จิตแพทย์ เผยประเด็นเด็กช่างตีกัน แนะวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้
"ส่วนการที่จะแสดงออกมานั้น จะต้องอาศัยคนรุ่นก่อนหน้าที่จะเป็นโมเดลที่ดีให้เด็กรุ่นน้อง มีพฤติกรรมทางบวกให้กับสังคม แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับรุ่นพี่ทั้งหมด เพราะความรุนแรงมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การลอกเลียนแบบ ต้นทุนที่เป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจ การบ่มเพาะในครอบครัวในการไม่ใช่ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่ใช้การเจรจาสื่อสารในการสอน ดังนั้น พื้นฐานครอบครัวจึงเป็นอันดับแรก ต่อมาก็เป็นระบบโรงเรียน ระบบรุ่นพี่ ดังนั้นไม่ใช่แค่ปัจจัยรุ่นพี่อย่างเดียว เพราะหากเด็กที่มีต้นทุนที่ดี ต่อให้รุ่นพี่ทำไม่ดี เด็กก็ไม่ทำตาม" นพ.พงศ์เกษมกล่าว
"การที่สถาบันหนึ่งจะสร้างความเป็นสถาบันของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่น ความสามัคคี เป็นมิติด้านสังคม แต่การส่งต่อค่านิยมจากรุ่นสู่รุ่น อาจไปกระทบการค้นหาตัวเองของวัยรุ่นที่อาจไม่เข้าใจแล้วเกิดการตีความผิดๆ ว่า ค่านิยม ศักดิ์ศรีของสถาบันที่ต้องยึดถือ แปลว่าเราต้องยึดเป็นตัวเรา ไม่ให้ใครมาแตะต้อง นี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนของรุ่นวัย เพราะไม่มีค่านิยมของสถาบันที่อยากสร้างขึ้นมาเพื่อการทำลายล้าง ค่านิยมจริงๆ เป็นของดี แต่ถูกตีความผิดจากการค้นหาอัตลักษณ์ของวัยรุ่นที่เขาไม่เข้าใจ หรือตรงค่านิยมที่ดีงาม" พญ.ดุษฎีกล่าว
ถามต่อว่าเด็กที่ก่อเหตุแล้วออกข่าวอาจรู้สึกว่า ตัวเองเท่ และมีความภูมิใจ ฉะนั้น สื่อควรจะนำเสนอข้อมูลอย่างไร พญ.ดุษฎีกล่าวว่า สื่อสามารถสื่อสร้างได้เลยว่า ความรุนแรงไม่ใช่ความเท่ และความนิยมของสถาบันก็ไม่ใช่ความผิด จึงไม่ควรมีการตีตราสถาบันหรือตัวเด็กที่ก่อความรุนแรง แต่สิ่งที่เราควรตีตราคือ "ความรุนแรง" อย่างไรก็ตาม สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตนยืนยันว่า ความรุนแรงไม่เคยถูกแก้ไขด้วยความรุนแรงได้ ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช่การประณามโจมตี เพราะเราไม่สามารถการันตีได้ว่าเมื่อเจ็บตัว หรือทำให้อายแล้ว แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ซึ่งบางครั้งอาจจะได้ผลแต่ก็จะมีผลข้างเคียงตามมาด้วย