เพชฌฆาตกลายพันธุ์ยุงลายดื้อยาระบาดโลกร้อนแมลงวันพุ่ง

สธ.วิจัยพบยีนยุงลายดื้อยา ยุงปากน้ำโพครองแชมป์ยอดดื้อ ร้อยละ 73.3 ทำยาฆ่ายุงใช้ไม่ได้ผล เสี่ยงโรคไข้เลือดออกระบาดหนัก

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยเทียบกับปีก่อน พบผู้ป่วยแล้วมากกว่า 2 เท่า ขณะที่ แพทย์ศิริราชเผยแมลงวันเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน เตือนระวังโรคระบาดหลังสงครามกลับมาระบาดใหม่ ทั้งไข้เลือดออกและอหิวาต์ พบวัณโรคดื้อยาภาคอีสานสูงถึงร้อยละ 3 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน มีการประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 16 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นางอุรุญากร จันทร์แสง และคณะจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยุงพาหะนำโรคไข้เลือดออก ด้านความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดแมลง พบว่า จากการเก็บตัวอย่างยุงลายจากจังหวัดที่มีการรายงานการระบาดของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และนครสวรรค์


จากการตรวจสอบพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงระดับยีนที่ทำให้ยุงลายเกิดความต้านทานต่อสารเคมีในกลุ่มไพรีทรอยด์

ด้วยวิธี  PCR-RFLP พบว่า ยุงลายจาก จ.นนทบุรี มีอัตราการดื้อสารเคมี 27% ยุงลายฉะเชิงเทรามีอัตราการดื้อ 58.5% ชลบุรี 59% จันทบุรี 30% ราชบุรี 60% กระบี่ 26% สุราษฎร์ธานี 36% ตาก 30% สุโขทัย 16.7% กำแพงเพชร 50% และนครสวรรค์ 73.3% ผลการศึกษายังพบด้วยว่า การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวยังพบกลุ่มของยุงลายรุ่นต่อๆ ไปที่เป็นยุงลายดื้อยาได้ เนื่องจากพบยีนดื้อแฝงอยู่ในยุงลายกลุ่มนั้น ผลการศึกษาในครั้งนี้จะสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพต่อไป


"ยุงลายที่ดื้อยาสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้ยุงในรุ่นลูกดื้อยาได้ ทางแก้ควรจะใช้จุลินทรีย์แก้ไขหรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง" นางอุรุญากร กล่าว


ดร.สุธี ยกสร้าง โครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า

ยุงพัฒนาตัวเองจนสามารถต้านทานยาฆ่าแมลงได้เหมือนคนที่ดื้อยา เรียกว่าขณะนี้วิธีการฉีดสเปรย์พ่นยุงใช้ไม่ได้ผลแล้ว จะต้องหาแนวทางใหม่ในการกำจัดยุง อย่างไรก็ตามการปรับตัวของพันธุกรรมยุงเป็นไปในทิศทางการต้านทานยาฆ่าแมลงเท่านั้น แต่ไม่ได้ปรับตัวในการนำเชื้อโรคที่รุนแรงขึ้น "ยุงไม่ได้ปรับพันธุกรรมในการนำเชื้อโรคที่รุนแรงขึ้น แต่เป็นพาหะของโรคเช่นเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปคือยาฆ่าแมลงไม่สามารถปราบยุงได้ หรือหากปราบได้ผลก็แค่ชั่วคราวเท่านั้น จึงจะต้องหาวิธีการกำจัดแบบอื่น" ดร.สุธี กล่าว


ทั้งนี้ การดื้อยาของยุงลายอาจทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น

ดร.สุธี ยอมรับว่า เป็นไปได้ว่าจำนวนยุงที่เพิ่มขึ้น เพราะยาฆ่าแมลงปราบไม่ได้จะส่งผลให้มีพาหะนำโรคเพิ่มขึ้น และโรคไข้เลือดออกอาจจะเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นของเชื้อโรคขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งจำนวนยุง โลกร้อน และพฤติกรรมของมนุษย์เอง ด้าน นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นองค์ความรู้ที่มีมานานเกี่ยวกับการดื้อต่อสารเคมียาฆ่าแมลงของยุง เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันป้องกัน โดยประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องให้ความรู้เกี่ยวกับการพ่นสารเคมียาฆ่าแมลงในพื้นที่ หากมีการใช้สารเคมีตัวเดิมพ่นติดต่อกันเป็นเวลานาน 4-10 ปี จะทำให้ยุงเหล่านี้ดื้อต่อสารเคมีได้ ที่ผ่านมาทางกรมได้ให้ความรู้ว่า จะต้องเปลี่ยนสารเคมีในการฉีดพ่น ไม่ว่าจะเป็นยุงหรือแมลงชนิดอื่นๆ ทุก 2 ปี เพื่อไม่ให้แมลงทนต่อสารเคมีเหล่านั้น โดยได้ออกเป็นแนวทางปฏิบัติ ส่วนพื้นที่ใดจะทำตามหรือไม่นั้น กรมไม่สามารถเข้าไปบังคับได้



นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า เดิมทีก่อนที่จะมีการกระจายอำนาจโอนภารกิจกระทรวงให้แก่ท้องถิ่น กรมจะเป็นหน่วยงานลงไปดูแลในการควบคุมยุงและแมลง

เพื่อป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ โดยเป็นผู้กำหนดสารเคมีที่ต้องฉีดพ่น และให้อาสาสมัครสาธารณสุขช่วยฉีดพ่นให้ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.การกระจายอำนาจแล้ว จึงส่งมอบให้แก่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการเอง หากท้องถิ่นใดมีความเข้าใจก็จะเปลี่ยนสารเคมีฉีดพ่นไม่ให้เกิดปัญหา แต่ในบางพื้นที่ที่มีการเลือกตั้งใหม่ มีการเปลี่ยนถ่ายผู้บริหาร และอาจไม่มีการสานต่อหรือไม่ก็ไม่ทราบ "หากยุงดื้อต่อสารเคมีย่อมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากโรคไข้เลือดออกมียุงเป็นพาหะนำโรค หากสารเคมีที่ฉีดพ่นไม่สามารถทำลายยุงตัวแก่ที่วางไข่ได้แล้ว ก็จะทำให้จำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการนำเสนอผลงานวิจัย กรมควบคุมโรคได้ประสานกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงวิธีการกำจัดยุงที่ถูกต้องแล้ว" นพ.ธวัชกล่าว
 

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2551 จนถึงขณะนี้พบผู้ป่วยเป็น 2 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2550

โดยมีรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศทั้งสิ้น 21,080 ราย เสียชีวิต 28 ราย ในจำนวนนี้อยู่ใน กทม. 4 ราย ขณะที่ภาคกลางพบผู้ป่วยมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ สาเหตุการแพร่ระบาดในปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงครบวงจรการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจะระบาด 1 ปี เว้น 2 ปี ขณะเดียวกันปีนี้ยังมีฝนตกลงมามากผิดปกติ ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้มีแหล่งเพาะโรคมากขึ้น ประกอบกับภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หนุนน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูง ก่อให้เกิดน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ ส่วนการดื้อต่อสารเคมียาฆ่าแมลงในยุงนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น สามารถชี้แจงให้หน่วยงานในพื้นที่แก้ปัญหาได้


ขณะที่ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นประโยชน์ต่อการกำจัดยุงลาย พาหะโรคไข้เลือดออกอย่างเหมาะสม เพราะรู้ว่าพื้นที่ใดยุงลายดื้อกลุ่มไพรีทรอยด์ จะได้เลือกใช้สารเคมีกลุ่มอื่นมาทดแทน อีกทั้งหากพบยุงดื้อยากำจัดแมลงหลายพื้นที่ มาตรการควบคุมโรคจะต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม และเพิ่มการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกเป็นพิเศษ นอกจากนี้ การใช้สารเคมีกำจัดยุง เพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออกเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถควบคุมโรคได้ทั้งหมด ต้องดำเนินการควบคู่กับการกำจัดยุงอื่นๆ ด้วย เช่น การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง


นพ.บัวเรศ ศรีประทักษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า

ที่ผ่านมาสถานการณ์ระบาดของโรคไข้เลือดออกในนครสวรรค์ยังอยู่ในค่าเฉลี่ยปกติของประเทศ บางปีก็ระบาดมากบางปีก็ระบาดน้อย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละปี ส่วนจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เสียชีวิตนั้นก็ประมาณร้อยละ 0.2 หากมีผู้ป่วยประมาณ 500 คน จะเสียชีวิต 1 คน ซึ่งตนยังไม่เคยทราบข้อมูลมาก่อนว่ายุงลายของนครสวรรค์ มีความต้านทานต่อสารเคมีในกลุ่มไพรีทรอยด์ มากถึงร้อยละ 73 หากเป็นความจริงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องมาพูดคุยกันว่า ควรจะเปลี่ยนไปใช้สารเคมีกลุ่มใดในการกำจัดยุงลาย เพราะกลุ่มไพรีทรอยด์ถือเป็นกลุ่มที่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์มากที่สุด หรืออาจยังใช้กลุ่มไพรีทรอยด์เพียงแต่ต้องเปลี่ยนสูตรสารเคมีที่ใช้


"ทุกปีนครสวรรค์จะมีการรณรงค์ให้กำจัดยุงลาย โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนธันวาคม จะเป็นช่วงที่กวาดล้างแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ส่วนระยะที่ไข้เลือดออกระบาดจะอยู่ในช่วงนี้คือช่วงฤดูฝน และปีที่แล้วก็มีการสารเคมีกลุ่มไพรีทรอยด์ เพื่อกำจัดยุงลายไปแล้ว ส่วนปีต่อไปคงต้องมีการพิจารณากันใหม่ตามผลวิจัยที่ออกมา ทั้งนี้ การที่ยุงลายดื้อต่อสารเคมีตัวใดนั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสที่อยู่ในต่อมน้ำลายของยุงลาย มนุษย์ไม่ได้สัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับสารเคมีตัวนี้ผ่านทางยุงลายแต่อย่างใด"
นพ.บัวเรศกล่าว



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์