จิตแพทย์ เผยประเด็นเด็กช่างตีกัน แนะวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้


จิตแพทย์ เผยประเด็นเด็กช่างตีกัน แนะวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กอาชีวะ ช่างกล ที่เกิดขึ้นในสังคมบ่อยในระยะนี้ ว่า เบื้องต้นเราต้องเข้าใจก่อนว่า พื้นฐานของเด็กแต่ละคนต่างกัน ทั้งเรื่องวุฒิภาวะ ความคิด สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้นทุนด้านระบบความคิดมีผลต่อการกระทำของแต่ละคน โดยเฉพาะวัยรุ่นต่างต้องการจะมีตัวตนในสังคม จึงส่วนนี้จะต้องมีบางอย่างที่ผูกโยงกันเป็นเครือข่าย จนเกิดเป็นความภูมิใจที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความภูมิใจที่เกิดขึ้น ควรมีคุณค่าที่ดีต่อสังคม แต่หากเกิดการยึดติดกับอะไรบางอย่างเพียงอย่างเดียวอาจจะเกิด "ความหลง" จึงเกิดเป็นประเด็นที่ว่าอยู่สถาบันไหนที่ทำให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจ

"ส่วนการที่จะแสดงออกมานั้น จะต้องอาศัยคนรุ่นก่อนหน้าที่จะเป็นโมเดลที่ดีให้เด็กรุ่นน้อง มีพฤติกรรมทางบวกให้กับสังคม แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับรุ่นพี่ทั้งหมด เพราะความรุนแรงมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การลอกเลียนแบบ ต้นทุนที่เป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจ การบ่มเพาะในครอบครัวในการไม่ใช่ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่ใช้การเจรจาสื่อสารในการสอน ดังนั้น พื้นฐานครอบครัวจึงเป็นอันดับแรก ต่อมาก็เป็นระบบโรงเรียน ระบบรุ่นพี่ ดังนั้นไม่ใช่แค่ปัจจัยรุ่นพี่อย่างเดียว เพราะหากเด็กที่มีต้นทุนที่ดี ต่อให้รุ่นพี่ทำไม่ดี เด็กก็ไม่ทำตาม" นพ.พงศ์เกษมกล่าว



ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในมุมของจิตวิทยาวัยรุ่นไม่มีความซับซ้อนอะไร เป็นเพียงวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ของตนเอง ว่าเราเป็นใคร ดังนั้นการที่เราเป็นใครซักคน เป็นส่วนหนึ่งของอะไรซักอย่าง ก็ทำให้วัยรุ่นรู้จักความเป็นตัวเองของเขาได้ดีขึ้น นี่เป็นพัฒนาการของวัยรุ่นในช่วงหนึ่ง ทั้งนี้ การค้นหาอัตลักษณ์ หาตัวตนของเขา รวมถึงค่านิยมในสังคมที่เขาอยู่

"การที่สถาบันหนึ่งจะสร้างความเป็นสถาบันของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่น ความสามัคคี เป็นมิติด้านสังคม แต่การส่งต่อค่านิยมจากรุ่นสู่รุ่น อาจไปกระทบการค้นหาตัวเองของวัยรุ่นที่อาจไม่เข้าใจแล้วเกิดการตีความผิดๆ ว่า ค่านิยม ศักดิ์ศรีของสถาบันที่ต้องยึดถือ แปลว่าเราต้องยึดเป็นตัวเรา ไม่ให้ใครมาแตะต้อง นี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนของรุ่นวัย เพราะไม่มีค่านิยมของสถาบันที่อยากสร้างขึ้นมาเพื่อการทำลายล้าง ค่านิยมจริงๆ เป็นของดี แต่ถูกตีความผิดจากการค้นหาอัตลักษณ์ของวัยรุ่นที่เขาไม่เข้าใจ หรือตรงค่านิยมที่ดีงาม" พญ.ดุษฎีกล่าว



เมื่อถามว่าการที่มีข่าวเกี่ยวกับเด็กที่ใช้ความรุนแรง แล้วมักจะเกิดความรุนแรงในลักษณะคล้ายกันต่อมา เกิดจากสาเหตุใด พญ.ดุษฎีกล่าวว่า เป็นลักษณะการลอกเลียนแบบ (Copy Cat) ฉะนั้นเวลามีการสื่อสารเรื่องนี้ก็จะเป็นการส่งต่อแนวคิดความรุนแรง ที่จะเกิดการลอกเลียนแบบความรุนแรง

ถามต่อว่าเด็กที่ก่อเหตุแล้วออกข่าวอาจรู้สึกว่า ตัวเองเท่ และมีความภูมิใจ ฉะนั้น สื่อควรจะนำเสนอข้อมูลอย่างไร พญ.ดุษฎีกล่าวว่า สื่อสามารถสื่อสร้างได้เลยว่า ความรุนแรงไม่ใช่ความเท่ และความนิยมของสถาบันก็ไม่ใช่ความผิด จึงไม่ควรมีการตีตราสถาบันหรือตัวเด็กที่ก่อความรุนแรง แต่สิ่งที่เราควรตีตราคือ "ความรุนแรง" อย่างไรก็ตาม สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตนยืนยันว่า ความรุนแรงไม่เคยถูกแก้ไขด้วยความรุนแรงได้ ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่การประณามโจมตี เพราะเราไม่สามารถการันตีได้ว่าเมื่อเจ็บตัว หรือทำให้อายแล้ว แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ซึ่งบางครั้งอาจจะได้ผลแต่ก็จะมีผลข้างเคียงตามมาด้วย



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์