ปลาทะเลวิกฤติลักจับส่งอะควอเรียม

ปลาทะเลวิกฤติลักจับส่งอะควอเรียม

25มี.ค.2555 นายไพทูล  แพนชัยภูมิ  ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 จ.ภูเก็ต
 
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในเขตพื้นที่ภูเก็ต,พังงา และระนอง เปิดเผย "ผู้สื่อข่าว" ว่า ขณะนี้ปัญหาการลักลอบจับปลาทะเลซึ่งเป็นปลาสวยงาม และสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังในทะเลอันดามัน โดยเฉพาะจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดประกอบด้วยภูเก็ต,พังงา,กระบี่และระนอง อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

    
แม้ว่าทางหน่วยงานที่ดูแลจะพยายามดำเนินการจับกุมและหาทางสกัดกั้นในทุกรูปแบบก็ยังไม่สามารถยับยั้งกลุ่มขบวนการดังกล่าวได้

ทั้งยังมีการพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการในการลักลอบเข้ามาจับปลาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงกระบวนการในการขนส่งสินค้า ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของสัตว์น้ำในแนวปะการัง อีกทั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อสภาวะการด้านการท่องเที่ยวได้
    
“ขณะนี้ทราบว่ามีคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากที่ต้องการนำปลาสวยงามไปเลี้ยงในอะคอเรียม ตู้โชว์สัตว์น้ำตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แม้ว่าสัตว์ทะเลประเภทปลาสวยงามหลายชนิดสามารถเพาะพันธุ์ได้แต่พบว่ายังมีอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้จึงทำให้ต้องหาไปจากทะเล และพบว่าการนำสัตว์น้ำจากทะเลไปเลี้ยงตามตู้โชว์ หรืออคอเรียมนั้นได้เพียงแค่ชั่วคราวเพราะสัตว์น้ำไม่สามารถปรับตัวได้และตายในเวลาไม่นาน จึงทำให้ต้องมีการซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปทดแทนตัวที่ตาย จึงทำให้เกิดขบวนการล่าไม่มีที่สิ้นสุดและนับวันจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น” นายไพทูล กล่าวและว่า  
    
ขบวนการล่าสัตว์ทะเลมีทั้งชาวประมงพื้นบ้านทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นอาชีพเพียงแต่เมื่อออกทะเลและจับได้ปลาสวยงามก็จะสะสมไว้จนได้จำนวนมากจึงนำออกจำหน่าย

ส่วนชาวประมงอีกกลุ่มจะทำเป็นอาชีพเสริมตามคำสั่งซื้อของลูกค้าหรือนายหน้าที่สั่งเข้ามา เมื่อว่างจากการทำประมงพื้นบ้านก็จะออกล่าปลาสวยงามตามออเดอร์ อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือขบวนการล่าปลาสวยงามโดยตรงซึ่งปัจจุบันมีหลายกลุ่ม และออกจับปลายในหลายพื้นที่ขบวนการนี้จะทำเป็นกระบวนการมีเรือที่ปฏิการณ์ เรือที่คอยเฝ้ายามเพื่อสังเกตพฤติกรรมของ จนท.เพื่อส่งสัญญาณบอกกลุ่มที่จับปลาให้ไหวตัวหากมี จนท.เข้ามาตรวจสอบ รวมถึงเมื่อจับปลาได้ก็จะมีโครงข่ายบนบกที่มีอุปกรณ์รองรับสามารถเคลื่อนย้ายปลาได้ทันที 
    
“การดำเนินการกับขบวนการดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่ขั้นแรกที่เข้าไปตรวจสอบในท้องทะเล เมื่อกลุ่มดังกล่าวเห็น จนท.และไหวตัวก็จะรวบรวมปลาที่จับได้ใส่ถุงถ่วงไว้ใต้ท้องทะเล ซึ่งทำให้ จนท.ตรวจสอบยาก หรือหากนำขึ้นมาบนฝั่งก็จะตรวจสอบยากยิ่งขึ้นเนื่องจากปลาสวยงามไม่ได้มีการห้ามจับตามกฏหมายมีเพียงแต่ประกาศพื้นที่ต้องห้ามที่มีกฏหมายประกาศห้ามจับอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดประกอบด้วยภูเก็ต,กระบี่,พังงา ซึ่งยากที่จะตรวจสอบแหล่งที่มาหากมีการขนย้ายข้ามเขตก็จะมีการอ้างว่าจับมาในเขตพื้นที่ที่ไม่มีประกาศ”
    
นายไพทูล  กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อผลกระทบที่มีการลักลอบจับปลาตามแนวปะการัง
 
เริ่มจากวิธีการจับปลาที่กลุ่มขบวนการใช้วิธีการนำไซยาไนซ์ไปฉีดเพื่อให้ปลาสลบ จากนั้นจะรวบรวมใส่ภาชนะบรรจุ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบ 2 ประการคือผลจากไซยาไนซ์ที่ทำลายระบบนิเวศน์ใกล้เคียง รวมถึงปริมาณสัตว์น้ำที่ขบวนการจับออกไปขายนอกจากปลาทะเลแล้ว ยังมีหอยทะเล,ปู,ปลาดาว ซึ่งหากถูกจับในปริมาณมากก็อาจจะทำให้ระบบนิเวศน์บริเวณดังกล่าวเกิดความเสื่อมโทรม พื้นที่ดำน้ำที่เคยมีปลาเป็นจุดขายสำคัญด้านการท่องเที่ยวอาจจะเกิดปัญหาในอนาคต 
    
ขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5

จ.ภูเก็ตได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งและสกัดกั้นกลุ่มขบวนการล่าสัตว์ทะเลประเภทปลาสวยงามตามแนวปะการังทั้งการออกลาดตระเวน,การร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิทหาร,ตำรวจร่วมกันตั้งด่านเพื่อตรวจสอบรถต้องสงสัยซึ่งที่ผ่านมาสามารถจับกุมได้หลายครั้ง  แต่สิ่งสำคัญที่จะหยุดยั้งได้อย่างยั่งยืนคือการสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปที่จะร่วมอนุรักษ์และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์