พันธมิตรฯท้าพท.เชิญปฎิวัติมั่นใจปชป.กลัวม็อบเสื้อเหลืองขยับต้านแก้รธน.พรรคร่วมทวงถามข้อตกลงจากนายกฯ


พรรคร่วมทวงถามข้อตกลงมารยาทของพรรคประชาธิปัตย์จะให้ ส.ส.ฟรีโหวตในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหน็บคุมคนในพรรคไม่ได้ใครจะเชื่อถือ ชาติไทยฯให้เดินหน้าแก้ต่อ "สุริยะใส"ท้าพท.ถอนจากร่วมแก้รธน.สร้างเงื่อนไขเชิญปฏิวัติพร้อมระดมเสื้อเหลืองต้านเชื่อปชป.กลัวม็อบ

พรรคร่วมทวงถามข้อตกลง


พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ออกมาทวงถามข้อตกลงก่อนร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และถามถึงมารยาทของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีท่าทีว่าจะให้ ส.ส.ฟรีโหวตในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลัง ส.ส.ปชป.จำนวนหนึ่งจะไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาล


ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รองโฆษก ภท.ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ว่าการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้อิสระแก่ ส.ส.ปชป.นั้น โดยกฎหมายแล้วสามารถทำได้เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ ส.ส. ภท.เคารพการตัดสินใจของ ปชป. แต่เรื่องนี้ก็ต้องให้สังคมเป็นผู้พิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ หรือจะเป็นการผิดมารยาทหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะก่อนที่จะมีการร่วมรัฐบาลได้มีการตกลงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่รู้ว่าช่วงหลังๆ เกิดอะไรขึ้นกับ ปชป. แต่ ภท.คงไม่ก้าวล่วง ถือเป็นเรื่องภายในของ ปชป. แต่การโหวตของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคมีเสียง 1 เสียง ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ก็มี 1 เสียงเท่ากันทั้งหมด ดังนั้น ปชป.ก็ต้องยอมรับผลโหวตของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย


นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น ภท. กล่าวว่า ขณะที่ยังไม่ถึงช่วงเวลาที่จะมาพูดเรื่องการฟรีโหวตเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะจะต้องรอผลการประชามติก่อน และหากผลการประชามติออกมาว่า ประชาชนต้องการให้มีการแก้ไข ปชป.ก็จะต้องยอมรับ เพราะถือเป็นวิจารณญาณของประชาชน อย่างไรก็ตาม ภท.ยังคงเดินหน้าที่จะแก้รัฐธรรมนูญต่อไป เพราะถือเป็นมติของพรรค


เหน็บคุมไม่ได้ใครจะเชื่อถือ


นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษก ชทพ. กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.ปชป.บางส่วนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเรื่องภายในของ ปชป.ที่จะบริหารจัดการเอง โดยนายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรค จะต้องไปบริหารจัดการหรือไปพูดคุยกับคนในพรรคให้เข้าใจ เชื่อว่าข่าวที่ว่า ปชป.จะฟรีโหวตนั้น พรรคการเมืองใหญ่อย่าง ปชป.ต้องแสดงให้เห็นว่า พรรคมีอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งที่สุดแล้วการฟรีโหวตก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฟรีโหวตสะท้อนจนถูกมองว่า ปชป.ไม่มีเอกภาพ


"หากต่อไป ปชป.มีการตกลงกับพรรคการเมืองอื่น ถามว่าพรรคอื่นจะเชื่อถือได้อย่างไรว่า ข้อตกลงหรือคำมั่นสัญญาของหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคคือ ข้อตกลงของพรรค หากในพรรคกุมเสียงไม่ได้แล้วต่อไปพรรคจะเอามาตรฐานตรงไหนที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเชื่อถือได้ถ้าจะมีการเจรจาอีก แต่หากมองแง่ดีก็เป็นเรื่องที่ดีของประชาธิปไตย ซึ่งยังเชื่อว่า ปชป.จะคุยในเรื่องนี้กันได้ และขอให้กำลังใจนายกฯไปแก้ปัญหาในพรรค จึงมั่นว่านายกฯจะแก้ปัญหาได้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องการตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลได้" นายวัชระกล่าว


