วิจัยพบหญิงไทยมีครอบครัวแล้วเผชิญวิกฤติชีวิตสูงจนเครียด

วิจัยพบหญิงไทยมีครอบครัวแล้วเผชิญวิกฤติชีวิตสูงจนเครียด

15 กรกฎาคม 2550 16:43 น.
อาจารย์จากสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว เผยผลวิจัยพบหญิงไทยวัยกลางคนที่มีครอบครัวแล้วในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ต้องเผชิญภาวะวิกฤติอย่างหนักในสังคมปัจจุบัน ทั้งรับภาระในครอบครัวและงานนอกบ้าน จนเกิดความกดดันและความเครียด หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือมีหน่วยให้คำปรึกษา คาดวิกฤติจะรุนแรงขึ้น แนะที่ทำงานใส่ใจและครอบครัวให้กำลังใจสนับสนุนช่วยปรับตัวและคลายวิกฤติได้

ดร.อังศินันท์ อินทรกำแหง อาจารย์สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า สังคมปัจจุบัน มีหลายสิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพผู้หญิงไทยวัยกลางคนที่แต่งงานแล้ว ทำให้เกิดภาวะวิกฤติในชีวิต จึงทำการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเหตุและดัชนีวัดภาวะวิกฤติชีวิตผู้หญิงไทยสมรสวัยกลางคนที่ทำงานนอกบ้านในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยทำการศึกษาผู้หญิงไทยซึ่งทำงานในหน่วยงานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ที่มีอายุ 35 – 55 ปี มีบุตรอย่างน้อย 1 คน รวมจำนวน 1,375 คน จากหน่วยงานทั้งสิ้น 12 แห่ง

พบว่าแนวโน้มผู้หญิงไทยทำงานนอกบ้านจะรับบทบาทหน้าที่การงานเท่าเทียมผู้ชาย รวมถึงการเป็นหัวหน้างาน มีบทบาทเป็นผู้นำ ผู้บริหารและทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น และผู้หญิงจำนวนไม่น้อยยังต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกและดูแลบ้าน ขณะที่สรีระร่างกาย ฮอร์โมนเพศเริ่มร่วงโรย ทำให้เกิดความกดดันทั้งภายในร่างกายตัวเองและภายนอก ส่งผลให้เกิดความเครียดได้ง่าย ผู้หญิงในวัยนี้จะเผชิญกับสภาพปัญหาแวดล้อมทางสังคม พบว่าปัญหาอาชญากรรมที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ เกิดขึ้นกับสตรีที่ทำงานนอกบ้านและเด็กเสมอ ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้รู้สึกว่าขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต

นอกจากนี้ผลการวิจัย ยังระบุว่า การรับรู้ภาวะวิกฤตชีวิตของผู้หญิงไทยซึ่งแต่งานแล้ว และทำงานภาครัฐเกิดขึ้นมาก มีสาเหตุจากการมีความสัมพันธภาพกับเพื่อนบ้านน้อย ชุมชนที่อยู่อาศัยไม่น่าอยู่ อีกทั้งภาระงานมาก มีความก้าวหน้าในงานน้อย มีความคลุมเครือในงานมากได้รับแรงสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาน้อย เกิดภาวะวิกฤติสูงถึงร้อยละ 95 ขณะที่ผู้หญิงไทยที่แต่งงานแล้วและทำงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน พบว่าเมื่อมีปัญหาด้านครอบครัวและด้านการงาน จะรับรู้ภาวะวิกฤติชีวิตของตัวเองได้มาก ทั้งนี้ยังพบว่าหากครอบครัวไหนมีความสุข จะส่งผลไปถึงกำลังใจในการทำงาน ภาวะวิกฤติชีวิตของผู้หญิงที่แต่งงานและทำงานรัฐวิสาหกิจคิดเป็นร้อยละ 84 และภาวะวิกฤติชีวิตของผู้หญิงที่แต่งงาน ซึ่งทำงานเอกชนคิดเป็นร้อยละ 80 อย่างไรก็ตามผู้หญิงไทยที่แต่งงานแล้วและต้องทำงานหากได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวจะสามารถเผชิญปัญหาและปรับตัวต่อความเครียดได้ดีกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว นอกจากนี้หากครอบครัวไหนผูกพันทางศาสนาน้อยและงานที่ต้องรับผิดชอบมีความคลุมเครือมาก จะส่งผลให้ผู้หญิงคนนั้นมีภาวะวิกฤติชีวิตสูงกว่าครอบครัวที่ผูกพันทางศาสนามาก ดังนั้น ศาสนาเป็นสิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวผู้หญิงวัยนี้ได้เป็นอย่างดี

และจากการศึกษาของแพทย์ที่ให้การรักษาด้านจิตแพทย์พบว่าสตรีทำงานรวมทุกระดับใน 100 คน มีถึง 92 คน เคยถูกคุกคามทางเพศ ถูกลวนลาม ถูกละเมิดสิทธิ์ในที่สาธารณะ แม้กระทั่งบนรถโดยสารประจำทาง จากชายโรคจิต หรือผู้บังคับบัญชาในที่ทำงาน ไม่กล้าเปิดเผยเพราะกลัวเสียชื่อเสียง กลัวส่งผลเสียต่อตัวเอง บุตร ครอบครัว

"งานวิจัยชิ้นนี้จะเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานด้านบุคคลในสถานที่ทำงานควรให้ความสนใจ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน ที่สำคัญต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนในงาน จัดภาระงานให้เหมาะกับบริบทของผู้หญิง ส่วนสมาชิกในครอบครัวควรให้การสนับสนุนผู้ที่เป็นแม่หรือภรรยา ช่วยกันแบ่งเบาภาระงานบ้านพร้อมให้กำลังใจในการเผชิญกับสภาพแวดล้อมในสังคมเมืองที่มีแต่ความแข่งขัน แก่งแย่ง ภาครัฐควรมีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษากับปัญหาต่าง ๆ ให้กับสตรีวัยกลางคนโดยเฉพาะ หรือมีเครือข่ายเพื่อนผู้หญิงวัยเดียวกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือ สนทนาเพื่อลดความเครียด ถ้าไม่ช่วยกันเฝ้าระวังภาวะวิกฤติชีวิตผู้หญิงไทยแต่งงานวัยกลางคนที่ทำงานนอกบ้านในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะพบว่า ภาวะวิกฤติจะส่งผลในความรุนแรงเพิ่มขึ้น” อาจารย์สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์