ดิจิตอลมิเดียบอกเลิกสัญญาผลิตข่าวให้ช่อง11 อ้างเหตุสารพัด ปรับตัวเข้ากับนโยบายรบ.ใหม่ไม่ได้


บ.ดิจิตอล มีเดียฯ ได้บอกเลิกสัญญาผลิตรายการให้กับสถานีช่อง 11 หรือ "เอ็นบีที" แล้ว อ้างเหตุผลคำพูด "สาทิตย์" ทำให้ปรับตัวเข้ากับการทำงานไม่ได้ มีผลทันที 1 มี.ค.นี้ หลังรมต.สำนักนายกฯ พยายามเจรจาต่อรองแล้วแต่ไม่เป็นผล พร้อมแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดผังใหม่ 16 ก.พ.นี้

 
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง จำกัด ได้ทำหนังสือบอกเลิกการเป็นผู้ผลิตรายการข่าวประจำวันทาง NBT  โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 เป็นต้นไป
 
สำหรับเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาครั้งนี้ นั้นได้อ้างถึงเหตุผลคำให้สัมภาษณ์ของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเปลี่ยนทิศทางรายการข่าวของ NBT ให้เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ปรับเปลี่ยนรายการข่าวให้มีความเป็นมืออาชีพ และไม่เห็นด้วยให้ NBT เป็นเครื่องมือทางการเมือง

คำสัมภาษณ์เหล่านี้ของนายสาทิตย์ ทำให้กลุ่มผู้บริหารบริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ เห็นว่าทิศทางนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่เกี่ยวกับสื่อของรัฐไม่มีความชัดเจนและมีผลกระทบต่อแผนโฆษณาของบริษัทต่างๆ ของกลุ่มบริษัทและทำให้มีปัญหารายได้เนื่องจากบริษัทฯโฆษณามีความเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทดิจิตอล มีเดียฯ ขอบอกเลิกสัญญาเพื่อเปิดทางให้ทางกรมประชาสัมพันธ์จัดหาบริษัทอื่นๆ เข้ามาร่วมทำรายการข่าวกับกรมปประชาสัมพันธ์ต่อไป

ด้านนายสาทิตย์ยอมรับว่าทางบริษัทดิจิตอล มีเดียฯ ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาผลิตรายการข่าวประจำวันกับทางสถานนีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 จริงและให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 นี้ ซึ่งในวันที่ 16 กุมพันธ์ จะแถลงรายละเอียดทั้งหมด และแผนการทำรายการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ ช่อง 11 จนกว่าจะมีแนวทางและบริษัทใหม่เข้ามาดำเนินการต่อไป โดยในช่วงนี้ ได้มอบหมายให้นายสุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 เตรียมแผนรับมือโดยให้นักข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่ 80  คน ทำหน้าที่ผลิตข่าวไปพลางก่อน

แหล่งข่าวจากคณะรัฐมนตรีเปิดเผยว่านายสาทิตย์ได้เจรจากับผู้บริหารบริษัท ดิจิตลอมีเดียหลายรอบและได้แจ้งให้รู้ว่าจะไม่บอกเลิกสัญญาในทันทีทันใดและต้องการให้ บริษัทดิจิตอล มีเดียฯ ปรับทิศทางในการทำข่าวให้กับสู่ความเป็นวิชาชีพสื่อมวลลชน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาแม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแต่รายการข่าวของ NBT ยังรายงานข่าวเหมือนเดิม ซึ่งก่อนบอกเลิกสัญญา ทางกลุ่มผู้บริหารแจ้งว่าแนวทางของ NBT เดินทางมาไกลแล้วไม่สามารถปรับตัวทันตามที่รัฐบาลใหม่ต้องการ

ทั้งนี้  NBT เกิดขึ้นในช่วงนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลจำเป็นต้องการปรับปรุงรายข่าวของสถานนีโทรทววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 โดยมีการทำสัญญาระหว่างนายสุริยงค์ หุณฑสารตัวแทนกรมประชาสัมพันธ์กับบริษัทดิจิตอล มีเดียโฮลดิ้ง จำกัดโดยนายอดิศักดิ์ ชื่นชมและนายพรเลิศ ยนตร์ศักดิ์สกุล กรรมการผู้อำนาจ เป็นผู้ผลิตรายการข่าว เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน -  31 มีนาคม 2553