ชาติไทยฯให้เดินหน้าแก้ต่อ


นายวัชระกล่าวว่า จุดยืนของ ชทพ.ตอนนี้ยังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้จบที่การทำประชามติ หากท้ายที่สุดประชาชนไม่เห็นด้วย พรรคก็ไม่ดึงดัน ส่วนขั้นตอนการทำประชามติจะก่อนหรือหลังเข้าสภา พรรคไม่เกี่ยง เพราะจะทำขั้นตอนใดก็ได้ แต่ขอให้ยืนในหลักการว่า ต้องเสนอแก้ใน 6 ประเด็นแล้วให้ประชาชนตัดสินใจ


เมื่อถามว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ชทพ.มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่สำเร็จ นายวัชระกล่าวว่า จะสำเร็จหรือไม่นั้นไม่ว่า เพราะเป็นเรื่องอนาคต แต่ตอนนี้ต้องถามกลับพรรคร่วมรัฐบาลและทุกส่วนตั้งใจหรือถอดใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอเรียกร้องให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถึงขั้นสุดท้ายให้ได้เพื่อให้ประชาชนตัดสิน ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และจะไม่ร่วมกับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายนั้น ขณะนี้ต้องยึดหลัก 1.ต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป 2.หลังจากเดินหน้าต้องหาเสียงจากตรงไหนว่า ที่ พท.จะถอนตัวหรือไม่นั้น จะต้องคิดใน 2 กรณีข้างต้น และตอนนี้ยังหวังลึกๆ ว่าที่สุด พท.จะเดินเข้าสู่กระบวนการนี้

ส.ว.กลุ่มเก่าเล็งยื่นญัตติคู่ขนาน


นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี กล่าวว่า รัฐบาลคงไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว.ในกลุ่มจะยึดตาม 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯในการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรวมเสียงสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 5 หรือเข้าชื่อกัน 125 คน ร่วมกับทางสภาผู้แทนราษฎร ส่วนกรอบเวลาการยื่นญัตติดังกล่าวนั้น จะรอดูท่าทีของการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ก่อน แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทางกลุ่มก็จะยื่นญัตติหลังจากนั้นทันทีเพื่อคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ แต่การยื่นญัตติใหม่ครั้งนี้เสียงในการยื่นญัตติคงไม่มีปัญหา โดยจะมี ส.ว.ส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยในการยื่นญัตติประมาณ 30-40 คน ส่วน ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ก็คงจะเป็นกลุ่ม 40 ส.ว.เหมือนเดิม เพราะกลุ่มนี้มีมติว่าจะแก้อย่างไรก็ไม่สนใจ คิดอย่างเดียวว่าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ


ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ที่ ส.ส.และ ส.ว.จะไม่ถอนชื่อเหมือนครั้งก่อนทำให้การยื่นญัตติต้องล่ม นายประสิทธิ์กล่าวว่า ต้องคิดว่า 6 ประเด็นเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป คราวนี้คงไม่น่าจะล่มอีกเหมือนครั้งก่อน เมื่อถามว่า จำเป็นต้องทำประชามติหรือไม่หลังก่อนยื่นญัตติแก้ 6 ประเด็น นายประสิทธิ์กล่าวว่า ต้องถามว่าทำประชามติทำได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ เพราะสิ่งที่เกิดวันนี้มีการยกอะไรที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญมาอ้างตลอด ไม่ได้เป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ ส่วนจะทำเพื่อซื้อเวลาหรือไม่ก็ต้องคิดกันเอง


วิปวุฒิสภารอดูท่าทีอีก2ฝ่าย


พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิ และอดีตกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า กลุ่มของนายประสิทธิ์ที่จะยื่นญัตติก็เป็นสิทธิที่จะยื่นได้ ทางวิปวุฒิสภาคงไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะกลุ่มนี้อาจจะใจร้อนเพราะเห็นกระบวนการของวิป 3 ฝ่ายดูชักช้า ส่วนจะได้ใครร่วมลงชื่อบ้างก็ต้องรอดูก่อน และกลุ่มดังกล่าวก็อยากจะยื่นแก้ไขใน 6 ประเด็นเดียวกับของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯด้วย ส่วนวิป 3 ฝ่าย ก็เดินหน้าต่อถ้านายกฯยังต้องการ


พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึงการประชุมวิป 3 ฝ่าย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ว่าต้องดูร่างแก้ไขที่ทางสภาได้ร่างมาแล้วส่งให้นายกฯดำเนินการ แต่ไม่ทราบว่าจะเดินไปอย่างไรต่อ ส่วนที่วิปฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและจะถอนตัวจากวิป 3 ฝ่ายนั้น ก็ต้องรอดูท่าทีของวิปฝ่ายค้านอีกครั้ง


