ในหลวงดูแผนที่-ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทุกวัน


"ในหลวง"ดูแผนที่-ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทุกวัน อธิบดีปภ.เตือน26-27ต.ค.น้ำขึ้นสูง แนะรับมือ-เสริมตลิ่ง

ดร.สุเมธเผย"ในหลวง"ดูแผนที่-ติดตามน้ำท่วมทุกวัน ทรงเคยเตือน"อย่ารังแกธรรมชาติ

ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า  เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม  นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงความห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาตลอด โดยพระองค์ได้อุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเรื่องน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม จะเห็นได้ว่าก่อนพระองค์ทรงเสด็จประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำประชุมและพระราชทานคำเสนอแนะ เพราะน้ำก้อนหนึ่งผ่านหลายจังหวัด การประสานงานและการจัดการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

หลายปีก่อนมีน้ำทะลักเข้ามาก้อนใหญ่ไม่มีใครตื่นเต้น พระองค์ทนไม่ไหวรับสั่งเรียกหน่วยงานต่างๆ มาประชุม ถามว่าน้ำมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ละชั่วโมงถึงบริเวณใด จะได้วางระบบป้องกันเตือนภัย แต่ครั้งนี้ในความรู้สึกผมรัฐบาลอาจทำอยู่แล้ว แต่จุดศูนย์กลางมองไม่ค่อยออก แต่ละหน่วยต้องการประสานร่วมมือ ถ้าวางแผนดีๆ ใช้ข้อมูลจัดการบริหารปัญหาก็ทุเลา” นายสุเมธ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่บอกว่าจุดศูนย์กลางที่มองไม่ค่อยออกคืออะไร นายสุเมธ กล่าวว่า ในยามวิกฤตต้องมีศูนย์เผชิญวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม การเมือง ต้องตั้งศูนย์กลางข้อมูล เหมือนยามศึกต้องมีกองบัญชาการ ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เมื่อนำข้อมูลมารวมกัน ให้คนที่มีประสบการณ์ได้ตัดสินใจในข้อมูลนั่น จะไม่ชุลมุนไปหมด

เมื่อถามว่า การทำงานของรัฐบาลขณะนี้ มองว่าทันท่วงทีต่อสถานการณ์หรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่า ไม่ทราบ ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนากำลังดูจังหวะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแบ่งไว้แล้ว ว่าใครทำงานอย่างไรบ้าง ซึ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามูลนิธิราชประชาจะเข้าไปดำเนินการก่อน แต่ภายหลังน้ำลดที่ต้องฟื้นฟูเป็นหน้าที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงความห่วงใยโรงพยาบาลในเขตที่มีน้ำท่วมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นายสุเมธ กล่าวว่า โรงพยาบาลเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ยากลำบากในการรักษา พระองค์ทรงรับสั่งผ่านอีกท่านหนึ่งว่า ให้พยายามกั้นไม่ให้น้ำใหม่เข้าไป และพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสูบน้ำออก เพื่อให้โรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ได้

เมื่อถามว่า ขณะนี้ประชาชนเป็นทุกข์จากภัยน้ำท่วม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมองเรื่องนี้อย่างไร นายสุเมธ กล่าวว่า “พระองค์ท่านอยู่โรงพยาบาลจะให้ท่านทรงงานอีกเหรอ ถ้าท่านเสด็จออกได้เชื่อว่าท่านออกอยู่แล้ว ท่านดูแผนที่ติดตามทุกวัน  แต่ว่าแทนที่จะมองจ้องไปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เอาภาระไปใส่พระองค์ พวกเราต้องเหลียวกลับดูว่า เราแต่ละคนควรทำอะไร เป็นหน้าที่ของพวกเรา

เมื่อถามว่า ปัญหาอุทกภัยเกิดหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีการนำพระราชดำรัสไปปฏิบัติหรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่า ปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะมนุษย์ไม่รักษา ทะนุถนอมธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนว่าอย่ารังแกธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะโกรธและทำลายเราเอง


อธิบดีปภ.เตือน26-27ต.ค.น้ำขึ้นสูง แนะรับมือ-เสริมตลิ่ง


ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม  นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงการเสนอของบประมาณเพิ่มเติมต่อครม.เพื่อช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ว่า ปภ.จะของบเพิ่มเติม 3 ส่วน คือ1.การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติมเร่งด่วน อาทิ เรือ และส้วมเคลื่อนที่ 2.การขอขยายวงเงินทดรองราชการของจังหวัดต่างๆ ออกไปเกินจังหวัดละ 50 ล้าน จากเดิมที่กำหนดไว้จังหวัดละ 50 ล้านบาท เพราะบางบางจังหวัดมีภัยที่เกิดขึ้นกว้างขวาง และ3. การพิจารณาช่วยเหลือครัวเรือนเป็นพิเศษ ซึ่งนายชวรัตนื ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้นโยบายว่า ให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันคิดเกณฑ์ว่าจะช่วยเหลือประชาชนเป็นครัวเรือน นอกเหนือจากระเบียบที่ใช้ในการปฏิบัติในเกณฑ์การช่วยเหลือประชาชนใน 9 ประเด็นอย่างไรบ้าง

อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายชวรัตน์ ได้เชิญตัวแทนจากกรมชลประทาน กทม. กรมอุตุนิยมวิทยา และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางจำนวน 14 จังหวัด เพื่อหารือและประเมินสถานการณ์ว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีน้ำท่วมเกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำฝนก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะตกเพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะอยู่ที่สภาพอากาศ และน้ำทะเลก็จะหนุนอยู่ที่ประมาณ 4-5 วัน แต่น้ำเหนือที่ลงผ่าน จ.ชัยนาท และจาก จ.ลพบุรี ช่วงประมาณวันที่ 26-27 ตุลาคม จะมีปริมาณน้ำถึง 4,000 ลูกบาศก์เมตรเศษต่อวินาที ซึ่งจะต้องเตรียมการเสริมแนวกั้นตลิ่งและเตรียมการช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยาลงมาอย่างเต็มที่ ซึ่งได้มีการเตือนและซักซ้อมการปฏิบัติ

นายวิบูลย์ กล่าวว่า ส่วนทางภาคอีสานได้เน้นย้ำให้จังหวัดหรืออำเภอที่อยู่ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางของ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น เรื่อยไปจนถึง จ.อุบลราชธานี หรือว่าเส้นทางของ จ.นครราชสีมา ที่ออกทางด้านใต้ คือ จ.บุรีรัมย์ ไปจนถึง จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งไปลงที่แม่น้ำโขงเหมือนนั้น ยังมีระยะห่างในการเดินทางของน้ำ อำเภอ หรือจังหวัดต่างๆที่อยู่ปลายน้ำ ซึ่งมีเวลาพอสมควรในการเตรียมการจะต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้บางพื้นที่ได้มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเพิ่มเติม เช่น จ.นครปฐม ทั้งนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเรามีสายด่วนนิรภัย 1784 ในการแจ้งรับการช่วยเหลือ โดยขณะนี้มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาเป็นหมื่นๆรายแล้ว โดยทางปภ.ได้ประสานให้การช่วยเหลือเร่งด่วนแล้ว

เมื่อถามว่า ได้เตรียมแผนรองรับสำหรับน้ำที่อาจจะท่วมในพื้นที่ กทม.ไว้อย่างไร อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ทาง กทม.ได้เสริมคันคอนกรีตกั้นน้ำไว้รอบแล้ว จะมีขาดอยู่ประมาณ 1-1.2 กิโลเมตร ที่ยังไม่มีผนังกั้นน้ำ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องที่ดินกับชาวบ้าน แต่ทางกทม.ก็จะไปเน้นย้ำจุดนั้นเป็นพิเศษด้วย ส่วนเรือ และส้วม ที่ต้องจัดหาเพิ่มนั้นต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ซึ่งก็คงจะไม่เพียงพอ แต่กรมป้องกันและผู้ว่าราชการจังหวัดก็พยายามบริหารจัดการ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์