พิบัติภัยคลื่นสูงซัดอันดามัน

พิบัติภัยคลื่นสูงซัดอันดามัน

พิบัติภัยคลื่นสูงซัดอันดามัน : อโนทัย งานดี /บุญเลื่อน พรหมประทานกุลรายงาน

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของคนในพื้นที่ฝั่งอันดามันยังไม่ไม่เหือดหาย นับแต่โดนคลื่นสึนามิถล่มยับเยินเมื่อช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา จู่ๆ ก็เกิดคลื่นยักษ์สูงราว 2-5 เมตร ถล่มชายฝั่งซ้ำในหลายจังหวัด นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน เป็นต้นมา 

กระทั่งถึงขณะนี้บางพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล ก็ยังถูกคลื่นยักษ์ถาโถมชนิดบ้าคลั่ง..!


คำทำนายของกรมอุตุนิยมวิทยาบอกถึงที่มาของคลื่นความรุนแรงดังกล่าว จากผลพวงของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ประกอบกับมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านตอนบน ทำให้ฝนตกชุกและคลื่นลมแรง จนสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินของราษฎร การเกษตรและสิ่งสาธารณประโยชน์ในหลายพื้นที่ของฝั่งอันดามัน
 
พิบัติภัยหนนี้ จ.พังงา ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่เสียหายหนัก จนทางการต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติถึง 6 อำเภอ ได้แก่ ท้ายเหมือง ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ทับปุด คุระบุรี และกะปง

ที่สำคัญพื้นที่เหล่านี้ล้วนแต่เป็นพิกัดที่โดนคลื่นสึนามิถล่มจนราบเป็นหน้ากลองมาแล้วทั้งสิ้น 

ทีมข่าวเข้าสำรวจพื้นที่ล่าสุด แม้คลื่นลมเริ่มสงบลงบ้างแล้ว แต่ร่องรอยที่เหลือหลายจุดยังอยู่ในสภาวะไม่ปกติ เพราะล้วนสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินสาธารณประโยชน์ และทรัพย์สินของผู้ประกอบการร้านค้า รีสอร์ท และธุรกิจการท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงชาวประมงพื้นบ้าน

จุดแรกที่เข้าสำรวจเริ่มตั้งแต่พื้นที่หมู่ 7 ชายหาดเขาปิหลาย ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง พบว่าเสียหายเป็นแนวยาวตลอดชายฝั่งไปจนถึง ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี รวมระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือบริเวณชายหาดเขาหลัก ต.คึกคัก ระเรื่อยไปถึง ต.เกาะคอเขา

ทีมสำรวจให้ข้อมูลว่า

"คลื่นที่แรงและสูงทำให้กระชังเลี้ยงปลาที่บ้านในไร่ หมู่ 7 ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ได้รับความเสียหาย เนื่องจากกระแสน้ำได้พัดพาเศษไม้ต่างๆ มากระแทกกระชัง สร้างความเสียหายทำให้ปลากะพงขาวที่เลี้ยงมาประมาณ 11 เดือน หลุดจากกระชังหายไป ทั้งที่ได้นัดหมายพ่อค้ามารับซื้อปลาทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น คาดว่าความเสียหายเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 1 แสนบาท" กริช สิทธิบุตร เกษตรกรเลี้ยงปลาวัย 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11/14 หมู่ 3 ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ระบุ

 นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงทำให้พัดพาเอาอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ หายไปจนหมด ทั้งที่เลี้ยงปลามานาน 20 ปีไม่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน...!!!

ขณะที่ความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างที่เห็นภาพชัดเจน คือศาลาพักผ่อนริมหาดนาเกลือ หมู่ 7 ต.โคกกลอย ที่ล่าสุด สมบัติ จินดาพล นายก อบต.โคกกลอย บอกว่า ศาลาแห่งนี้ อบต.ได้สร้างไว้เป็นที่พักผ่อนให้แก่นักท่องเที่ยวและชาวประมงพื้นบ้านเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน แม้ทุกๆ ปีในช่วงหน้ามรสุมจะเกิดความเสียหายบ้างแต่ก็ไม่มากนัก จึงซ่อมแซมเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ได้ 

