โลกลุ้นช่วย 33 คนงานชิลีติดเหมืองมาราธอน

โลกร่วมลุ้นช่วย 33 คนงานติดเหมืองชิลี มาราธอน 69 วัน กองทัพนักข่าวเกาะติด พ่อแม่วิศวกรชาวไทยปลื้มลูกชายมีส่วนร่วม

วันนี้ (14 ต.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเหมืองทองคำและทองแดงซานโฮเซ่ ในทะเลทรายอาทาคามาของเมืองโกปิอาโป ทางเหนือของชิลี เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ว่า ในที่สุดคนงานเหมืองรายแรกก็ถูกช่วยเหลือขึ้นมาจากใต้ดินได้สำเร็จ หลังจากใช้ชีวิตอยู่รอดในพื้นที่แคบและมืดมานานเกือบ 10 สัปดาห์ได้ราวปาฏิหาริย์ ท่ามกลางการเอาใจช่วยของผู้คนทั่วโลกที่เฝ้าติดตามการถ่ายทอดสดจากสื่อต่าง ๆ

โดยคนงานเหมืองรายแรกจากทั้งหมด 33 คนที่ติดค้างอยู่ใต้ดินในระดับความลึก 625 เมตร (2,050 ฟุต) มานานถึง 69 วัน

จากดินถล่มปิดทางเข้าออก ได้รับการช่วยเหลือขึ้นสู่พื้นผิวเป็นผลสำเร็จในปฏิบัติการกู้ภัยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 10.11 น.ของเช้าวันพุธตามเวลาในไทย  ด้วยความดีใจของชาวชิลีทั่วประเทศ และการเกาะติดรายงานข่าวนี้ของกองทัพนักข่าวราว 1,000 คน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ข่าวทั่วโลก เช่น ซีเอ็นเอ็น และบีบีซี ตลอดจนสถานีภาคภาษาอังกฤษของอัลจาซีรา ไปยังหลายประเทศเช่น นครนิวยอร์กของสหรัฐ   เมืองซิดนีย์ในออสเตรเลีย  กรุงลอนดอนของอังกฤษ และกรุงโตเกียวในญี่ปุ่น  ขณะเดียวกัน ผู้คนทั่วเอเชียไม่ว่าจะเป็นประชาชนในสิงคโปร์  เกาหลีใต้  ไทยหรือเวียดนาม ต่างร่วมยินดีและตื่นเต้นไปกับข่าวคนงานเหมืองรายแรกได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาได้แล้ว

โดยทันทีที่นายฟลอเรนซิโอ อวาลอส คนงานเหมืองวัย 31 ปี ก้าวขาพ้นจากแคปซูลกรงเหล็ก

และหายใจสูดอากาศสดชื่นเข้าเต็มปอดเป็นครั้งแรกในรอบ 69 วัน ก็มีการจุดพลุเหนือท้องฟ้ายามค่ำคืนของชิลี และมีเสียงปรบมือดังกึกก้อง รวมทั้งเสียงตะโกนเรียกชื่อประเทศชิลีหลายครั้ง  จากนั้นนายอวาลอส เข้าสวมกอดบุตรชายวัย 7 ขวบ และนางโมนิก้า ภรรยา  ก่อนที่ประธานาธิบดีเซบาสเตียน  ปิเนร่า  และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ  ได้พานายอวาลอสไปยังโรงพยาบาลสนาม  เพื่อตรวจเช็คสุขภาพ
   
จากนั้นอีกไม่นาน นายมาริโอ เซปัลเวด้า  เอสปิน่า คนงานเหมืองวัย 40 ปี  ก็ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาเป็นรายที่  2  ในอีกราว 1 ชั่วโมงต่อมา

และต่อด้วยนายฮวน อิลลาเนส  วัย 52 ปี  และคนที่ 4 นายคาร์ลอส มามานี  ชาวโบลิเวียวัย  23 ปี  จากนั้นตามมาอีก 2 คนคือนายจิมมี  ซานเชส วัย 19 ปี และนายออสมาน อาราย วัย 30 ปี  ซึ่งทั้งหมดเมื่อได้ขึ้นมาสู่พื้นผิว ก็ได้รับการสวมกอดและจูบจากสมาชิกในครอบครัวของแต่ละคน  บางคนก็น้ำตาไหลด้วยความดีใจที่ได้พบหน้าคนรัก ขณะที่บรรดาญาติมิตรของคนงานเหมืองที่ยังไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นมา ก็ปักหลักอยู่ในบริเวณเหมืองต่อไป เพื่อเฝ้ารอบุคคลอันเป็นที่รัก
   
ประธานาธิบดีปิเนร่า ซึ่งสั่งปรับปรุงกฎระเบียบความปลอดภัยของเหมืองในชิลีขนานใหญ่  กล่าวว่า

ปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ ไม่มีประวัติศาสตร์ครั้งใดของมนุษยชาติที่นำมาเปรียบเทียบได้   และผู้คนทั่วประเทศ ก็ได้เรียนรู้คุณค่าแห่งความศรัทธาและความหวังจากกลุ่มคนงานเหมืองเหล่านี้   สำหรับปฏิบัติการกู้ภัยคนงานเหมืองชิลียังดำเนินต่อไป คาดว่า จะต้องใช้เวลาถึง 48 ชั่วโมงหรือ 2 วันในการนำคนงานเหมืองรายสุดท้ายขึ้นมา เพราะการนำคนงานเหมืองขึ้นมาทีละคนนั้น  ต้องใช้เวลาประมาณ 15 -20 นาที เนื่องจากแคปซูลสามารถเดินทางได้ประมาณ 1 เมตรต่อวินาที หรือสามารถเร่งความเร็วได้เป็น 3 เมตรต่อวินาที หากคนงานเหมืองที่อยู่ในแคปซูลประสบปัญหา