ซึ่งต่อมาได้นำรายการ "ความจริงวันนี้" ของกลุ่มนายจาตุพร นายวีระ และนายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ เข้ามาจัดเพื่อตอบโต้กลุ่มพันธมิตรฯ และเป็นเวทีถ่ายถอดของคนเสื้อแดงและสร้างความขัดแย้งในสังคมการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่าน เป็นที่รับรู้กันว่ากลุ่มบริษัท ดิจิตอลมีเดียฯ ใกล้ชิดกับนายเนวิน ชิดชอบ

นายสาทิตย์กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายที่จะประกาศให้เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ซึ่งนอกจากทำข่าวอย่างมีความเป็นมืออาชีพ มีความสมดุลของข่าว ให้ความเป็นธรรมและต้องแยกข้อเท็จจริงข่าวกับรายการให้ความเห็นเกี่ยวกับข่างออกจากกันและต้องเพิ่มรายการที่เป็นความเห็นแตกต่างเข้ามาแบบเดียวกับรายการเหรียญสองด้านหรือรายการในทำนองเดียวกับมองต่างมุมของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทองในอดีต

สำหรับในระยะยาวนั้นนายสาทิตย์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปสื่อภาครัฐซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะดังกล่าวแล้วมีนายวรากร สามโกเศศ อดี่ยรัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการเป็นประธาน ซึ่งมีเป้าให้ช่อง 11 เป็นองค์กรมหาชน มีความอิสระป้องกันการแซงแทรงจากฝ่ายการเมือง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 คณะกรรมการป้องกันและปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติตั้งอนุฯกรรมการสอบสวน กรมประชาสัมพันธ์กรณีละเว้นการควบคุมการจัดรายการ "ความจริงวันนี้"
เนื่องจากในการประชุมวันดังกล่าวนั้น มีการหยิบยกคำร้องเรียนรายการ "ความจริงวันนี้" ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 22.00-23.00 น. ซึ่งถูกกล่าวหาว่า รายการมีเนื้อใส่ร้ายบุคคลอื่นและไม่เปิดโอกาสให้บุคคลนั้นได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ผิดวิสัยของการเป็นสื่อมวลชนที่ดี อันเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิความเป็นมนุษย์

จากนั้นที่ประชุมจึงมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวน นายเผชิญ ขำโพธิ์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ฐานละเว้นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จากกรณีที่ปล่อยปละละเลย โดยมี น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน และให้นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช.ร่วมเป็นอนุกรรมการ

ทั้งนี้ รายการ ′ความจริงวันนี้′ มีนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นแขกรับเชิญประจำ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือเอ็นบีที

นอกจากนี้ ในช่วงก่อนที่ กลุ่มบริษัทดิจิตอล มีเดียฯ จะทำสัญญากับช่อง 11 ก็เกิดข่าวลือถึงเรื่องการฮั้วประมูลเกิดขึ้น เนื่องจากมีการพบข้อมูลว่า บริษัท คู่แข่งของ บริษัทดิจิตอล มีเดียฯ ที่เข้ามาร่วมเสนอราคาด้วยนั้น ได้แก่ บริษัท เคแอลทีเอ็ม มีเดียฯ พบพิรุธว่า มีที่อยู่เดียวกับดิจิตอล มีเดียฯ อย่างไรก็ตาม นายสุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) อ้างว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน

แต่เมื่อได้สอบถามจาก นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานที่ปรึกษาบริษัท เคแอลทีเอ็ม มีเดียฯ (พี่ชายนายพิธาน คลี่ขจาย บก.หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์) และนายทรงกลด มุกดาพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเคแอลทีเอ็ม มีเดียฯ  ก็ได้รับคำยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ แต่อย่างใด ที่บริษัทย้ายมาอยู่อาคาร PM ทาวเวอร์เพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเช่าสำนักงานเท่านั้น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์