บวรศักดิ์ ถอยฉากเลิกอุ้ม กกต. รับลาออกไม่เกิดเดดล็อก

บวรศักดิ์ ถอยฉากเลิกอุ้ม กกต. รับลาออกไม่เกิดเดดล็อก

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 พฤษภาคม 2549 18:51 น.

บวรศักดิ์ สวมบทศรีธนญชัย พลิกลิ้นจำนนคำวินิจฉัย เสียงอ่อยรับศาลฎีกาใช้ ม.138 (3) คัดเลือก กกต.ได้ไม่เกิดเดดล็อกทางการเมือง อ้างที่ผ่านมายึดเหตุผลตามหนังสือ สุชน ยื่น ทักษิณ แก้ รธน.องค์ประกอบสรรหาไม่ครบ เข็ดไม่ยุ่งเกี่ยวกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ขอทำหน้าที่บรุษไปรษณีย์ประสานงานแทน แต่ยังกล้าแนะ ครม.จับมือ กกต.หารือพรรคการเมืองเลือกวันเหมาะสมเอง พร้อมเตือน 4 เสือ ชี้มติศาล รธน.ถือว่าเด็ดขาดไม่ทำตามไม่ได้

วันนี้ (10 พ.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเช้าวานนี้ได้รับคำวินิจฉัยกลางจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และได้ทำการศึกษาอย่างละเอียด ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่เตรียมการตามคำวินิจฉัย โดย สลค.จะทำการรายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบในวันอังคารที่ 16 พ.ค. จากนั้นขอความเห็นจากที่ประชุม ครม.เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนของมาตรา 4 เกี่ยวกับวันเลือกตั้งว่ามีแนวทางอย่างไร เมื่อ ครม.มีมติอย่างไร สำนักเลขาธิการ ครม.ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ก็จะปฏิบัติตามนั้น

โดยความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง ครม.อาจพิจารณาให้นำเรื่องไปหารือกับ กกต.เพื่อจะได้นัดตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมหารือกัน ว่าควรกำหนดวันเลือกตั้งวันใดที่เหมาะสม จากนั้นส่งเรื่องให้ สลค.ทำการยกร่างพระราชกฤษฏีกากำหนดวันเลือกตั้ง และนำเสนอ ครม.พูดง่ายๆ สำนักเลขาธิการ ครม.จะทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ให้กับ กกต.และพรรคการเมือง ถ้าครม.มีมติก็เป็นไปตามนี้ นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ถ้า ครม.มีมติวันอังคารที่ 16 พ.ค.ก็จะประสานไปที่ กกต.นัดพรรคการเมืองหารือว่าจะได้ข้อยุติเมื่อไหร่ ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องประชุม ครม.นัดพิเศษ ถือเป็นการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ตามปกติ ส่วนผู้ลงนามขึ้นกราบบังคมทูลพระราชกฤษฎีกาในกรณีนายกรัฐมนตรีลาปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายสามารถให้ผู้รักษาราชการแทนลงนามนำความกราบบังคมทูลได้ และหลังจากนั้นมาเสนอ ครม.รับทราบ เป็นมติ ครม. เพราะฉะนั้นจึงไม่มีประเด็นใดที่ต้องกลัวทั้งสิ้น และจะไม่ล่าช้าด้วย

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันพระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ก็หมายความว่าเมื่อนำความกราบบังคมทูลฯ และโปรดเกล้าฯ มาวันไหน นำลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยก็จะมีผลในวันนั้น สมมติประกาศลงในราชกิจจาฯ วันที่ 1 มิถุนายน ก็นับไปอีก 60 วัน เป็นวันเลือกตั้ง

