ทหารเก่า ไม่เคยตาย

มติชน

บทความพิเศษ

"ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ที่หลุดออกจากปากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แม้จะไม่มีการระบุถึง "บุคคลใด" อย่างชัดเจน

แต่ส่งผลสะเทือน "ทางการเมือง" อย่างแน่นอน


เป็นผลทางการเมือง ที่แม้จะไม่แสดงออกอย่างโฉ่งฉ่าง ตึงตัง เหมือนอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณแสดง

แต่ก็มีสัญญาณทื่ชัดเจนถึง "ปฏิกิริยาตอบโต้กลับ" ที่เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว

เป็นการปรากฏให้เห็น ผ่านกระบวนการที่ลึกซึ้ง แยบคาย

มี "ขั้นตอน" และ "เป้าหมาย" ที่ไม่ธรรมดา

ตลอด 5-6 ปี แห่งเถลิงอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น มีการมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ยื่นมือเข้าไปมีอิทธิพลในทุกสถาบัน ไม่เว้นแต่กองทัพ โดยมีเตรียมทหารรุ่น 10 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหอกทะลวงเข้าไป

ซึ่งหาก พ.ต.ท.ทักษิณไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน เชื่อว่าการโยกย้ายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ "ความเบ็ดเสร็จ" ในกองทัพน่าจะอยู่ในอุ้งมือของ พ.ต.ท.ทักษิณ

แต่กระนั้น ถึงจะไม่บรรลุ "เป้าหมาย" แต่ก็มีการมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้สร้างฐานอำนาจของตนเองไว้ในกองทัพสูงมากทีเดียว

สูงจนถึงขนาดที่มีการลือทำนองว่า อาจมีการขอให้ใครช่วยปฏิวัติเพื่อรักษาบัลลังก์อำนาจของตนเองเลยทีเดียว

เมื่อการเมืองก้าวไปสู่ความขัดแย้งในระดับ "กูไม่กลัวมึง"

ภาพของกองทัพจะยืนอยู่เคียงข้างใครจึงเป็นสิ่งที่ได้รับการจับตามอง

หลังการประกาศสงครามกับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เราก็เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เป็นการเคลื่อนไหวที่ในระยะหลังๆ เรามักจะไม่ค่อยเห็น นั่นคือภาพ พล.อ.เปรมสวมหมวกเบเร่ต์สีนำเงินเข้มออกดำ พร้อมชุดเครื่องแบบทหารม้า ไปปฏิบัติภารกิจที่ค่ายติณสูลานนท์ และ มทบ.23 จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม

ท่ามกลางการต้อนรับอันอบอุ่นของเหล่าทหารม้า

ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ก็ตาม แต่การขับเน้นตนเองต่อที่สาธารณะในรูปแบบ "ทหารม้า" ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติชัดแจ้งถึง "ความเป็นพี่เป็นน้อง" "ความเป็นปึกแผ่น" ของเหล่าทหารม้า นั้นย่อมมีความหมายอย่างแน่นอน

อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นการบอกว่าแม้ พล.อ.เปรมจะไปรับหน้าที่ประธานองคมนตรี แต่สิ่งที่ยังดำรงอยู่ตลอดชีวิตก็คือ ทหาร

ความเป็นพี่เป็นน้องของ "ทหารม้า" ยังคงเหนียวแน่น

เป็นความเหนียวแน่นแบบ "the old soldier never die"

นั่นคือ เมื่อเป็นทหารครั้งหนึ่งแล้ว จะต้องเป็นทหารไปตลอดชีวิต ไม่ใช่ว่าเกษียณแล้วเลิกเป็นหรือลาออกแล้วเลิกเป็น เพราะคนที่เป็นทหารต้องเป็นทหารด้วยเลือดเนื้อ วิญญาณ จิตใจ ทุกอย่างอยู่ในสายเลือด ดังนั้น เมื่อเราเป็นทหารครั้งหนึ่งเราต้องเป็นทหารไปจนตาย

ซึ่งนี่อาจจะเป็น "ปฐมบท" ของใครบางคนที่พยายามส่งสัญญาณไปยัง "ใครอีกบางคน" ให้ตระหนักว่า ความเป็นพวกเป็นพ้อง ต้องพิสูจน์กันระยะยาว ไม่ใช่มาสร้างอำนาจภายใน 5-6 ปี แล้วคิดว่ากองทัพจะเป็นของตนเอง


อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา คือเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เราก็ได้สัมผัส "สัญญาณการตอบโต้" ไปยังฝ่ายตรงข้ามที่ชัดเจนขึ้น

