สุรพงษ์ กล่าวหา มาร์ค-กรณ์ โต้ส่งเอสเอ็มเอสรับตำแหน่งนายกฯ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวในการการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มี.ค.  เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการโหวตจากสภาฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ(เอสเอ็มเอส) ให้ลูกค้าบริษัทมือถือทั้ง 3 แห่ง โดยได้มีโทรศัพท์จากบุคคลหนึ่งติดต่อไปยัง 3 บริษัทมือถือ ประกอบด้วยบริษัทเอไอเอส, ดีแทค และทรูมูฟ ขอความร่วมมือส่งข้อความจากนายอภิสิทธิ์ มาถึงเช้าวันที่ 16 ธันวาคม 2551 เวลา 08.00 น. นายจิรายุ ดุลยานนท์ นักวิชาการคณะทำงานผู้นำฝ่ายค้าน เชิญผู้บริหารทั้ง 3 บริษัทเข้าประชุมที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ โดยมีนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โผล่ร่วมด้วย และได้รับทราบว่าการส่งเอสเอ็มเอสนั้น ผู้รับต้องมีความประสงค์รับ รวมทั้งการส่งมีค่าใช้จ่ายครั้งละ 1 บาท นายจิรายุจึงได้ขอร้องให้ทั้ง 3 บริษัทส่งเอสเอ็มเอส นายกรณ์ได้แจ้งว่าจะส่งจดหมายขอความร่วมมือให้ภายหลัง หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ประชาชนได้ร้องเรียนไปยังบริษัทมือถือทั้ง 3 แห่ง ทำให้จากเดิมที่ต้องส่งเอสเอ็มเอส 50 ล้านเลขหมาย เหลือเพียงแค่ 5 ล้านเลขหมาย


เหตุการณ์ดังกล่าว ตั้งข้อกล่าวหา 7 ประเด็น ประกอบด้วย

1.ใช้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ 2.เรียกร้องรับผิดประโยชน์เกิน 3,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)กำหนดไว้ 3.ละเมิดสิทธิคนใช้มือถือ 4.ร่วมกันนำข้อมูลส่วนบุคคลให้บริษัทเอกชนทั้งที่ไม่ได้รับการยินยอม 5.ร่วมกับบริษัทเอกชนสมรู้ร่วมคิด หลีกเลี่ยงไม่ชำระภาษีเข้ารัฐ 6.ทำให้รัฐขาดรายได้ส่วนแบ่งจากสัมปทานมือถือ และ 7.ฉ้อโกงหรือฉ้อฉลเอกชนบริษัทมือถือทั้ง 3 บริษัท โดยไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลง


นอกจากนี้ ส่งรหัสไปรษณีย์ 5 หลักกลับมาให้บริษัทมือถือ ซึ่งจะทำให้รู้ได้ว่าผู้ส่งรหัสไปรษณีย์กลับมานั้นอยู่พื้นที่ใดในประเทศไทย อดคิดไม่ได้ ว่านายกฯ หวังตรวจสอบความนิยมในตัวเองและพรรคประชาธิปัตย์

 
เวลาประมาณ 16.08 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบการอภิปรายว่า คงไม่มีใครปฎิเสธว่าเหตุการณ์บ้านเมืองตอนนี้มีความแตกแยกสูงมากและสิ่งที่เป็นความชอบธรรมของประชาชนคือใครก็แล้วแต่ที่เป็นรัฐบาลต้องสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ ซึ่งคิดว่าจะทำอย่างไรถึงเข้าถึงประชาชนมากที่สุดและได้ปรึกษาหารือกับนายกรณ์ จาติกวนิช และทีมงานของตน ซึ่งการดำเนินการต่างๆ นั้นต้องเป็นไปในทางกฎหมาย ทั้งในประเด็นการครอบคลุมประโยชน์ต่อประชาชนรวมทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ

