ปิดเทอมฮิตฝึกภาษาเมืองนอกโดนหลอกปล่อยลอยแพ

นักศึกษาฮิตปิดเทอมฝึกภาษาเมืองฝรั่งบริษัททัวร์เก็บหัวละแสน พร้อมหางานให้ เผยมีทั้งถูกหลอกจากคนครัวมาขัดส้วม โดนโกงค่าจ้าง แถมนายหน้าฝรั่งขู่ลอยแพ แฉสุดเสี่ยงมีนักศึกษาตายแล้ว 2 ราย
 

ค่านิยมไปเรียนภาษาเมืองนอกระหว่างปิดเทอมกำลังเป็นที่นิยมของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ

ขณะที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งแม้ไม่มีเงินจ่ายค่าเรียนก็พยายามดิ้นรนไปเพื่อหาประสบการณ์ กลายเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ของบริษัททัวร์บางแห่ง โดยจัดโครงการทำงานและท่องเที่ยวในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน หรือ เวิร์กแอนด์ ทราเวล (Work And Travel : WAT) ปรากฏว่ามีนิสิตนักศึกษาหลายคนถูกหลอกให้เสียเงินและตกทุกข์ในต่างแดนโดยไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องความรับผิดชอบจากหน่วยงานใด
 

น.ส.เอ(นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเวิร์ก แอนด์ ทราเวล ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา 

เมื่อช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนปี 2550 ที่ผ่านมาแล้วถูกหลอก โดย น.ส.เอ เข้าไปค้นหาบริษัทตัวแทนเอกชนจากเว็บไซต์ กระทั่งค้นพบบริษัทแห่งหนึ่งที่มีความน่าเชื่อถือ จึงยอมเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการกว่า 1 แสนบาท โดยเลือกทำงานเป็นพนักงานร้านอาหาร แต่เมื่อไปถึงสหรัฐกลับถูกเปลี่ยนให้มาทำหน้าที่พนักงานช่วยชีวิตในสระว่ายน้ำตามโรงแรมในรัฐเวอร์จิเนียแทน
 

แม้น.ส.เอ จะพยายามปฏิเสธ แต่นายจ้างก็ยังยืนยันที่จะให้ทำหน้าที่ใหม่ โดยอ้างว่างานไม่ลงตัว 

และก่อนเข้าทำงานมีการทดสอบว่ายน้ำ ซึ่งก็สอบผ่านได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แม้จะว่ายน้ำไม่เก่งเลยก็ตาม พร้อมกันนี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยอมรับว่า ประสบการณ์ในโครงการเวิร์ก แอนด์ ทราเวล แทบไม่ได้อะไรเลย ที่คาดหวังว่าจะได้ภาษาก็ไม่ได้ เพราะทำงานในสระว่ายน้ำแทบจะไม่ได้สื่อสารอะไรเลย ลูกค้าเข้ามาก็แค่พูดไฮ (Hi) หรือฮาว อาร์ ยู แค่นี้ สมมติถามว่าผ้าเช็ดตัวอยู่ไหนก็แค่ชี้ไปว่าอยู่ไหน ส่วนเงินก็ไม่ได้ แถมเที่ยวได้แค่นิดหน่อยเท่านั้น 

"เสียค่าสมัครไปกว่า 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการซื้อของก่อนไปร่วม 1.5 แสนบาท นำเงินติดตัวไปด้วย 3 หมื่นบาท พอจบโครงการ 3 เดือน ได้เงินกลับมาแค่ 500-600 ดอลลาร์สหรัฐ (17,000-20,400 บาท) นายจ้างติดค้างค่าจ้างงวดสุดท้ายอีก 500 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อทวงถามก็ได้รับคำตอบว่ากำลังตามให้อยู่" น.ส.เอ กล่าว
 

น.ส.เอบอกด้วยว่า

มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นลูกคนมีฐานะในเมืองไทยสมัครเป็นคนครัว ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (340 บาท) แต่พอไปถึงสหรัฐกลับถูกเปลี่ยนหน้าที่ให้เป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมระดับ 3 ดาว และได้ค่าแรงเพียงชั่วโมงละ 6 ดอลลาร์สหรัฐ (204 บาท) เท่านั้น เนื่องจากเป็นโรงแรม 3 ดาว ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาแตกต่างไปจากโรงแรม 5 ดาวมาก เพราะมักจะทำความสกปรกทิ้งไว้เสมอ