อย่างไรก็ตาม  คนงานเหมืองยังสามารถติดต่อสื่อสารกับทีมกู้ภัยด้วยการใช้อินเตอร์คอมในแคปซูล

แต่หลังจากขึ้นมาสู่พื้นผิวแล้ว พวกเขาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาลอีก 2 วัน   สำหรับการช่วยเหลือคนงานเหมืองแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงที่สุด  ตามมาด้วยคนที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ  เช่น ความดันโลหิตสูง หรือโรคปอด ส่วนสุดท้าย คือผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอีกกลุ่ม  นอกจากนี้ มีคำเตือนจากจิตแพทย์ที่บอกว่า คนงานเหมืองที่ติดอยู่ใต้ดินมานานกว่า 2 เดือน จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป และอาจประสบปัญหาในการกลับคืนสู่ชีวิตปกติ

ส่วนประธานาธิบดีบารัค  โอบามา แห่งสหรัฐ ออกแถลงการณ์ที่กรุงวอชิงตันว่า เขาติดตามสถานการณ์ของคนงานเหมือง 33 รายในชิลีอย่างใกล้ชิด

และตามความคิดของเขาเชื่อว่า มีการสวดมนต์ให้แก่คนงานเหมือง และครอบครัวของพวกเขา   รวมถึงทีมกู้ภัยที่ทำงานอย่างหนัก เพื่อช่วยเหลือคนงานเหมืองเหล่านี้ขึ้นมาอย่างปลอดภัย    ขณะที่  สถานทูตชิลีในสหรัฐ  มีการติดตั้งวิดีโอถ่ายทอดสดปฏิบัติการกู้ภัย  แม้กระทั่งประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวซ  ผู้นำเวเนซุเอล่า ยังใช้บล็อกของตนเองในอินเทอร์เน็ต ส่งความปรารถนาดีไปยังทีมกู้ภัยและคนงานเหมือง

นอกจากนี้ ยังเกิดความชุลมุนวุ่นวายและเบียดเสียดของกลุ่มนักข่าวที่พยายามเข้าไปสัมภาษณ์พ่อของนายอวาลอส

ถึงความรู้สึกที่ลูกชายขึ้นจากใต้ดินเป็นคนแรก  ทว่าเหตุการณ์กลับเลวร้ายเมื่อนักข่าวต่างแย่งกันที่จะเป็นคนแรกที่ได้สัมภาษณ์เครือญาติของคนงานเหมือง โดยมีการจิกทึ้งดึงผม และชกต่อยกันเพื่อแย่งกันทำข่าว ทำให้นางมาเรีย  แม่ของนายอวาลอส  ไม่พอใจมาก จึงคว้าธงชาติชิลีที่อยู่ใกล้ตัวเธอไล่ฟาดนักข่าวเหล่านั้นออกไป

แต่ฝูงนักข่าวยังทำลายข้าวของกันต่อ จนในที่สุดเต็นที่พักของพวกเขาก็พังลงมา  โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ที่มองเห็นเหตุการณ์ไม่ได้เข้าห้ามปราม สุดท้ายม็อบสื่อก็ได้สลายตัวไป เหตุการณ์ครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงแรงกดดันของสื่อที่มีต่อคนงานเหมือง 33 คน ซึ่งกลายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ และเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลก 
   
ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับช่วยเหลือคนงานเหมืองครั้งนี้ด้วย โดยผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานีรายงานว่า

ได้เดินทางไปพบกับนายวีรโชติ  นาสารีย์  นายก อบต.ท่าไห อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี  ซึ่งเป็นพ่อของนายวชิระพงษ์   นาสารีย์ ช่างเทคนิคชาวไทยทีมช่วยเหลือ  ซึ่งนายวีรโชติ กล่าวว่ารู้สึกยินดีและปลื้มใจที่ลูกชายได้เดินทางไปเหมือนเป็นตัวแทนประเทศไทยไปในทีมช่วยเหลือคนงานเหมือง ทองและทองแดง ที่ประเทศชิลีในครั้งนี้  และตนเองได้ให้กำลังใจแก่ลูกชาย และฝากถึงลูกชายให้ทำหน้าที่ดีที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย

นายวีรโชติ กล่าวว่านายวชิระพงษ์ เป็นลูกชายคนโต ในจำนวน 3 คนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาเอกฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดอุบลราชธานี

และไปสมัครทำงาน และศึกษาต่อเพิ่มเติมความรู้ด้านช่างควบคู่กับการทำงาน  ในส่วนอุปนิสัยเป็นคนไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ก่อนเดินทางไปที่ชิลินายวชิระพงษ์ ได้โทรศัพท์แจ้งให้ตนเองทราบ ซึ่งได้ให้กำลังใจก่อนเดินทาง ซึ่งการช่วยเหลือสามารถดำเนินการประสบผลสำเร็จตนเองในฐานะผู้เป็นพ่อมีความดีใจและภูมิใจในตัวลูกชาย ที่ได้ร่วมทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเสมือนเป็นตัวแทนนำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศไทย

ทางด้านนางกนกนาถ เกษมพันธ์ เพื่อนบ้านท่าไห อ.เขื่องใน กล่าวว่า ชาวท่าไห อ.เขื่องใน มีความภูมิใจที่นายวชิระพงษ์ ลูกบ้านท่าไหได้ใช้ความรู้ความสามารถ จนได้รับการพิจารณาคัดเลือกร่วมทีมในการช่วยเหลือชาวชิลีที่เดือดร้อน  ถือเป็นตัวแทนของประเทศไทยในทีมกู้ภัยนี้ซึ่งชาวท่าไห ทุกคนทราบข่าวต่างภาคภูมิใจ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์