"ผมได้กำชับว่าหากมีการขอความร่วมมือนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องไม่มีผลประโยชน์ในเรื่องของการเงิน ขณะเดียวกันสิ่งที่ผมต้องการสื่อสารไม่ใช้ผลประโยชน์ อย่างที่ผมทำรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายก อภิสิทธิ์ นั้นผมไม่เคยนำเหตุการณ์ทางการเมืองมาพูดอย่างนายาคนเก่า ในลักษณะชี้นำ ซึ่งผมจะพูดในเรื่องความมั่นคงของประเทศและไม่มีการตอบโต้ทางการเมือง และประเด็นสำคัญที่ผมจะกล่าวในเรื่องSMSที่ผ่านโทรศัพท์  เป็นแค่อยากให้เกิดความสามัคคีและเชิญประชาชนมามีส่วนร่วมในการแก้ไขประเทศ แล้วทำไมต้องขอเป็นรหัสไปรษณีย์ สำหรับเรื่องนี้เราจะใช้รหัสตรงนี้เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ภาครัฐ  และมอบให้นายกรณ์กับผู้เกี่ยวข้องดูแลประเด็นนี้ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย และพี่น้องประชาชนที่ไม่ชอบในการส่ง SMS และผู้ที่ต้องการร้องเรียนก็ขอเป็นกระบวนการทางกฎหมายและต้องขอโทษพี่น้องประชาชนที่คิดว่าละเมิดสิทธิด้วย"

เมื่อเวลาประมาณ 16.15 น.  นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจง ว่า ขอใช้สิทธิ์พาดพิง โดยข้อมูลที่ 2 ผู้อภิปรายนำเสนอนั้น ตรงกับความเป็นจริงบ้าง คลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก

แต่ตนเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องสร้างบรรยากาศว่าเป็นเรื่องลับที่ต้องล้วง เพราะทั้งหมดนั้นไม่เคยปฏิเสธ ส่วนเรื่องนายจิรายุ ตุลยานนท์ ก็เป็นผู้ที่ทำงานให้นายกฯกับตน ยอมรับว่าเป็นผู้ใกล้ชิดจริง ในส่วนอีเมล์ที่นำเสนอ ระหว่าง "โจอี้" (จิรายุ ตุลยานนท์) กับคนอื่น ที่ไปค้นอีเมลก็ถือว่าละเมิดสิทธิ์เขาด้วย แต่ไม่อยากพูดเพราะไม่ใช่เรื่องของตน ทั้งนี้ ควรอ่านว่า ผู้ได้รับอีเมล เขาตอบ"โจอี้"มาว่าอย่างไร เพราะจะได้เข้าใจบริบทในการสนทนา ส่วนบรรยากาศทางการเมืองในวันนั้นมีการแตกแยก 3 วาระ 1.แก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2.แก้ปัญหาความมั่นคง 3.แก้ความแตกแยกในสังคม นี่คือเหตุผลที่พยายามคิดหาทางแก้ปัญหาความแตกแยกทางสังคม โดยการสื่อสารกับผู้นำประเทศทุกหมู่เหล่า โดยสื่อที่แพร่หลายก็มี 3 ชนิด ประกอบด้วย สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อมือถือ


"2 อย่างนั้น ต้องใช้งบประมาณและต้องใช้เวลาการเตรียมการทั้งที่เป็นวาระเร่งด่วน จึงตัดสินใจใช้การสื่อสารโดยโทรศัพท์ และเริ่มเชิญมาที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ จากการพูดคุยกัน ก็มีการส่งอีเมล์ ผู้ได้รับอีเมล์มา แปลได้ว่า ขอบคุณที่นัดหมายเช้านี้ ดีใจที่ได้รับฟังข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์เป็นข้อเท็จจริงของผู้ประกอบการในวันนั้น ไม่มีว่า ผมได้ให้คำมั่นสัญญา" นายกรณ์ กล่าวและว่า

ญัตติที่ยื่นถอดถอนตนในเรื่องเอสเอ็มเอส ก็คาดเคลื่อน บอกว่าทำประโยชน์ให้นายกฯและตน โดนตนใช้ตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งที่ขณะนั้นเป็นเพียง ส.ส.เป็นรมว.คลังเงา ไม่เกี่ยวข้อง ส่วนการใช้อำนาจบังคับผู้ประกอบการนั้น ยืนยันว่าทำโดยความสมัครใจ เพราะอีก 1 บริษัทที่เจรจาไว้แต่ไม่ตกลง คือ บ.ฮัทชิสัน ซึ่งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดและ กสท คือ บริษัทที่มีรองปลัดกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ จึงชี้ให้เห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้บังคับแต่อย่างใด ส่วนเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน โดยเฉพาะทรู เพราะเป็นบริษัทเดียวที่ส่งเสียงกลับมา หรือไอดีอาร์ได้ แต่ขอชี้แจงว่าบริษัทอื่น ก็มีประสิทธิภาพส่งได้ จึงถือเป็นเรื่องของการบริการ การกระทำไม่ใช่เชิงพาณิชย์ การเอื้อต่อบริษัทเอกชนนั้น ถือว่าไม่มีมูล


