เปิดรายงาน สตง.ชำแหละบ้านเอื้ออาทร มรดกบาปทักษิณ ทำการเคหะฯแบกหนี้อ่วม 80,000 ล้าน

เปิดรายงาน สตง.ชำแหละความล้มเหลวของโครงการบ้านเอื้ออาทร"มรดกบาป"จากนโยบายประชานิยมของ"ทักษิณ" ทำให้การเคหะต้องแบกหนี้อ่วมถึง 80,000 ล้านบาท

บ้านเอื้ออาทร หนึ่งในโครงการประชานิยมของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังกลายเป็น"มรดกบาป"ของการเคหะแห่งชาติ เพราะสร้างภาระหนี้สินจำนวนมหาศาลให้แก่รัฐวิสาหหกิจแห่งนี้หลายหมื่นล้านบาท

จนนายอิสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คนปัจจุบันที่ต้องรับ"มรดกบาป"ดังกล่าวบอกว่า โครงการบ้านเอื้ออาทรไม่ได้ตอบสนองประชาชนนที่อยากเข้าไปอยู่จริง แต่เป็นการตอบสนองต่อผู้รับเหมามากกว่า ทำให้โครงการเกิดความล้มเหลว มีโครงการที่สร้างมาแล้วไม่มีคนซื้อจำนวนมากซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติต้องแบกรับภาระหนี้สินจากโครงการบ้านเอื้ออาทรนี้ถึง 80,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังเสนอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณช่วยเหลืออยู่ ถ้าครม.อนุมัติก็จะทำให้การเคหะฯมีสภาพคล่องและสามารถดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อไปได้

นายอิสระ กล่าวว่า โครงการบ้านเอื้ออาทรนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1.สำหรับโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว 70 - 100 เปอร์เซนต์ ก็จะให้ดำเนินการต่อไป

2.โครงการที่ดำเนินการมาแล้ว 50 เปอร์เซนต์ จะให้ดูเป็นรายๆไปโดยจะต้องมีความชัดเจนว่า หากโครงการแล้วเสร็จแล้วจะมีคนเข้ามาเช่าซื้อโครงการแน่นอน ก็จะให้ดำเนินการต่อ แต่ถ้าไม่มีความชัดเจนก็จะให้ยุติทันที

และสุดท้ายคือโครงการที่ดำเนินการมาแล้วไม่ถึง 50 เปอร์เซนต์ ก็จะมีคำสั่งให้ระงับโครงการทั้งหมดไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการบ้านเอื้ออาทรพบว่า ต้องใช้เงินกู้ทั้งโครงการว่า 2200,000 ล้านบาทและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกว่า 50,000 ล้านบาทในการก่อสร้างโครงการ แต่ปรากฎว่า ล้มเหลวในทุกๆด้าน โดยเแพาะเรื่องรายชื่อผู้จองบ้านเป็นรายชื่อเทียม ผู้จองมิได้มีความต้องการบ้านอย่างแท้จริง จนเกิดปัญหาไม่สามารถขายบ้านได้ตามเป้าหมาย


ผลการตรวจสอบของ สตง.มีสาระสำคัญดังนี้

รัฐบาลได้มอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการ “บ้านเอื้ออาทร” ได้แก่ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ณ ปี 2546 – 2547 , ไม่เกิน 17,500  บาทต่อเดือน ณ ปี 2548 และไม่เกิน 22,000 บาทต่อเดือนณ ปี 2549 โดยมีกรอบเป้าหมายจำนวน 600,000 หน่วย

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลอุดหนุนต้นทุนค่าพัฒนาสาธารณูปโภควงเงิน 80,000 บาทต่อหน่วย และค่าก่อสร้างอาคารสาธารณูปการวงเงินประมาณ 5-10 ล้านบาทต่อโครงการ

