ปิโด มาเผยแพร่ซ้ำบนเวทีคนเสื้อเหลือง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2551 ซึ่งคำพูดนี้เองทำให้ศาลพิพากษาจำคุกดา ตอร์ปิโด นานถึง 18 ปี

 ปฐมบทแห่งคดีนี้ เริ่มจาก "ธนชาติ แสงประดับธรรมโชติ" ทนายความนำเทปบันทึกเสียงและภาพเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานฟ้องร้องดำเนินคดีกับสนธิ


 29 เมษายน 2552 ศาลอาญาเรียกไต่สวนนัดแรก สนธิอ้างเหตุต้องเดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศ ขอเลื่อนไปวันที่ 30 มิถุนายน ปีเดียวกัน ซึ่งก็ขอเลื่อนอีกครั้งด้วยเหตุผลที่ว่า กำลังอยู่ระหว่างขอพระราชทานอภัยโทษ จึงเลื่อนมาเป็นวันที่ 2 เมษายน 2553 แล้วก็เบี้ยวอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยทนายความได้ยื่นขอให้อัยการสั่งพนักงานสอบสวนสอบพยานเพิ่มเติม คือ "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ


 3 ครั้งตามขั้นตอนของกฎหมายไม่มาฟังคำสั่งคดี อัยการจึงมีหน้าที่แจ้งให้พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต นำเอกสารหลักฐานตำหนิรูปพรรณมาขออนุมัติหมายจับ แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีความคืบหน้า ต่างกับคดีของอริสมันต์ที่ขั้นตอนการทำคดีถอนประกันชั่วคราวรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน


 "ตำหนิรูปพรรณของสนธิมีอยู่เยอะแยะมากมาย ทำไมถึงไม่ส่งให้อัยการ หาที่ไหนก็ได้ แต่ตามขั้นตอนแล้วเมื่ออัยการสั่งมาก็ต้องส่งให้ ไม่ใช่ซื้อเวลาไปวันๆ ส่วนการจะอนุมัติหมายจับหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล" นักกฎหมายผู้คร่ำหวอดด้านคดีอาญามายาวนานเกือบ 30 ปีให้ความเห็น


 การกระทำของตำรวจในลักษณะเหมือนกับว่าพยายามประวิงเวลา แม้แต่ในสายตาของอดีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอาญาท่านหนึ่งก็มองได้ว่า สองมาตรฐาน ?!!


 "ทำไมถึงไม่ทำไปตามขั้นตอนยุติธรรมล่ะ กระบวนการยุติธรรมถัดจากนั้นจะพิจารณาอย่างไรก็เป็นไปตามพยานหลักฐาน" อดีตผู้พิพากษาให้ความเห็นและอธิบายเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาว่า ขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ ถ้ามีเจตนาชัดแจ้งถือว่ามีความผิดชัดเจน แต่ถ้าขาดเจตนาศาลก็อาจจะยกประโยชน์ให้จำเลย


 กรณีของสนธินั้น มีการวิเคราะห์ในหมู่นักกฎหมายวงนอกว่า
 
แม้จะเป็นการนำเทปคำปราศรัยมาเผยแพร่ ซึ่งมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยก็จริง แต่ในประมวลกฎหมายอาญาต้องไปพิสูจน์อีกว่ามีเจตนาหรือไม่ แตกต่างกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ระบุว่านำเข้าสู่ หมายถึง เพียงแค่นำเข้าสู่เครื่องแล้วเผยแพร่ก็มีความผิดแล้ว ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม

 ทั้งนี้ อัยการกำลังพิจารณาว่า

การร้องขอความเป็นธรรมในการสืบพยานรายใหม่ ที่ทนายความของสนธิอ้างว่าเป็นประเด็นใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในสำนวนมาก่อน จะเป็นประเด็นใหม่จริงหรือไม่ โดยจะใช้เวลาอีก 1 เดือนนับจากนี้ หากพบว่าไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่จะมีผลเปลี่ยนแปลงความเห็นเดิมของอัยการได้ สุดท้ายอัยการก็จะยืนยันคำสั่งฟ้องและนำตัวสนธิยื่นฟ้องศาลทันที


 ...สำหรับคดีของอริสมันต์นั้น เขาตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในความผิดในคดีความมั่นคงต่อรัฐ โดย "วีระ สมความคิด" ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน บก.ป.เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 ให้ดำเนินคดีกับอริสมันต์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 114 และ 116 กรณีขึ้นเวทีปราศรัยหน้ากองทัพบก วันที่ 29 มกราคม และลานน้ำพุงบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2553


 12 มีนาคม ปีเดียวกัน พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก.สั่งพนักงานสอบสวนนำหลักฐานไปขออนุมัติหมายจับจากศาลในคดีความมั่นคง โดยไม่มีการออกหมายเรียก !?!


 อีก 4 วันถัดมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีคำสั่งให้หน่วยงานที่มีข้อมูลของอริสมันต์ส่งเรื่องให้ บช.ภ.2 และ สภ.เมืองพัทยา ใช้ประกอบการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพัทยาถอนประกันในคดีพากลุ่มผู้ชุมนุมบุกโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมื่อครั้งประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อเดือนเมษายน 2552  


 แม้อริสมันต์และกลุ่มคนเสื้อแดงจะมองว่า
 
การถอนประกันไม่ถูกต้อง เพราะเขาไม่ได้ไปข่มขู่พยาน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่คิดหนี แต่ในสายตาของนักกฎหมายและอดีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอาญา กลับมองว่า เขามีพฤติกรรมท้าทายอำนาจศาลจริง


 "ผมติดตามคดีและรับฟังเหตุการณ์บ้านเมืองตลอด ได้โทรไปปรึกษากับผู้พิพากษาและอัยการ เป็นการพูดคุยส่วนตัว ทราบว่าคดีอริสมันต์บุกเวทีอาเซียนซัมมิตอยู่ในชั้นศาลแล้ว แต่ปรากฏว่าอริสมันต์ไม่เข็ดหลาบหรือเกรงกลัวกฎหมายเลย ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ มีการใช้คำพูดรุนแรงในหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วย อันนี้ผิดจริง" อดีตผู้พิพากษาให้ความเห็น
 
 อย่างไรก็ดี คดีนี้อัยการจังหวัดพัทยาได้รับหนังสือถอนประกันตัวชั่วคราวของแกนนำเสื้อแดงแล้ว และส่งเรื่องไปยังศาลจังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 5 เมษายนที่จะถึงนี้


 การปฏิบัติที่แตกต่างกันนี้เอง ที่ทำให้คนทั่วไปจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า เป็นการปฏิบัติสองมาตรฐานตามที่เสื้อแดงกล่าวหามาตลอดหรือไม่ ?!!


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์