เบอร์โทรศัพท์ทุกบริษัทสามารถเข้าไปดูได้ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ การโอนเบอร์ไปอีกบริษัทไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลลับ

ส่วนที่ระบุว่าเข้าใจว่ามีการส่งออก 30 ล้านเบอร์นั้น สุดท้ายแล้วข้อความสั้นมีทั้งหมด 17 ล้านเบอร์ มีการส่งกลับประมาณ 340,000 ครั้ง เปรียบเทียบกับต้นทุน 3 บริษัท ผู้ประกอบการเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับกับต้นทุน เขาไม่ได้กำไรที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐบาล เป็นการประเมินในแง่ความคุ้มค่าของสังคม ส่วนเรื่องภาษี ไม่ได้มีการละเว้น โดยได้ยื่นไปแล้ว รวมถึงรายได้ที่ได้รับในการส่งเอสเอ็มเอสด้วย สำหรับภาษีนิติบุคคลอยู่ในส่วนของการยื่นแบบ จึงถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง


มี 4 กฎหมายที่อ้างว่าผิดนั้น ชี้แจงว่าข้อความเป็นการขอความร่วมมือ ไม่เห็นจะเป็นประโยชน์ส่วนบุคคลที่ไม่ว่า นายกฯหรือตนได้รับ

เรื่องการฝ่าฝืนละเมิดสิทธิ์นั้น การส่งข้อความเป็นการส่งไปที่เบอร์ที่ยินยอมรับข้อความ โดยวันที่เราพิจารณาโครงการนี้ ตนคิดและรู้สึกเกรงใจ เพราะทราบว่าไม่ใช่ทุกคนที่นิยมนายกฯคนใหม่ แต่มองเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับ และเป็นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าประชาชนไม่อยากมีส่วนร่วมก็ไม่จำเป็นต้องตอบกลับ ส่วนการละเว้นปฏิบัติหน้าที่นั้น ก็ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว


"ผมอาจจะขอความร่วมมือบริษัทมือถือจริง แต่ไม่มีส่วนร่วมในการแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์โทรศัพท์แต่อย่างใด"

 
เมื่อเวลา 16.27 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ถามต่อว่าแล้วเรื่องค่าใช้จ่ายราว 17 ล้านบาท ได้จ่ายให้แก่เอกชนหรือไม่ หรือเป็นความเผลอเลอที่ดีใจเกินเหตุที่ล้มพวกผมได้

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอบว่า เรื่องจ่ายเงินหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการขอความร่วมมือ ซึ่งเอกชนเห็นว่าน่าจะเกิดประโยชน์ โดย 3 บริษัทได้เห็นพ้องว่าสังคมจะได้ประโยชน์ ทำในลักษณะเพื่อสาธารณะประโยชน์โดยหวังว่าจน่าจะได้ผลตอบแทนจากการตอบกลับในครั้งละ 3 บาท ซึ่งรายได้คงไม่เยอะ
 
"ครับ ไม่ได้จ่าย แต่เป็นการขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชน เสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม แต่ผมผิดหวังในความใจแคบ ทั้งนี้ การใช้มือถือนั้นเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประชาธิปไตยสูงสุด เพราะไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือชาวนาก็สามารถเข้าถึงได้ ในสิงคโปร์ก็มีการส่งข้อความเหล่านี้ เพื่อใช้ในการประกาศตามหาคนหรือเด็ก หรือแม้แต่ในฮาวายก็ใช้ในการเตือนภัยพิบัติอย่างสึนามิ"


หากยื่นต่อป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบก็ดีใจ เพื่อที่จะได้ชัดเจนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำได้ทำตามกฎกติการหรือไม่ และสังคมจะได้ประโยชน์หรือไม่

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์