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)จัดตั้งวงเงินหมุนเวียน (เงินเบิกเกินบัญชี) จำนวน 300 ล้านบาท ปัจจุบันเงินเบิกเกินบัญชีดังกล่าวได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ให้ขยายเป็น 780 ล้านบาทเพื่อให้การเคหะแห่งชาติรับซื้ออาคารคืนและนำกลับมาขายใหม่กรณีที่ผู้ซื้อขาดการผ่อนชำระติดต่อกัน3 เดือน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยและมีแนวทางการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนี้

1. การจัดทำโครงการในที่ดินกรรมสิทธิ์ของการเคหะแห่งชาติ

2. การจัดทำโครงการในที่ดินของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ

3. การรับซื้ออาคารที่สร้างแล้วเสร็จคงเหลือในตลาด

4. การจัดทำโครงการในที่ดินที่ซื้อจากเอกชน

5. การร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน

ผลการตรวจสอบ

การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการบ้านเอื้ออาทรนำเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี และนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติให้การเคหะแห่งชาติจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งสิ้น 5 ระยะ จำนวนรวม 601,727 หน่วย กรอบวงเงินลงทุนจำนวน 273,209.125 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุนจำนวน 50,715.926 ล้านบาท และเงินกู้จำนวน 222,493.199ล้านบาท

ผลการดำเนินงาน ณ เดือนเมษายน 2550 โครงการมีสัญญาจ้างแล้วรวม 342 โครงการ จำนวน397,152 หน่วย โดยมีสถานภาพของโครงการ ดังนี้


ข้อตรวจพบที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. การจัดหาที่อยู่อาศัยไม่เป็นไปตามเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่กำหนด

1.1 อาคารที่อยู่อาศัยเริ่มก่อสร้าง ตามกรอบแผนของโครงการกำหนดเป้าหมายจำนวนอาคารที่อยู่อาศัยที่เริ่มก่อสร้าง (Housing Start) ปีงบประมาณ 2546 - 2549 จำนวน 422,246หน่วย

จากการตรวจสอบ ณ เดือนเมษายน 2550 การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่เริ่มก่อสร้างได้จริง 396,653 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 93.94 ของเป้าหมายตามแผนกำหนด แต่เริ่มดำเนินการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนกำหนด โดยมีอาคารที่อยู่อาศัยที่เริ่มก่อสร้างภายในกำหนดระยะเวลาตามแผนจำนวน 255,323 หน่วย และมีอาคารที่อยู่อาศัยที่เริ่มก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนจำนวน 141,330 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 64.37 และ 35.63 ตามลำดับ

1.2 อาคารที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ตามกรอบแผนของโครงการกำหนดเป้าหมายอาคารที่อยู่อาศัยที่เริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2546 – 2548 ควรก่อสร้างแล้วเสร็จ ณ เดือนเมษายน 2550 จำนวน 178,246 หน่วย
 
จากการตรวจสอบ การเคหะแห่งชาติมีผลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร อาคารที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จเพียง 64,737 หน่วย และต่ำกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนถึง 113,406 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 63.62 ของเป้าหมายตามแผนกำหนด

สำหรับอาคารที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 65 โครงการจำนวน 64,737 หน่วย ปรากฏว่า ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด 47 โครงการ จำนวน 53,516หน่วย ที่เหลือ 18 โครงการ จำนวน 11,221 หน่วย ก่อสร้างแล้วเสร็จล่าช้ากว่าแผนกำหนด คิดเป็นร้อยละ 17.33 ของหน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

1.3 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ณ เดือนเมษายน 2550 มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างรวม 276 โครงการ จำนวน 331,916 หน่วย โดยมีโครงการที่มีผลงานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานก่อสร้างมากถึง 230 โครงการ จำนวน 270,982 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 81.64 ของหน่วยที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทั้งหมด
 