"เพื่อนถึงกับร้องไห้เลยนะ เขาไม่รู้ว่าจะไปทำไม ต้องไปปัดกวาดเช็ดถูทุกอย่าง ทำไปร้องไห้ไป เพราะตอนแรกสมัครไปเป็นคนครัว อยู่ดีๆ ให้ไปขัดส้วมเก็บเตียงก็ร้องไห้" น.ส.เอ เล่า
 

น.ส.ดาว(นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ก็แทบไม่ต่างไปจาก น.ส.เอ ที่เข้าร่วมโครงการเวิร์ก แอนด์ ทราเวล 

เมื่อช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนปี 2550 เช่นเดียวกัน โดยสมัครกับบริษัทตัวแทนเอกชนแห่งหนึ่งย่านรัชโยธิน กทม.และเลือกงานทำคามสะอาดในโรงแรมรัฐเวอร์จิเนีย แต่เนื่องจากติดสอบปลายภาคจึงตามไปสมทบกับเพื่อนนักศึกษาที่เดินทางไปก่อนหน้าแล้ว 15 คน เมื่อไปถึงสหรัฐก็ได้พบกับนักศึกษากลุ่มนี้ หลายคนไม่มีงานทำ ตกงานอยู่หลายสัปดาห์ เพราะนายจ้างเลือกไปทำงานเพียง 5 คนเท่านั้น พร้อมกับบอกที่เหลือให้รอไปก่อน
 

ต่อมาน.ส.ดาว และเพื่อนๆ ตัดสินใจไปทำงานกับนายหน้าชาวรัสเซียแทน 

โดยทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมตามที่ตั้งใจเอาไว้ แต่ปรากฏว่านายหน้าคนเดิมติดต่อไปยังบริษัทตัวแทนในไทย จึงถูกขู่ว่าจะตัดวีซ่าหากไม่ยอมทำงานกับนายหน้าคนเดิม ตรงกันข้ามหากนักศึกษามีปัญหาติดต่อกลับบริษัทตัวแทนในไทย พนักงานมักจะปิดเครื่องหนี หรือไม่ก็อ้างว่าในสัญญาระบุว่าบริษัทจะยุติความรับผิดชอบระหว่างก่อนออกเดินทางเท่านั้น เมื่อส่งขึ้นเครื่องแล้วจะมีนายหน้าที่สหรัฐเป็นผู้รับผิดชอบแทน  

"นายจ้างไม่รับผิดชอบ เมื่อไปทำงานแล้วไม่สนใจเราเลยว่า เราทำงานได้หรือเปล่า ก่อนไปดีกับเรามาก แต่เมื่อไปถึงบริษัทในไทยไม่ดูแลเราเลย ตอนมีปัญหาฉันเลยเปลี่ยนไปทำงานร้านสะดวกซื้อแทน ไม่ต้องขึ้นตรงกับนายหน้า แล้วได้งานเสริมที่ร้านพิซซ่าด้วย ไม่เช่นนั้นค่าใช้จ่ายจะไม่พอ" น.ส.ดาว กล่าว
 

ด้านน.ส.ธัญญาภรณ์ จันทรเวช ผู้ประสานงานวิชาการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า 

ที่ผ่านมามีนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเสียชีวิตแล้ว 2 ราย รายแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ระหว่างทำงานในสวนสนุกแห่งหนึ่งในสหรัฐ ทางสวนสนุกอ้างว่าไม่ใช่ความผิดของสวนสนุก เพราะก่อนเริ่มงานต้องตรวจสอบความเรียบร้อยของรางรถไฟเหาะ เป็นทางเดินเล็กๆ ให้ตรวจสอบได้ แต่เด็กกลับไม่เดิน ทำให้ผู้ร่วมงานอีกคนที่ไม่รู้ปล่อยรถลงมาชนจนเสียชีวิต แต่ก็มีการชดใช้ให้ตามวงเงินประกันชีวิตที่สหรัฐ
 

