คณะแพทย์ มช. กำเนิดเด็กหลอดแก้วรอดจากครรภ์เป็นพิษสำเร็จครั้งแรกของไทยที่สองของโลก

คณะแพทย์ มช.คัดตัวอ่อนโรคอัลฟาธาลัสซีเมียลืมตาดูโลกสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและที่สองของโลก ของครอบครัว "คันธามารัตน์" รอดพ้นจากภาวะครรภ์เป็นพิษอายุ 3 เดือนมีสภาพสดชื่นและแข็งแรง หลังแม่แท้งมาแล้ว 2 รอบ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 มกราคม ที่อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีคณะแพทยศาสตร์ นพ.วัฒนา นาวาเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และทีมแพทย์โครงการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอโรคพันธุกรรมอัลฟาธาลัสซีเมียจากเซลล์เพียงเซลล์เดียวเพื่อคัดตัวอ่อนประกอบด้วย รศ.ดร.นพ.วรีวิทย์ ปิยะมงคล และ รศ.นพ.ธีระพร วุฒยวนิช จากภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จในการคัดตัวอ่อนสำหรับโรคอัลฟาธาลัสซีเมียเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และเป็นครั้งที่สองของโลก โดยนำครอบครัว "คันธามารัตน์" ที่เข้าร่วมโครงการและประสบความสำเร็จประกอบด้วยนายชานน นางอัญชลี และ ด.ช.ปกรณ์วิทย์ หรือน้องเปรม คันธามารัตน์ วัย 3 เดือน มาร่วมแถลงความสำเร็จในครั้งนี้

รศ.นพ.ดร.วีรวิทย์กล่าวว่า โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดยีนเดี่ยวที่พบมากที่สุดในโลก และมีความชุกในแถบเอเชีย

ซึ่งในประเทศไทยเกิดภาวะแฝงของโรคในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนร้อยละ 20-30 หรือกว่า 1,000 รายต่อปีจากเบต้าธาลัสซีเมียและอัลฟาธาลัสซีเมียร้อยละ 25 โดยจะพบเด็กในครรภ์มารดามีอาการซีดตั้งแต่อายุ 4-5 เดือน มีความเสี่ยงสูงที่อาจถึงเสียชีวิตด้วยอาการครรภ์เป็นพิษ หัวใจวายในครรภ์ หัวใจโต น้ำท่วมปอด คลอดยาก หรือตกเลือดก่อนและหลังคลอด

"พ่อแม่จากครอบครัวคันธามารัตน์เป็นพาหะของโรคนี้ทั้งคู่ และนางอัญชลีมีภาวะแท้งมาแล้วสองครั้ง จึงเข้าร่วมโครงการเพราะต้องการมีบุตร ด้วยการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและคัดเลือกตัวอ่อนตั้งแต่ระยะก่อนฝังตัว โดยการตัดเซลล์ 1-2 เซลล์ จากตัวอ่อน 8-10 เซลล์ ระยะวันที่สามหลังการปฏิสนธิในหลอดแก้ว แล้วใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทางอณูชีววิทยาระดับนาโนในการตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอโรคพันธุกรรมอัลฟาธาลัสซีเมียจากเซลล์เพียงเซลล์เดียว"

รศ.นพ.ดร.ธีรวิทย์กล่าวด้วยว่า การคัดตัวอ่อนนี้เป็นโครงการที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนสูง

โดยมีการผลิตน้ำยาเพื่อการตรวจดีเอ็นเอเองเพราะไม่มีการผลิตทั่วไป จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะหลายสาขาวิชาเพื่อดูแลทารกหลอดแก้ว ดูแลตัวอ่อน ตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอ ดูแลมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งภายหลังการคลอดตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2551 ด้วยน้ำหนัก 3,280 กรัม จนถึงปัจจุบัน ด.ช.เปรมมีสุขภาพแข็งแรงดี ผลการตรวจทั้งก่อนและหลังคลอดไม่พบโรคอัลฟาธาลัสซีเมีย ซึ่งทีมแพทย์จะติดตามดูแลสุขภาพต่อไป

รศ.นพ.ธีระพรกล่าวว่า ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช.เริ่มโครงการให้บริการคัดตัวอ่อนสำหรับโรคบีต้าธาลัสซีเมียครั้งแรกเมื่อปี 2547

ประสบความสำเร็จมาตลอดแต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากจึงทำเพียง 3-4 รายเท่านั้น ส่วนอัลฟาธาลัสซีเมียเป็นรายแรกและถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและที่สองของโลก รองจากประเทศจีนที่ทำได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเราได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด เพราะเครื่องมือและอุปกรณ์มีราคาสูงกว่า 40 ล้านบาท

"ในต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 300,000-400,000 บาท แต่ในประเทศไทยราคาต่ำกว่ามาก เฉพาะการทำเด็กหลอดแก้วประมาณ 50,000 บาท แม้จะสามารถเลือกเพศเด็กได้แต่เราก็ระมัดระวังที่จะไม่ทำเพราะคำนึงถึงจริยธรรมทางการแพทย์ จึงนับเป็นความก้าวหน้าสูงสุดของประเทศไทย ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการติดต่อได้ที่ชั้น 5 ตึกศรีพัฒน์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-5743" รศ.นพ.ธีระพรกล่าว

นายชานนบิดากล่าวว่า ดีใจที่สุดและครอบครัวขอขอบคุณทีมแพทย์อย่างสูง เพราะน้องเปรมคือผู้สืบทอดสกุลคันธามารัตน์เพียงคนเดียวจริงๆ

นางอัญชลีกล่าวว่า น้องเปรมเป็นความหวังที่รอคอยมานานมาก เพราะท้องและแท้งมาแล้วสองครั้งจึงรู้สึกเศร้าใจที่คิดว่าจะไม่สามารถมีบุตรได้ จึงตัดสินใจทันทีเพื่อเข้าร่วมโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการแถลงข่าว ด.ช.เปรมซึ่งอยู่ในอ้อมกอดของมารดามีสภาพสดชื่นและแข็งแรง ส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่ร้องไห้แต่อย่างใดแม้ว่าจะมีช่างภาพรุมถ่ายภาพอยู่ตลอดเวลาก็ตาม 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์