ในจำนวนนี้มีโครงการที่มีผลงานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานก่อสร้างตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไปมากถึง 153 โครงการ จำนวน 179,672 หน่วย และที่เหลือ 77 โครงการ จำนวน 91,310 หน่วย มีผลงานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานก่อสร้างต่ำกว่าร้อยละ 20 คิดเป็นร้อยละ 66.30 และ 33.70 ของหน่วยที่มีผลงานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานก่อสร้างทั้งหมด ตามลำดับ

ในการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด  หากจำแนกตามแนวทางการดำเนินโครงการ พบว่า เป็นโครงการร่วมดำเนินการกับภาคเอกชนมากที่สุด ประกอบด้วย การรับซื้อโดยจัดสรรหน่วยดำเนินการ 129 โครงการ จำนวน 179,022 หน่วย การรับซื้อรายโครงการ 50 โครงการจำนวน 55,409 หน่วย และการจ้างก่อสร้าง 51 โครงการ จำนวน 36,551 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 66.0620.45 และ 13.49 ของหน่วยที่ก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงานก่อสร้าง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่เป็นไปตามเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่กำหนด เนื่องจากการดำเนินการจ้างก่อสร้างไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด การดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดทำโครงการใช้เวลานาน การจัดจ้างโดยวิธีพิเศษไม่กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาต้องมีผลงานมาก่อน
 
การกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่เสนอโครงการให้การเคหะแห่งชาติรับซื้อโครงการไม่ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเสนอผลงานที่ผ่านมา ทำให้ได้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไม่เพียงพอเข้ามาดำเนินการ จึงไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการทำให้การดำเนินการก่อสร้างล่าช้า และการที่โครงการใช้เวลาก่อสร้างนานทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากราคาวัสดุและค่าแรงงานที่ปรับตามราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

 นอกจากนี้ทุนจดทะเบียนที่การเคหะแห่งชาติกำหนดไม่สอดคล้องกับมูลค่าโครงการที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งขนาดของโครงการมีจำนวนหน่วยก่อสร้างมากส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีผลทำให้อาคารที่อยู่อาศัยที่เริ่มก่อสร้างดำเนินการได้ล่าช้ากว่ากำหนด อาคารที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมีจำนวนต่ำกว่าเป้าหมายตามแผนกำหนดและโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีผลงานก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนงานก่อสร้างจำนวนมาก

2. การบริหารการขายไม่มีประสิทธิภาพ
 
2.1 ไม่สามารถดำเนินการจัดทำสัญญาจะซื้อจะขายได้เต็มจำนวนหน่วยก่อสร้าง ณเดือนเมษายน 2550 โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมีผู้ได้สิทธิ์มาทำสัญญาจะซื้อจะขาย 56,257 หน่วย ต่ำกว่าโครงการบ้านเอื้ออาทรอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 12,874 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 18.62 ของหน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยโครงการในภูมิภาคมีสัดส่วนของอาคารที่ยังไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายสูงสุด และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีผู้ได้สิทธิ์มาทำสัญญาจะซื้อจะขาย 140,783 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 42.42 ต่ำกว่าหน่วยก่อสร้างจริง จำนวน191,133 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 57.58 โดยโครงการในกรุงเทพมหานครมีสัดส่วนของอาคารที่ยังไม่มีสัญญาจะซื้อจะขายสูงสุด

2.2 ไม่สามารถส่งมอบอาคารที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จให้ผู้ได้สิทธิ์ได้ครบทั้งหมด ณ เดือนเมษายน 2550 มีอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ (รวม NPA) จำนวน 69,131 หน่วย แต่สามารถส่งมอบให้ผู้ได้สิทธิ์ได้เพียง 38,100 หน่วย และมีอาคารคงเหลือ 31,031 หน่วย คิดเป็นร้อยละ55.11 และ 44.89 ของหน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด โดยโครงการในส่วนภูมิภาคมีสัดส่วนของอาคารคงเหลือสูงสุด

