ปชป.เตรียมยื่นศาล รธน.ตีความแถลงนโยบายรบ.เป็นโมฆะ พบพิรุธ เฉลิม และพวกลักไก่กดบัตรให้ครบองค์ประชุม

ปชป.เตรียมยื่นศาล รธน.ตีความการแถลงนโยบายว่าเป็นโมฆะ หลังพบพิรุธ "เฉลิม"และพวก สอดไส้ร่วมกดบัตรแสดงตน เพื่อให้ครบองค์ประชุม ทั้งที่ไม่ลงชื่อเข้าประชุม ส่อแถลงนโยบายโมฆะ ชี้ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ว่าพรรคได้มีการมอบหมายคณะบุคคลไปตรวจสอบการประชุมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะเราเริ่มเห็นความไม่ปกติในการประชุมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้องค์ประชุม 2 ครั้งจึงครบองค์ประชุม และการตรวจสอบคนที่เข้าไปในห้องประชุมสภาฯ ในวันนั้น เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาและสื่อมวลชนให้ข้อมูลกับพรรคอยู่ตลอดว่าน่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น เนื่องจากการยืนยันตัวเลของค์ประชุมของรัฐสภาครั้งหลังสุดอยู่ที่จำนวน 320 คน ซึ่งมีสมาชิกเข้าประชุมเกินจำนวนกึ่งหนึ่งเพียง 9 คน และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา พรรคได้มอบหมายให้ ส.ส.30 คนไปขอเจ้าหน้าที่รัฐสภาตรวจสอบการลงชื่อเข้าประชุมโดยตรง ซึ่งได้ข้อพิรุธและเป็นข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่าถ้าเป็นจริงตามนั้น การแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาจะไม่ชอบและเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความว่านายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยมิชอบ ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ ได้
      
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการตรวจพบว่ามีสมาชิกรัฐสภาเซ็นชื่อเข้าประชุมจำนวน 258 คน จากนั้นได้มีการกดบัตรเพื่อยืนยันองค์ประชุม ซึ่งปกติผู้ที่มีสิทธิ์ยืนยันองค์ประชุมด้วยการกดบัตรต้องเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมและต้องอยู่ในที่ประชุม แต่พบว่ามี 3 คนที่ไม่ได้ลงชื่อเข้าประชุมแต่มีชื่อในการกดบัตรซึ่งถ้าไม่ลงชื่อเข้าประชุมก็เท่ากับว่าไม่อยู่ในที่ประชุม คือ 1.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน 2.นายมานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคมัชฌิมาธิปไตย และ 3.นายสฤษฏ์ อึ้งอภินันท์ ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชน และยังได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มอีกจากภาพการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ตลอดเวลาการแถลงนโยบาย รวมถึงสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐสภาหลายคนยืนยันกับ ส.ส.ของพรรคที่ไปตรวจสอบ พบว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้อยู่ที่ประชุมรัฐสภาตลอดการประชุม และในช่วงที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมรัฐสภา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นข้อพิรุธ ผิดพลาด ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์ต่อไป โดยจะมี ส.ส.ของพรรคไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากกล้องวงจรปิดในรัฐสภาด้วย
      
 “ข้อเท็จจริงเหล่านี้เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า การแถลงนโยบายดังกล่าวมีปัญหาผิดพลาดในเรื่องความชอบขององค์ประชุม และความชอบในการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีแน่นอน ข้อเท็จจริงนี้สมควรที่นายกฯ ควรจะยุติการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งความรับผิดชอบที่เป็นคนสั่งการให้มีการใช้กำลัง ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บและล้มตาย เป็นข้อกล่าวหาที่ใหญ่หลวงพอที่จะการยุติการปฏิบัติหน้าที่ แต่เมื่อมีข้อพิรุธในการประชุมเพิ่มเติม ขึ้นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องชอบที่นายกฯ จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้” นายสาทิตย์ กล่าว
      
น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ ส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากพรรคให้ไปดูความถูกต้องขององค์ประชุม โดยไปขอข้อมูลจากฝ่ายบันทึกเทปการประชุม และทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการ ขอตรวจสอบรายชื่อการลงทะเบียน และ ลายเซ็นว่า มีข้อผิดปกติหรือไม่อย่างไร ซึ่งมี ส.ส.อย่างน้อย 3 คน ที่ไม่ได้ลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่ใช้สิทธิในการโหวตในสภา และ ในส่วนของส.ว. ขณะนี้ได้เข้าไปตรวจสอบด้วย โดยอาจจะมีกรณีเดียวกันได้ เพราะบรรยากาศการประชุมวันนั้น ผู้ที่เข้าร่วมประชุมน้อยมากไม่น่าจะถึง 320 คน ทั้งนี้ ในส่วนของบันทึกการทะเบียนรายชื่อเข้าร่วมประชุม ถ้าใครมาก็จะลงชื่อ แต่หากใครไม่เข้าร่วมประชุมจะมีการขีดเส้นแดงหลังรายชื่อ และลงว่าลำดับไหนไม่มาประชุม ซึ่งรายชื่อทั้ง 3 คนดังกล่าว มีการขีดเส้นแดง
 
ส.ว.จ้องเขม็งไม่ครบองค์-ยื่นถอดแน่

นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา แถลงว่า ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการรัฐสภา เพื่อขอข้อมูลการประชุมรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 7 ตุลาคม เนื่องจากได้รับเบาะแสว่ามีสมาชิกรัฐสภาบางคนไม่ได้ลงชื่อเข้าประชุม หรือไม่ได้อยู่ร่วมการประชุม แต่มีการเสียบบัตรแทนกัน และมีการพักการประชุมเพราะองค์ประชุมไม่ครบ และเมื่อเปิดประชุมอีกครั้งมีองค์ประชุมเกินครึ่งไม่ถึง 10 คน ทั้งนี้ หากพบองค์ประชุมไม่ครบจริงจะนำไปสู่กระบวนการถอดถอนตามขั้นตอนต่อไป  
 

พปช.ชี้แค่แผนตีรวนรัฐบาล

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พปช. กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหาเพราะว่าองค์ประชุมครบอยู่แล้วการแถลงนโยบายจึงสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่รอศาลรัฐวินิจฉัย รัฐบาลก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ การที่ ส.ส.กดบัตรแสดงตนแต่ไม่ได้เซ็นชื่อไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เข้าร่วมประชุม บุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าร่วมประชุมได้อยู่แล้ว เมื่อโหวตเสร็จแล้วเซ็นชื่อภายหลังก็ได้ เนื่องจากวิธีปฏิบัติของสภามีมากและยังเป็นข้อถกเถียงกันหลายประเด็น "ผมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังตีรวนรัฐบาล และยังนำการสลายชุมนุมมาเป็นเหตุไม่เข้าประชุมสภาทั้งที่เป็นหน้าที่โดยตรงของสมาชิกสภา ถึงจะมีการประท้วงแต่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองซึ่งผมขอให้พรรคประชาธิปัตย์มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วย" นายพีรพันธุ์กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์