บริโภคนํ้าลูกยอ ระวังอันตราย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค เปิดเผยว่า


ปัจจุบันน้ำลูกยอ น้ำพลูคาว กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มคนรักสุขภาพ คิดเป็นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์ ดังกล่าวผลิตโดยการหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในวัตถุดิบ ตามธรรมชาติ  มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น น้ำสมุนไพรชีวภาพ น้ำจุลินทรีย์ น้ำสกัดชีวภาพ น้ำไอออนิกพลาสมา แต่ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยและสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ ยังไม่แน่ชัด 


จากสาเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของชุดโครงการวิจัยและพัฒนาน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค

โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ศพช.อย.)  ได้วิจัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา ผลการวิจัยพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีคุณประโยชน์จากพืชหรือสมุนไพรที่ใช้จริง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรค เช่น เชื้อที่ทำให้เจ็บคอ เชื้อที่ทำให้กระเพาะอาหาร อักเสบเรื้อรัง เชื้อตามผิวหนังที่ก่อแผลพุพอง เชื้อที่ทำให้ ท้องร่วง เชื้อที่ทำให้เหม็นเน่า ฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากกรดน้ำนม หรือกรดแล็กติก ที่เกิดจากกระบวนการหมักพืชเหล่านั้นด้วยจุลินทรีย์กลุ่มที่สร้างกรดแล็กติก เช่น จุลินทรีย์ แล็กโตบาซิลลัส ที่รู้จักกันดี ซึ่งมีอยู่ในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต


จุลินทรีย์บางตัวในกลุ่มนี้ช่วยย่อยอาหาร สร้างสารอาหารพวกวิตามินบี และวิตามินเค

ช่วยดูดซึมสารอาหารและช่วยระบบขับถ่าย เมื่อรับประทานไปจะไปเกาะผนังลำไส้ใหญ่ ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันผ่านระบบน้ำเหลืองที่มายังผนังลำไส้ได้ นอกจากนี้ บางชนิดยังยับยั้งการเปลี่ยนไนโตรเจนจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ไม่ให้กลายเป็นสารก่อมะเร็งในลำไส้ได้ด้วย จึงเรียกว่าเป็นจุลินทรีย์เสริมชีวนะ หรือในต่างประเทศคือ จุลินทรีย์ โปรไบโอติก  


“ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย มีการผลิตมาก่อนแล้ว โดยการนำพืช ผัก ผลไม้ มาหมัก ทำให้ไม่ต้องใช้ สารเคมีกันเสียในการถนอมอาหาร เมื่อบริโภคก็ได้ ประโยชน์ทั้งจากพืชผัก และจุลินทรีย์แล็กติกดังกล่าว แต่หากใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ถูกต้องก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพได้ โดยเฉพาะการผลิตขนาดใหญ่ๆ มีปัจจัยที่ต้องควบคุมการปนเปื้อนมากขึ้น ไม่ว่าจากขนาดภาชนะหมักที่ใหญ่ ขึ้น พื้นที่ผิวที่มากขึ้น น้ำหนักกดทับที่มากขึ้น ล้วนแต่ ส่งผลต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่ต่างไป หากมีพื้นที่ผิวสัมผัสกับอากาศมากขึ้น ก็จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อปนเปื้อนได้ง่ายขึ้น ถ้าหากควบคุมการผลิตไม่ดีพอ” หัวหน้างานวิจัยกล่าว 


ผศ.ดร.ไชยวัฒน์กล่าวต่ออีกว่า ผลจากการวิจัยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่มีจำหน่ายในท้องตลาดกว่า 70 ตัวอย่าง


พบว่า มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ปนเปื้อนในปริมาณเกินกว่าร้อยละ 0.5 ตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท นอกจากนี้ในจำนวนกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังพบเมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งห้ามบริโภคปริมาณเกินข้อกำหนดขององค์การอาหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อีกด้วย ผลิตภัณฑ์อีกบางส่วนยังพบการปนเปื้อนของเชื้อรา ซึ่งการปนเปื้อนทางเคมี และชีวภาพดังกล่าว  จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผู้บริโภคที่บริโภคเป็นระยะเวลายาวนานอย่างต่อเนื่อง อาจจะสะสมและเกิดเป็นสารอัลดีไฮน์ในร่างกายโดยเฉพาะที่ตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่สลายเมทานอลปนเปื้อนดังกล่าว เสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่นๆ ตามมาในระยะยาว เช่น มะเร็งตับ เป็นต้น 


ดังนั้น ผู้ผลิตที่เข้าใจและใส่ใจในเรื่องสุขลักษณะที่ดีในการผลิต ก็สามารถผลิตน้ำลูกยอหมัก น้ำพลูคาวหมัก หรือน้ำสมุนไพรหมักอื่นๆได้อย่างปลอดภัย และมีคุณภาพ

ผู้บริโภคเองก็ควรศึกษาและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน จึงจะได้ประโยชน์จากการบริโภคอย่างแท้จริง อาจดูจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนน้ำหมักพืช (มผช 481/2547) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรม ออกให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน โดยมีการตรวจสอบเอทานอล เมทานอล และเชื้อก่อโรค จัดเป็นมาตรฐานเดียวของผลิตภัณฑ์น้ำหมักพืช ที่รับรองโดยทางการ เป็นเกณฑ์หนึ่งที่ทำให้เชื่อมั่นได้ในเรื่องของความปลอดภัยในการบริโภค
 

“อย่างไรก็ตาม ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรที่โฆษณาว่าใช้ หรือมีจุลินทรีย์โปรไบโอติก และอ้างว่า มี อย.รับรองในฐานะเป็นเครื่องดื่ม หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการให้ ทะเบียน อย. แก่ผู้ประกอบการที่มีการใช้จุลินทรีย์ดังกล่าว ในการเป็นเครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่อย่างใด จะมีก็เป็นทะเบียนยาแผนโบราณเท่านั้น ซึ่งต้องบริโภคในฐานะที่เป็นยาตามขนาดที่กำหนด ในระยะเวลาที่กำหนด และบริโภคด้วยจุดประสงค์เฉพาะอย่างตามที่ได้ระบุไว้ ในทะเบียนยาเท่านั้น จึงจะปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด ในการบริโภคอย่างแท้จริง”


“น้ำสมุนไพรหมักชีวภาพ เป็นเทคโนโลยีที่ผลิตได้ง่ายในครัวเรือน สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการเกษตร ปศุสัตว์ การดูแลสิ่งแวดล้อม การประยุกต์ใช้ในครัวเรือน และการบริโภค แต่หากจะผลิตเพื่อการบริโภคแล้ว ต้องควบ คุมดูแลการผลิตให้ดี มิเช่นนั้นจะเป็นดาบสองคม ที่ทำให้ เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งหากผู้ผลิตร่วมกัน พัฒนามาตรฐานการผลิต และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ได้มาตรฐานแล้ว เชื่อได้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แชมเปียนเพื่อการส่งออก เพราะเป็นที่น่ากังวลคือ ขณะนี้มีนักวิจัยต่างชาติ เร่งเรียนรู้ แล้วแอบเอาไปทำที่บ้านตัวเอง ก่อนส่งกลับมาขายให้คนไทยในราคาแพงๆ  ทำให้เราเสียดุลการค้า  และเสียภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ฝรั่งต่างชาติเปล่าๆ ทั้งๆที่วัตถุดิบที่อุดมคุณค่าที่สุดก็อยู่ที่พี่น้องเกษตรกรไทยเรานี่เอง” ผศ.ดร. ไชยวัฒน์ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์