ส่วนอีกรายเกิดขึ้นกลางปี2549 

เด็กนักศึกษาคนหนึ่งถูกรถชนเสียชีวิตขณะเดินเที่ยวอยู่ในนครลอสแองเจลิสคาสี่แยกไฟแดงก่อนกลับประเทศไทยไม่นาน ส่วนอีกรายได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขณะเดินอยู่บนถนน เนื่องจากไม่ชินกับการเดินรถที่วิ่งเลนขวาผิดไปจากประเทศไทย
 

น.ส.ธัญญาภรณ์เจ้าของวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาสังคมวิทยามหาบัณฑิต 

เรื่อง "ชีวิตข้ามแดนกับโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ : โลกาภิวัตน์ในประสบการณ์ของเยาวชน"  คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เขียนหนังสือ "Work & Travel เสี่ยงบริสุทธิ์ขุดคุ้ยเส้นทางท่องเที่ยวเชิงกรรมกร" ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งซึ่งเคยสัมภาษณ์นักศึกษาที่ถูกให้ออกจากโครงการและส่งตัวกลับประเทศไทยภายใน 24 ชั่วโมง สาเหตุเพราะไม่ได้ไปรายงานตัวกับองค์กรแลกเปลี่ยนเมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐ ทำให้ไม่มีชื่ออยู่ในระบบวีซ่า เท่ากับเงินลงทุนกว่า 1 แสนบาทสูญเปล่าทันที ดังนั้น นักศึกษาต้องรีบรายงานตัวภายใน 10 วัน 

"ปัญหาเกิดตรงที่มันเกินความคาดหวังของเด็กไทยมาก เด็กไทยจะมองนักเรียนแลกเปลี่ยนเป็นอะไรที่สนุกสวยหรู ความจริงเป็นตรงกันข้าม เป็นแรงงานที่เด็กไทยคาดไม่ถึง นักศึกษาไปทำงานมาเอาเงิน เพราะฉะนั้นเขาจะไม่มองคุณเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน แต่มองว่ามาขายแรงงาน" น.ส.ธัญญาภรณ์  กล่าว
 

ผู้ประสานงานวิชาการมสช. บอกด้วยว่า 

เมื่อเด็กไปแล้วเจอปัญหาไม่ได้รับความช่วยเหลือก็จะร้องมายังบริษัทตัวแทนเอกชน เพราะคิดว่าบริษัทเหล่านี้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ความจริงแล้วบริษัทตัวแทนไม่มีอำนาจในไทย ทำให้ผู้ปกครองถึงกับบุกไปบริษัทตัวแทนเยอะมาก ส่วนกรณีที่นายหน้าขู่ตัดวีซ่านั้น นายจ้างก็มีสิทธิบอกได้ว่าเด็กไม่ทำตามสัญญา และขึ้นอยู่กับองค์กรแลกเปลี่ยนที่จะตัดสินว่า ถ้าเด็กอยู่กับนายจ้างแล้วไม่ได้รับความยุติธรรมก็สามารถย้ายที่ทำงานได้ แต่ต้องยกเลิกสัญญาและทำสัญญาใหม่ โดยติดต่อกับองค์กรแลกเปลี่ยนที่สังกัดอยู่
 

ทั้งนี้โครงการทำงานและท่องเที่ยวช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่รัฐบาลสหรัฐอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้าประเทศได้ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน (cultural exchange visitor) โดยจะได้รับวีซ่า J-1 ที่เป็นวีซ่าสำหรับการศึกษาแลกเปลี่ยน ผู้เข้าร่วมโครงการจะทำงานตามสัญญาการจ้างงานระยะสั้นและท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 4 เดือน
 

ผู้เข้าร่วมต้องมีสถานภาพเป็นนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทได้รับค่าแรง 6-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (204-272 บาท) 

สามารถทำงานได้สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวมทั้งยังสามารถหางานอื่นๆ ทำได้อีกในเวลาว่างหลังสิ้นสุดการทำงานตามสัญญาจ้าง ทั้งนี้ จากการประมาณการของการขอวีซ่าที่สถานทูตในปี 2548 พบว่ามีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ 1 หมื่นคนต่อปี ด้วยการทำกิจกรรมด้านการตลาดหลากหลายรูปแบบ และการเข้าไปเชิญชวนตามสถานศึกษาทั้งใน กทม.และภูมิภาคต่างๆ
 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์