"แตกต่างจากครั้งนี้ที่คลื่นสูงและแรงมากกว่าทุกๆ ปีได้ซัดเข้าใส่จนเสียหายอย่างหนักไม่สามารถซ่อมแซมได้ เบื้องต้นอาจจำเป็นต้องรื้อและย้ายไปสร้างใหม่ที่อยู่ไกลแนวชายหาดออกไปไม่น้อยกว่า 20 เมตรเพื่อความปลอดภัย"

ขณะที่ เซ คมกล้า ผู้ประกอบการเดอะซัมบาลา เขาหลัก รีสอร์ท หาดบางเนียง หมู่ 5 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
 
ยังยอมรับถึงกระแสคลื่นที่ถาโถมเข้าฝั่งอันดามันในช่วงนี้ค่อนข้างรุนแรงในรอบ 10 ปี เพราะคลื่นได้ซัดเข้าถล่มกำแพงกันคลื่นที่ลงทุนสร้างประมาณ 3.5 ล้านบาทได้รับความเสียหายเกิดการแตกร้าวเพิ่มขึ้นและมีการไหลออกของพื้นดินอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ดี แม้เขาจะเร่งซ่อมแซมอุดรอยร้าวที่เกิดขึ้นจากอุบัติภัยธรรมชาติเหล่านั้น แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมดทำให้ยังมีการรั่วไหลของดินอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ต้องซ่อมแซมปรับปรุงชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะอยู่ตลอดเวลาเมื่อเข้ามาทำธุรกิจหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ

"คลื่นลมทะเลปีนี้มีความรุนแรงมากและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกๆ ปี หากยืนห่างจากกำแพงกั้นคลื่นประมาณ 5 เมตรยังรู้สึกเหมือนแผ่นดินไหวในจังหวะที่คลื่นพุ่งเข้ากระทบกำแพง ขณะที่บางจุดคลื่นซัดกระแสน้ำพุ่งขึ้นสูงระดับยอดมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 10 เมตรจากพื้นดิน"  เซ กล่าวย้ำภาพความแรงของคลื่น

เช่นเดียวกับ พิษณุ ตังคณา ผู้ประกอบการ ซันเซ็ท รีสอร์ท ชายหาดบ้านนอกนา หมู่ 2 ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า ที่ให้ข้อมูลตรงกันว่า
 
ตั้งแต่เข้ามาประกอบธุรกิจรีสอร์ทบริเวณนี้ เกือบ 10 ปี ยังไม่เคยพบเห็นการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่รวดเร็วและรุนแรงขนาดนี้มาก่อน ทั้งยังไม่เคยพบว่าคลื่นในทะเลจะมีความรุนแรงขนาดนี้ ทำให้พื้นที่รีสอร์ทถูกน้ำทะเลพัดเข้าไปท่วมขังเต็มพื้นที่ ทรัพย์สินได้รับเสียหายจำนวนหนึ่ง เบื้องต้นคาดว่าเสียหายไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท

ปรากฏการณ์ธรรมชาติคลื่นซัดชายฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะที่ จ.พังงา บริเวณหาดเขาหลัก หาดบางสัก บ้านน้ำเค็ม และเกาะคอเขา ครั้งนี้ ได้รับการอธิบายจาก ไมตรี จงไกรจักร อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41/7 หมู่ 2 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิว่า อาจมีคนเชื่อมโยงกับกระแสข่าวที่แชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะเกิดสึนามิ ในเดือนมิถุนายนปีนี้ 

ทั้งที่ในความเป็นจริงต้องเข้าใจก่อนว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นช่วงหน้าฝน ช่วงมรสุมของภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันในช่วงวันที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด

ในช่วงวันแรม 1-3 ค่ำ(วันที่ 13-15 มิ.ย.) จะส่งผลกระทบต่อทะเลอันดามันโดยตรง ปรากฏการณ์ที่เกิดของคลื่นที่ซัดถล่มชายฝั่งจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากมีการก่อสร้างแนวกันคลื่นเพื่อป้องกันชายหาด โดยรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ทะเลจึงเป็นเหตุให้คลื่นมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกธรรมชาติเมื่อคลื่นปะทะสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของแข็งทำให้แรงปะทะของคลื่นรุนแรงไปด้วย

ในส่วนของพื้นที่ จ.ระนอง ก็แทบไม่น้อยหน้า จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า ที่บริเวณหมู่บ้านชาวประมง อุทยานแห่งชาติแหลมสน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง

