เด็กไทยชอบรังแกติดอันดับ 2 ของโลก

นักวิชาการชี้ ประเทศไทยครองแชมป์อันดับ 2 มีนักเรียนประถมและมัธยมถูกเพื่อนนักเรียนรังแกถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่นที่มีนักเรียนถูกรังแกสูงถึงร้อยละ 60

เผยเด็กที่ถูกรังแกจะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ขณะที่นักเรียนที่เป็นผู้รังแกจะเคยชินกับการละเมิดกฎ โตขึ้นจะเสี่ยงต่อการเป็นอันธพาลเอาความรุนแรงไปใช้ในครอบครัว กลายเป็นวัฏจักรทำให้ลูกเคยชินกับความรุนแรงด้วย ครูจำนวนมากที่ยังไม่เห็นว่าการรังแกกันเป็นปัญหาใหญ่

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมปฏิบัติการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนักเรียน


โดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อาทิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าร่วมประชุมพร้อมผู้บริหารของ สพฐ.และผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า

ถ้าดูจากข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมรังแกกันใน โรงเรียนของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหานี้เช่นกัน พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศญี่ปุ่นมีนักเรียนร้อยละ 60 ถูกรังแก ถัดมาเป็นประเทศอังกฤษและอเมริกา ประมาณร้อยละ 20-25 ซึ่งมีปัญหานักเรียนรังแกกันได้ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น ปัญหานักเรียนฆ่าตัวตายเพราะทนความกดดันที่ถูกรังแกไม่ไหว ในญี่ปุ่นมีนักเรียนฆ่าตัวตายจำนวนมาก เดือนที่แล้วมีประมาณ 4-5 ราย ขณะที่ประเทศอังกฤษมีนักเรียนฆ่าตัวตาย เพราะถูกรังแกทุกปี

สำหรับผลสำรวจปัญหานักเรียนรังแกกันของประเทศไทยนั้น เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2549

โดยใช้แบบสอบถามถามความเห็นครู 1,300 คน และนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3,047 คน โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่ พบว่าปัญหาการรังแกกันของนักเรียนในโรงเรียนระดับประถมปลาย และ ม.ต้น อยู่ในอันดับสูงทั่วประเทศ โดยนักเรียนร้อยละ 40 เคยถูกรังแก เดือนละ 2-3 ครั้ง หรือบ่อยกว่านั้น ซึ่งจะเกิดมากที่สุดในเด็กชั้น ป.4 และลดตามระดับชั้นที่สูงขึ้น และเกิดขึ้นกับทั้งเด็กชายและหญิงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน เว้นในชั้น ป.5 และ ม.1 ที่เด็กชายจะถูกรังแกมากกว่า
 
พฤติกรรมการรังแกกันของทุกภูมิภาค จะอยู่ในรูปของการทำร้ายด้วยวาจามากที่สุด

เช่น ล้อเลียนให้อับอาย การแสดงความเหยียดหยามดูถูกเชื้อชาติหรือผิวพรรณ ยกเว้นในภาคตะวันออก ส่วนรองลงมา คือ การรังแกด้วยการแย่งเงินและของใช้ และการข่มขู่บังคับ ซึ่งนักเรียนชายจะมีพฤติกรรมการรังแกใน 2 เรื่องนี้มากกว่านักเรียนหญิง ทั้งนี้ได้จัดอันดับสถานที่และเวลาที่มักเกิดการรังแก 5 อันดับ คือ 1.ในห้องเรียนเวลาที่ครูไม่อยู่ 2.เวลานักเรียนอยู่ตามทางเดินหน้าห้องเรียนหรืออยู่บนบันได 3.บริเวณสนามโรงเรียน 4.โรงอาหาร และ 5.ในห้องเรียนต่อหน้าครู


ทั้งนี้ ปัญหาเด็กรังแกกันมีผลกระทบอย่างลึกกับเด็ก

เด็กที่ถูกรังแกจะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ขณะที่นักเรียนที่เป็นผู้รังแก จะเคยชินกับการละเมิดกฎ โตขึ้นจะเสี่ยงต่อการเป็นอันธพาลเอาความรุนแรงไปใช้ในครอบครัวกลายเป็นวัฏจักร ทำให้ลูกเคยชินกับความรุนแรงด้วย อย่างไรก็ตาม ครูจำนวนมากที่ยังไม่เห็นว่าการรังแกกันเป็นปัญหาใหญ่ ผลสำรวจข้างต้นพบว่า ครูร้อยละ 89 เคยเห็นนักเรียนมีพฤติกรรมรังแกเพื่อน โดยร้อยละ 25 บอกเคยเห็นมากกว่า 10 ครั้ง แต่เมื่อถามว่า “เมื่อนักเรียนถูกรังแก ครูประจำชั้นเคยพยายามห้ามหรือหยุดการกระทำเช่นนั้นบ่อยแค่ไหน” ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 41.2 ตอบว่า ช่วยเหลือ “ค่อนข้างน้อย” หรือ “แทบจะไม่เคยทำอะไร” เพื่อหยุดการรังแก ขณะที่ผู้ปกครองเองจะไม่ค่อย ตระหนักหรือสนใจ เพิกเฉย หรือไม่ให้ความช่วยเหลือ

"ควรจะมีนโยบายเฉพาะเพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรง และในห้องเรียนควรจะมีกฎห้ามใช้ความรุนแรง ห้ามรังแกกัน สร้างวัฒนธรรมไม่ยอมรับการข่มเหง รังแก เพื่อให้คนที่รังแกอยู่ไม่ได้ แต่ครูและผู้ปกครองในปัจจุบันไม่สนใจเรื่องนี้และไม่ตระหนักว่านี่คือปัญหาใหญ่”
ผศ.ดร.สมบัติ กล่าว

นพ.ประเวศ ตันติพิวัฒนสกุล ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต สธ. กล่าวว่า

จริงๆ แล้วระบบดูแลและช่วยเหลือนักเรียน เป็นวิธีการแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนที่ดีแล้ว แต่โรงเรียนยังนำมาใช้ไม่ครอบคลุม และมักทำแบบแยกส่วน ซึ่งถ้าเราแยกส่วนทำจะไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็นนำเด็กไปเข้าค่าย อบรมปรับเปลี่ยน พฤติกรรม แม้กระทั่งเข้าค่ายทหาร พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และอาจจะทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้น ในกรณีอยู่ค่ายทหาร รวมทั้งการพาเด็กไปเยี่ยมนักโทษ แม้จะดูเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ไม่ได้ผลหากจะให้เด็กปรับพฤติกรรม รวมถึงการให้ครูออกไปเยี่ยมบ้านด้วย เพราะฉะนั้น จะแก้ปัญหาความรุนแรงให้ได้ผลจะต้องทำพร้อมกัน หลายๆ อย่าง ทั้งการพัฒนาทักษะชีวิต หาครอบครัวที่ดีให้เด็ก เพราะเด็กที่มี ปัญหา เด็กเกเรจะมาจากครอบครัวที่มีปัญหาด้วย ต้องเข้าไปเยียวยาครอบครัวของเด็ก จนครอบครัวสามารถที่จะร่วมมือกับโรงเรียนแก้ปัญหานี้

นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากเน้นให้โรงเรียนพัฒนาก็คือ การพัฒนาการสอนทักษะการดำเนินชีวิตให้เด็ก

ซึ่งถ้าเด็กมีทักษะในการดำเนินชีวิตจะแก้ปัญหาได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายกัน หรือการทำร้ายตัวเอง และควรจะให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับระบบดูแลนักเรียน และให้เด็กมาคุยและสร้างค่านิยม ความคาดหวังกันขึ้นมาเอง ซึ่งหากเขาสร้างขึ้นมาเองเขาจะทำตามสิ่งนั้นมากกว่าที่คนภายนอกจะบอกให้ทำ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาเด็กรังแกกันเองในปัจจุบันมีเยอะมาก พบในหลายโรงเรียน แต่ที่สังคมรับรู้ยังเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำเท่านั้น ที่อยู่ใต้น้ำและยังมองไม่เห็นมีอีกจำนวนมาก ซึ่งจากการสำรวจข้อมูล พบว่า ปัญหาความรุนแรงมีแทบทุกโรงเรียน โดยเฉพาะปัญหาเด็กรังแกกันเอง แต่โรงเรียนยังไม่มีกระบวนการให้การช่วยเหลือ ทั้งที่เด็กที่ถูกรังแกจะมีผลกระทบต่อจิตใจเด็กมาก

คุณหญิงกษมา กล่าวว่า สพฐ.ต้องการให้ ผอ.สพท.นำผู้บริหารสถานศึกษามาเข้ารับการพัฒนาให้เข้าใจเรื่องจิตวิทยาวัยรุ่น

การสร้างวินัยเชิงบวก การเพิ่มคุณค่าให้กับเด็ก เพื่อให้ผู้บริหารเหล่านี้สามารถสร้างแนวทางแก้ปัญหาในสถานศึกษาของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ก็จะพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนต่อ พร้อมประเมินผลเพื่อให้ระบบดังกล่าวเป็นระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนจริงๆ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สพฐ.ได้สุ่มสำรวจความเห็นในเรื่องปัญหานักเรียนจากผู้บริหาร สพท. และผู้บริหารสถานศึกษาจาก 4 ภูมิภาค จำนวน 489 ราย พบว่า กลุ่มผู้บริหารระบุว่า พื้นที่เขามีปัญหาหนีเรียนและโดดเรียนของนักเรียนเป็นปัญหาสำคัญและมีความรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 18.2 รองลงมาคือ ปัญหาการสูบบุหรี่และดื่มของมึนเมาของนักเรียน ร้อยละ 17.9 ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน ร้อยละ 13.6 ปัญหาการเล่นเกม คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 13.9 และปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ร้อยละ 12.6


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์