เกี่ยวกับความเห็นของศาลฎีกาออกแถลงการณ์ให้ กกต.ลาออกเพื่ออาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (3) เสนอชื่อผู้ที่สังคมยอมรับมาเป็น กกต.จำนวน 10 คน และให้วุฒิสภารับรอง 5 คน นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า เคยชี้แจงไปแล้วว่ากรณีนี้จะทำให้เกิดเดดล็อก เพราะจากกรณีที่ นายจรัล บูรณพันธ์ศรี กกต.ถึงแก่อนิจกรรม ได้มีการสรรหา กกต. ปรากฏว่าช่วงนั้นได้มีหนังสือจากนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา (แสดงหนังสือให้สื่อมวลชนดู) เสนอถึงนายกรัฐมนตรีให้แก้รัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว เพราะติดปัญหาไม่สามารถสรรหา กกต. ด้วยเหตุว่าองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาไม่ครบ เพราะไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ และครั้งนั้นประธานศาลปกครองซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการสรรหา ก็ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา ชี้แจงว่า องค์ประกอบกรรมการสรรหาไม่ครบ และกำหนดเวลาการสรรหาครั้งนั้นครบวันที่ 7 ธันวาคม 2548 ฉะนั้น กรรมการสรรหาทำหน้าที่ไม่ได้ ประธาน ส.ว.จึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่าใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 138 (3) ไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องมีกรรมการสรรหาก่อน และกรรมการสรรหาก็ทำงานไม่เสร็จภายใน 30 วัน

แต่มาบัดนี้ ได้เห็นกันว่าใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 138 (3) ได้ และผู้ที่มีความเห็นเช่นนั้น เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญก็ดี ไม่เกิดเดดล็อก ก็ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วย ถ้าไม่มีปัญหาก็ทำไปเมื่อองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญพิจารณาเช่นนั้นแล้ว ก็ดำเนินการได้ แสดงว่าจดหมายของ ส.ว.ที่เสนอให้ ครม.แก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องใช้ นายบวรศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดการวินิจฉัยของศาลและฝ่ายรัฐบาลไม่ตรงกัน นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร วันหนึ่งมีความเห็นทางกฎหมายอย่างหนึ่ง ถึงขนาดแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มาบัดนี้ถ้าความเห็นเปลี่ยนไปก็ทำไป ไม่มีเดดล็อก ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ และเมื่อองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเห็นว่า ใช้มาตรา 138 (3) ได้ก็ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมีเดดล็อกยิ่งดี บ้านเมืองจะได้ไม่มีปัญหา

สำหรับสถานะวุฒิสภาชุดเก่าจะทำหน้าที่คัดเลือกองค์กรอิสระได้หรือไม่นั้น นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ส.ว.ชุดเก่าต้องรักษาการต่อไป จนกว่า ส.ว.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ ถามว่าจะพ้นหน้าที่เมื่อไหร่ ก็ต่อเมื่อ ส.ว.ชุดใหม่เข้าปฏิญาณตน ถ้าตราบใดไม่ปฏิญาณตน ส.ว.ชุดเก่าก็ต้องทำหน้าที่ไปก่อน และทำหน้าที่อย่างจำกัดในเรื่องการแต่งตั้ง ถอดถอนเท่านั้น ส่วนการแก้ไขกฎหมายทำไม่ได้

เมื่อถามถึงกรณี กกต.ไม่ทำตามข้อเสนอสามศาลด้วยการลาออก จะทำให้มีปัญหาการเมืองต่อไปหรือไม่เพราะถูกมองว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไรเป็นดุลพินิจอิสระของ กกต. แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำตามไม่ได้ ตราบใดที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและเป็นองค์กรของรัฐอยู่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเด็ดขาดก็ต้องทำตาม

ผู้สื่อข่าวยังถามว่า คำชี้แนะกับคำวินิจฉัยแตกต่างกันอย่างไร นายบวรศักดิ์ กล่าว่า คำวินิจฉัยมีผลผูกพันเป็นเรื่องต้องปฏิบัติตาม ส่วนคำชี้แนะเป็นเรื่องที่ผู้ออกมาให้ความเห็นเพราะท่านอยากให้บ้านเมืองสงบ

ส่วนที่มี ส.ส.ต้องการย้ายพรรคแต่เกรงว่าจะไม่สามารถสังกัดพรรคได้ทัน 90 วันตามรัฐธรรมนูญนั้น นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ก็อยู่ที่ กกต.และพรรคการเมืองจะตกลงกันในการออกพระราชกฤษฏีกำหนดวันเลือกตั้ง สมมติว่าอยากให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ ก็ให้ไปออกพระราชกฤษฏีกาแก้ไขเพิ่มเติมยุบสภา แล้วประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาในวันที่ 1 สิงหาคม จากนั้นกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 1 ตุลาคม ก็ได้ ทั้งหมดนี้ขอให้บอกมา สลค.จะทำเรื่องเสนอ ครม.ให้และนำเรื่องทูลเกล้าฯ แต่ต้องให้ กกต.และพรรคการเมืองมีความเห็นร่วมกัน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์