2.3 มีอาคารซื้อคืนที่รอการนำออกขายใหม่ ณ เดือนเมษายน 2550 มีอาคารคงเหลือหลังจากได้ซื้อคืนขายใหม่แล้วทั้งสิ้น 550 หน่วย โดยได้ซื้ออาคารคืนมารวมทั้งสิ้น 893 หน่วย แต่นำออกขายใหม่ได้เพียง 343 หน่วย ซึ่งอาคารซื้อคืนคงเหลือเป็นของพื้นที่ปริมณฑลมากที่สุด

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การบริหารการขายไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้มีอาคารที่อยู่อาศัยคงเหลือสะสมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการดำเนินโครงการโดยการรับซื้อโครงการกำหนดให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ดำเนินการให้ประชาชนจองสิทธิ์โครงการล่วงหน้า ทำให้เกิดผู้จองเทียม ซึ่งมีผู้จองส่วนหนึ่งไม่ได้มีความต้องการบ้านในโครงการอย่างแท้จริง

อีกส่วนหนึ่งมาจากจำนวนผู้ลงทะเบียนคนจน ซึ่งกลุ่มผู้ลงทะเบียนคนจนเหล่านี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เป็นการให้เปล่า การดำเนินการก่อสร้างโครงการกระจุกตัวจำนวนมาก

ในบางพื้นที่ทำให้เกิดภาวะอุปทานเกินกว่าความต้องการ ผู้ได้สิทธิ์ (ผู้จะซื้อ) มีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขของธนาคาร ผู้ซื้อโครงการบ้านเอื้ออาทรไม่สามารถรับภาระอัตราผ่อนชำระที่เพิ่มขึ้น และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้อยู่อาศัยและครอบครัวได้มีรายได้เสริมนอกเหนือจากรายได้ประจำยังดำเนินการไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

อนึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ให้การเคหะแห่งชาติปรับลดจำนวนหน่วยก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเหลือ 300,504 หน่วย เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องการก่อสร้างและปัญหาด้านการเงิน

ข้อเสนอแนะ

เพื่อให้การดำเนินงานโครงการบ้านเอื้ออาทรสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และมิให้เป็นภาระทางการเงินของการเคหะแห่งชาติ ให้ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้


โครงการบ้านเอื้ออาทร

 
1. ศึกษาแนวทางเพื่อให้สถาบันการเงินจัดสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ ให้ผู้ซื้อสามารถรับภาระอัตราผ่อนชำระได้ ประมาณ 1,500  – 1,800  บาทต่อเดือน โดยให้รัฐจัดสรรเงินอุดหนุนส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินเป็นรายปีตามจำนวนผู้ซื้อที่ขอรับสินเชื่อ

2. โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีผู้เช่าซื้อไม่เต็มโครงการ พิจารณาให้มีแผนปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

3. นำเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อรายย่อยของธนาคารมาปรับใช้ในการพิจารณาคุณสมบัติผู้จองเบื้องต้น เพื่อช่วยป้องกันปัญหาผู้ได้สิทธิ์ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร

4. ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จทุกพื้นที่โครงการ แต่เนื่องจากต้นทุนมาตรฐานของโครงการบ้านเอื้ออาทรไม่มีงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่งบประมาณที่การเคหะแห่งชาติได้รับตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่สามารถนำไปดำเนินการในพื้นที่ภูมิภาคได้ ซึ่งเป็นภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพ.รงบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542
 
ดังนั้นการเคหะแห่งชาติจึงควรประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำแผนงาน โครงการฝึกอบรมเสริมสร้างอาชีพให้กับชุมชน

5. ที่ดินคงเหลือจากการชะลอหรือยกเลิกโครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นกรรมสิทธิ์ของการเคหะแห่งชาติ ควรดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดทำโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

6. ปรับปรุงฐานข้อมูลผู้จองสิทธิ์โครงการบ้านเอื้ออาทรให้มีสถานภาพเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความเป็นจริง
 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์