เมื่อ พล.อ.เปรมใช้เวทีของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ขยายปมความเป็น "ทหารเก่าไม่เคยตาย" กล่าวปาฐกถา ผ่านลูกๆ หลานๆ นักเรียนนายร้อยปีที่ 1-4 อย่าง "ตั้งใจ" เป็นพิเศษ

ซึ่งแม้ พล.อ.เปรมจะออกตัวว่า ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ใครหรือฝ่ายไหนก็ตาม

แต่เนื้อหาที่ พล.อ.เปรมพูด ก็ดูจะเจาะไปยัง "เป้าหมาย" ที่ไม่ใช่เพียงนักเรียนนายร้อย 950 คน ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมวันนั้นอย่างชัดเจน

พล.อ.เปรมเน้นไปยังบุญคุณของโรงเรียนนายร้อย จปร. ที่สอนให้รู้จักว่าเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน

โดยเจาะจงลงไปอีกว่า "ถ้าเราไปเปิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ใช้ในฉบับปัจจุบัน เขากำหนดหน้าที่คนไทยไว้ แต่ไม่มีคำนี้หรอก ไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า คนไทยเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน ไม่มี แต่เราต้องมี"

"แม้คำนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ แต่เราต้องทำ ต้องรู้ว่าเราเกิดมา เราต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตอบแทนอย่างไรเป็นเรื่องยากจะอธิบาย แต่สรุปได้ว่า เราต้องเป็นคนดี เพราะคนดีถึงจะคิดดี พูดดี ทำดี การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน คนดีเท่านั้นถึงจะทำ ถ้าคนไม่ดีคิดไม่ถึงหรอก"

คำที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ว่านี้ หากไปถาม พล.อ.เปรม ว่าจะเกี่ยวเนื่อง หรือกระทบชิ่งไปถึงผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญหรือไม่ แน่นอน พล.อ.เปรมคงปฏิเสธ หรือไม่ก็คงอมยิ้ม หรือไม่ก็คงบอก "กลับบ้านเถอะลูก"

แต่ใครที่ฟังแล้ว เชื่อว่า คงต้องคิดไปถึงคนที่พยายามบอกว่าทำตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง แต่อาจจะลืมเรื่องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่ง พล.อ.เปรมบอกว่า "คนดีเท่านั้นถึงจะทำ ถ้าคนไม่ดีคิดไม่ถึงหรอก"!

ไม่เพียงเรื่อง คำที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญเท่านั้น

พล.อ.เปรมยังได้ตอกย้ำกับเหล่านักเรียนนายร้อยซึ่งเป็นอนาคตของกองทัพว่า อยากให้ได้ยินและเข้าใจว่า ทหารเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับตั้งใจยกตัวอย่างของ "ทหารม้า" มาอธิบายให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่า

"ทหารม้าจะรู้เรื่องม้าดี เรื่องการแข่งม้า ม้าจะมีคอก มีเจ้าของคอก เวลาจะไปแข่งเขาก็ไปเอาเด็กที่เรียกว่าจ๊อกกี้ หรือเด็กขี่ม้าไปจ้างให้เขามาขี่ม้า เขาก็จะขี่ม้า พอเสร็จจากการขี่ม้า เขาก็กลับไปทำงานอย่างอื่น เขาไม่ได้เป็นเจ้าของม้าหรอก เขาเป็นคนขี่"

"รัฐบาลก็เหมือนกับจ๊อกกี้ คือ เข้ามาดูแลทหาร แต่ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแลกำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา"

"เรื่องนี้จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกันให้เห็น ให้ถ่องแท้ว่าทหารอยู่ตรงไหน รัฐบาลอยู่ตรงไหน เจ้าของทหารอยู่ตรงไหน ที่ยกมาพูดไม่ได้ต้องการให้พวกเราเข้าใจไขว้เขว หรือรู้สึกไม่ดีต่อรัฐบาล ผมก็เคยเป็นรัฐบาลมา เพียงแต่ต้องการให้แยกแยะให้ออก ไม่ใช่โต้เถียงหรือไม่ใช่ดื้อดึง แต่อยากให้เข้าใจว่าเราอยู่ตรงไหน"

"เราต้องถือว่าเราเป็นทหารของชาติ รัฐบาลเข้ามาแล้วก็ไป"

จากคำพูดของ พล.อ.เปรม นี้เอง ได้กลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่ที่สื่อมวลชนนำไปพาดหัวไปในรุ่งขึ้นทันที