"40ส.ว."ขู่เคลื่อนไหวคัดค้าน


นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า การที่กลุ่ม ส.ว.จำนวนหนึ่งจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกเป็นครั้งที่ 3 นั้น หลังจาก 2 ครั้งแรก ร่วมมือกับพรรคพลังประชาชน และนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่สุดท้ายก็ถูกถอนชื่อออกไป แต่ครั้งนี้ขอท้าว่า ให้ยื่นญัตติให้สำเร็จ อย่ามีคนถอนชื่ออีกให้คาไว้ในสภาให้ได้ อีกทั้งการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม ส.ว.ครั้งนี้กระทำโดยไม่สนใจเสียงของประชาชน เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 ที่ได้ปฏิญาณตนก่อนรับตำแหน่งในสภาว่า จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ซึ่งเป็นการทำอะไรโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน


"หากจะให้มีการยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญก็ควรฟังเสียงประชาชนด้วย อาจจะเป็นในรูปแบบของประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ได้รับเสียงเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งผมเป็น 1 ใน 14 ล้านเสียงที่เห็นชอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยื่นญัตติจริงทางกลุ่ม 40 ส.ว.จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 และจะคัดค้านทุกรูปแบบอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะร่วมกับภาคประชาชนในการเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป" นายไพบูลย์กล่าว


"สุริยะใส"ซัดพท.เชิญปฏิวัติ


นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) และผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ พท.ถอนตัวจากการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การประกาศถอนตัวของ พท.เป็นการสร้างเงื่อนไขในการออกบัตรเชิญให้มีการทำรัฐประหาร และการที่ พท.เรียกร้องเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่เปิดช่องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาได้ ดังนั้น ทางเดียวที่จะนำกลับมาได้คือการทำรัฐประหาร โดย พท.อาจใช้สูตรเจรจากับคณะทหารบางกลุ่มเพื่อทำรัฐประหาร ซึ่งหากมีการรัฐประหารโดยนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับคืนมา พท.และคนเสื้อแดงจะออกมาคัดค้านอีกหรือไม่


"จะแก้หรือไม่แก้ก็เข้าทาง ปชป.หมด แต่พันธมิตรและ ก.ม.ม.ไม่ได้สนใจอยู่แล้วและไม่เข้าทางพันธมิตรด้วย เพราะพันธมิตรมีจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกแล้ว แต่เกมนี้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง"นายสุริยะใสกล่าว


พร้อมระดมเสื้อเหลืองต้าน


นายสุริยะใสกล่าวถึงเงื่อนไขที่จะทำให้พันธมิตรออกมาชุมนุมใหญ่ ว่าเมื่อญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาก็จำเป็นต้องเรียกชุมนุมใหญ่ แต่อาจจะไม่เรียกชุมนุมทันทีเพราะต้องประชุมเฉพาะแกนนำเพื่อกำหนดท่าทีก่อน ทั้งนี้ พันธมิตรไม่ได้หัวชนฝาในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากต้องการแก้ไขก็ต้องแก้เพื่อประโยชน์ประชาชน เพราะที่แก้ 6 ประเด็นเป็นไปเพื่อนักการเมือง ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็กลัวการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรเหมือนกัน


นายสุริยะใสกล่าวว่า ถ้าสุดท้าย ปชป.มีมติไม่แก้รัฐธรรมนูญ พรรคร่วมก็ต้องทำตาม เพราะอำนาจต่อรองสุดท้ายที่เด็ดขาดของนายกรัฐมนตรีคือ การยุบสภา ซึ่งขณะนี้พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทยพัฒนา ยังไม่พร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ตอนนี้ รวมทั้งงบประมาณจากไทยเข้มแข็ง 800,000 ล้านบาทก็ยังไม่ออก แต่ถ้าเป็นไตรมาสแรกของปี 2553 ที่งบประมาณเริ่มระบายออก พรรคต่างๆ ก็พร้อมที่เลือกตั้งใหม่ ฉะนั้น อำนาจเด็ดขาดจึงอยู่ที่นายกฯไม่ได้อยู่ที่พรรคร่วม


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์