ช่อง7ครองแชมป์ทีวีตบตี-รองลงมาช่อง 3,5,TITV

โพลล์แฉทีวีไทยมีฉากตบตี-ด่าทอเกลื่อนจอ เด็กปฐมวัยร้อยละ 75 ยอมรับเคยเห็นฉากตบตี ด่าทอ ข่มขืน ทะเลาะ ทำร้ายร่างกายในรายการทีวี


“ช่อง 7” ครองแชมป์มือตบ รองลงมาช่อง 3, 5, TITV และ 11 นักวิชาการเชื่อคนไทยอยากดูรายการ-ละครสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่ตบจูบ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่โรงแรมเอเซีย เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จัดการเสวนาละครไทยให้อะไรกับสังคม (ยุงชุมหรือรอยหยักในสมอง) โดย น.พ.ยงยุทธ วงภิรมย์ศานติ์  ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ ได้ทำผลการสำรวจ “การจัดเรตติ้งและความรุนแรงในรายการโทรทัศน์ : ศึกษาประชาชนอายุ 3 ปีขึ้นไปในเขต กทม. และปริมณฑล” จำนวน 2,486 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2550 พบว่า ช่วงเวลาที่เด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี และเด็กวัยเรียน อายุ 6-12 ปี รับชมรายการโทรทัศน์มากที่สุดคือ ช่วงเวลา 18.01-20.00 น.


ส่วนกลุ่มเด็กวัยรุ่น อายุ 13-18 ปี รับชมในช่วงเวลา 20.01-22.00 น.

กลุ่มตัวอย่างเด็กปฐมวัยร้อยละ 75 เด็กวัยเรียนร้อยละ 87.3 และเด็กวัยรุ่นร้อยละ 84 ยังระบุว่า เคยเห็นฉากตบตี ด่าทอ ข่มขืน การทะเลาะ ทำร้ายร่างกายกันในรายการโทรทัศน์ ส่วนความถี่ในการเห็นฉากตบตี อันดับ 1 ช่อง 7 รองลงมาช่อง 3, 5, TITV และช่อง 11 กลุ่มตัวอย่างประเภทผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้น ระบุว่า ช่วงเวลา 20.01-22.00 น. มีรายการที่มีเนื้อหารุนแรงไม่เหมาะสมออกอาการมากที่สุดถึงร้อยละ 68.8 อันดับ 1 ได้แก่ ละคร รองลงมา ข่าว เกมโชว์ การ์ตูน  


ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า


ได้วิจัยเรื่อง “รู้เท่าทันละครไทย” จากละคร 150 เรื่อง ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2550 และวิเคราะห์ย้อนหลังเปรียบเทียบกับละครบางเรื่องในช่วงปี 2548-2549 พบว่า ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความรุนแรง เรื่องเพศ ยกย่องคนมีฐานะ กดขี่คนด้อยกว่า ทำทุกอย่างให้รวย


ส่วนเรื่องเพศ กดขี่ทางเพศ ชู้สาว นอกใจ การมีเพศสัมพันธ์ และตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม

การทิ้งลูก ความรุนแรงถูกแทรกในละคร ทำให้มองการใช้กำลัง การทำร้ายคนอื่น ให้ได้มาซึ่งความรัก เป็นความชอบธรรม ลูกต้องแสดงความกตัญญู โดยแต่งงานกับคนที่พ่อแม่หาให้ ซึ่งมักเป็นคนรวย มีชาติกำเนิดดี เรื่องเหล่านี้ทำให้คนในสังคมคิดแบบอื่นไม่ได้ นอกจากการใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรก็ได้ เพื่อให้มีหน้ามีตา มีฐานะทางสังคม ละครไทยควรจัดให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชม หากเป็นละครที่มีเนื้อหารุนแรงไม่ควรออกอากาศในเวลาที่เด็กส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์ จึงอยากเรียกร้องให้ลดเนื้อหาในส่วนที่มีความรุนแรงลงบ้าง เนื่องจากผู้ชมมีความหลากหลาย ที่สำคัญละครไทยมีรูปแบบการนำเสนอซ้ำซาก โดยจะพบแต่ฉากพระเอกตบจูบนางเอก หรือนางร้ายตบตีนางเอกตลอดทั้งเรื่อง“ ผศ.ดร.พรทิพย์ กล่าว

นางชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

การนำเสนอละครผู้จัดมักทำตามกระแสมากกว่าผลกระทบของเด็กและเยาวชน หากจะแก้ไขความรุนแรง ทุกคนต้องมีจิตสำนึกก่อน ไม่ควรนำพฤติกรรมผิดๆ ความรุนแรง การโกหก มาเสนอจนกลายเป็นเรื่องปกติ ควรเสนอละครที่หลากหลายให้ผู้ชมมีโอกาสเลือกรับ ซึ่งบทประพันธ์หลายเรื่องไม่ได้มีความรุนแรง แต่ถูกนำมาดัดแปลงจนไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในสังคม


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์