เพราะแม้ พล.อ.เปรมจะออกตัว ว่าที่พูดไม่ได้ต้องการให้รู้สึกไม่ดีต่อรัฐบาล แต่ก่อนหน้าที่ พล.อ.เปรมจะพูดเรื่องนี้เพียง 1 วัน ก็มีข่าวแพร่สะพัดออกมาจากกองทัพทำนองว่า พ.ต.ท.ทักษิณกำลังมีแนวคิดที่จะโยก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ไปเป็นผู้บัญชาการทหารสุงสุด เพื่อเปิดทางให้เตรียมทหารรุ่น 10 ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพบกแทน อันจะทำให้อำนาจกองทัพอยู่ในมือของ พ.ต.ท.ทักษิณมากยิ่งขึ้น และไม่เหินห่าง เหมือนอย่างที่ พล.อ.สนธิพยายามทิ้ง "ระยะ" ระหว่างกองทัพกับการเมือง อย่างเช่นที่ผ่านมา

การที่ พล.อ.เปรมมาพูดในทำนองว่า กองทัพเป็นของชาติ เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่รัฐบาลมาแล้วก็ไปและมีฐานะเพียงแค่จ๊อกกี้ ไม่ใช่เจ้าของคอกนั้น ก็เหมือนการตีกัน ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงกองทัพ

ขณะเดียวกัน คำพูดของ พล.อ.เปรม ก็คงไม่ได้ต้องการบอกแค่นักเรียนนายร้อย หากแต่น่าจะส่ง "นัยยะ" ไปยังคนในกองทัพและอาจรวมถึง "ข้าราชการ" ทั้งหลาย ให้ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง

นั่นคือมีภาระผูกพันกับชาติและพระมหากษัตริย์ มากกว่า "ฝ่ายการเมือง"

ท่าทีของ พล.อ.เปรม เช่นนี้ ยากที่จะตีความว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้

เพราะเจาะจงลงไปยัง "ประเด็น" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณพยายามจุดขึ้นมาโดยตรง

ซึ่งตรงนี้ อาจจะเป็นความพอใจของ พ.ต.ท.ทักษิณในระดับหนึ่งก็ได้ นั่นคือหลังจากพยายามสร้างความกำกวมขึ้นมาให้สังคมกังขาว่า "ใคร" คือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ที่พยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองจนเกิดปัญหาแก่รัฐบาลของตนเองขึ้นมา

และเมื่อ พล.อ.เปรมได้ค่อยๆ ออกมาเหมือนการ "ตอบรับ" ข้อกล่าวหานี้

ก็เหมือนกับเป็นการยืนยันว่าข้อกล่าวหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจริงและปริศนาค่อยๆ เผยตัวออกมาแล้ว


แต่กระนั้น ที่น่าพิจารณาก็คือ "ปริศนาที่คลายตัว" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณพึงใจนั้น จะเป็นผลดีแก่ พ.ต.ท.ทักษิณมากน้อยเพียงใด

เพราะต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่ พล.อ.เปรมแสดงออกมาตอนนี้ เป็นไปอย่างสุขุม รอบคอบ รัดกุม มีชั้นเชิง

และที่สำคัญไม่ได้ดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว หากแต่ใช้ความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของการเป็นทหารเก่าไม่เคยตาย คือมีกองทัพของชาติ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยืนเคียงข้าง แล้วค่อย "ส่งนัยยะ" ไปยังฟากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ได้ตระหนักว่าอะไรเป็นอะไร

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ พล.อ.เปรมแสดงออกมาไม่ว่าเรื่องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เรื่องที่กองทัพซึ่งอาจจะหมายรวมถึงข้าราชการประจำ จะต้องเป็นของชาติ เป็นของพระมหากษัตริย์นั้น ดูจะได้รับการขานรับจากสังคมค่อนข้างสูง

ต้องไม่ลืมว่าสังคมไทยยังคงผูกพันกับแนวคิดในแนวอนุรักษนิยมอยู่มาก การที่ พล.อ.เปรม ซึ่งยังคงมีภาพของคนในระบบอำมาตยาธิปไตยชูประเด็นระบบข้าราชการขึ้นมาเป็นธงและเลือกอยู่ตรงข้ามกับระบอบการเมืองแบบทักษิณนั้น ย่อมจะสามารถดึง "แรงหนุน" จากคนไทยจำนวนมากมายืนเคียงข้างได้

ซึ่งตรงนี้อาจทำให้ระบอบทักษิณที่เชื่อมั่นในมวลชนของตนเอง "หืดจับ" ได้

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดูจะมองเห็นประเด็นตรงนี้มาโดยตลอด และล่าสุดก็ได้ออกแถลงการณ์ที่มีน้ำเสียงคลอไปกับ พล.อ.เปรม นั่นก็คือปลุกให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และคนไทยทั่วประเทศร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเด็ดเดี่ยว เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ

คงต้องติดตามด้วยความระทึกใจว่าถึงที่สุดแล้ว การเปิดสงครามกับผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะนำไปสู่ขอยุติที่จุดใด

คุ้มค่าหรือไม่กับการเล่มเกมเสี่ยงแบบนี้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์