ซึ่งมีพื้นที่ติดริมทะเลเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร และพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในความดูเลของอุทยานแห่งชาติแหลมสน ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน น่าสนใจว่า หลังเกิดคลื่นยักษ์ซัดกระหน่ำชายฝั่ง ส่งผลทำให้ดินจากฝั่งถูกซัดหายไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ถนนคอนกรีตพังเป็นระยะทางยาว รวมถึงศาลาที่พักที่สร้างไว้ให้ชาวบ้านได้หลบแดดหลบฝนก็พังราบ รวมถึงอุปกรณ์ทำการประมงของชาวบ้านบางส่วนได้ถูกคลื่นพัดพาหายลงไปในทะเลชนิดไม่มีชิ้นดี

ชวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง ชี้แจงล่าสุดว่า ในช่วงวันที่ 19 มิถุนายน ยังมีคลื่นลมแรง
 
มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณหมู่บ้านชาวประมง อุทยานแห่งชาติแหลมสน ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ ซึ่งมีพื้นที่ติดริมทะเลเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก คลื่นลมทะเลซัดกระหน่ำรุนแรงพัดพาเอาดินจากฝั่งหายไปเป็นจำนวนมาก

จากการพูดคุยกับ ไพศาล สิงห์สง อายุ 60 ปี ชาวประมงพื้นที่ อ.กะเปอร์ เล่าว่า เมื่อช่วง 2 วันที่ผ่านมา จนถึงเช้ามืดของวันที่ 19 มิถุนายน
 
ยังเกิดพายุพัดกระหน่ำและมีคลื่นลมแรงพัดสูงประมาณ 3-4 เมตร คลื่นลมทะเลซัดกระหน่ำรุนแรง ส่งผลให้ถนนคอนกรีตพังเสียหาย อุปกรณ์ทำการประมงของชาวบ้านบางส่วนได้ถูกคลื่นพัดพาหายลงไปในทะเล จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถออกไปทำประมงได้ เนื่องจากว่าทะเลด้านนอกยังคงมีคลื่นสูงอยู่ 

ที่ จ.ตรัง สถานการณ์ล่าสุดก็ยังมีคลื่นสูงราว 3-4 เมตร ซัดบริเวณชายฝั่ง จนทำให้เขื่อนป้องกันตลิ่งหักพังเสียหาย
 
แม้ชาวบ้านจะนำกระสอบทราย รวมทั้งก้อนหินขนาดใหญ่มาวางซ้อนหลังแนวเขื่อนเสริมความแข็งแรงแล้ว แต่ไม่สามารถต้านทานความรุนแรงของคลื่นได้ ขณะเดียวกัน ความแรงของคลื่นยังได้ซัดพื้นดินที่เป็นชายหาดหายไปลึกเข้ามาไม่ต่ำกว่า 50 เมตร จนถึงตัวบ้านและแนวรั้วบ้านของชาวบ้าน จนทำให้ขณะนี้ชาวบ้านหวาดผวาอย่างหนัก เกรงว่าจะเกิดเหตุซ้ำอีก จนต้องขนของหนีไปอยู่ในที่สูง

จากการสำรวจความเสียหายยังพบว่า บ้านเรือนที่ถูกคลื่นซัดถล่มเสียหายนั้น หลายหลังยังไม่ได้ซ่อมแซม

ขณะนี้มีบ้านเรือนประสบปัญหาคลื่นซัดชายฝั่งบนเกาะลิบง จำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 5 บ้านหลังเขา กับหมู่ 7 บ้านทรายแก้ว รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 60 หลังคาเรือน พิบัติภัยที่เกิดขึ้นนับวันจะอยู่นอกเหนือความคาดหมายและเป็นการยากที่จะเทียบเคียงกั ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นสิ่งที่มนุษย์เราต้องเผชิญอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในแต่ละครั้งยังผลเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินเป็นจำนวนมากมายมหาศาลไม่อาจประเมินค่าได้ มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราทำได้เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา นั่นคือการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติไว้ล่วงหน้า ก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น !

..................................

(หมายเหตุ : พิบัติภัยคลื่นสูงซัดอันดามัน : อโนทัย งานดี /บุญเลื่อน พรหมประทานกุลรายงาน)



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์