คดีอุ้มฆ่าทนายจ่อหมายจับอีก10



"ดีเอสไอ-พรทิพย์"ลุยบ่อขยะหาหลักฐาน!เชื่อเป็นจุดทำลายศพ


คดีอุ้มทนายสมชาย ดีเอสไอ ระบุมีเจ้าหน้าที่รัฐ-พลเรือน ประมาณ 10 คน เข้าไปมีเอี่ยวปมสังหาร เตรียมจ่อจับเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ผลการสอบสวนพยานแวดล้อมคืบหน้าไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ระบุพบหลักฐานเด็ดการใช้โทรศัพท์ของกลุ่มผู้ต้องสงสัยในวันเกิดเหตุ ขณะที่หมอพรทิพย์-ดีเอสไอ ลงพื้นที่เมืองโอ่ง ลุยหาหลักฐานเพิ่มจุดที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ทำลายศพ ทนายแม้ว โวยสื่อ ละเลงข่าวคนใกล้ชิด ทักษิณสั่งอุ้ม

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) วันที่ 2 พ.ย. พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ โฆษกกรม สอบสวนคดีพิเศษ แถลงภายหลังการประชุมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการคดีพิเศษ ได้สรุปความคืบหน้าคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมว่า ขณะนี้ผลการสอบสวนพยานแวดล้อมมีสมบูรณ์ไปแล้ว กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ และจากการสืบสวนข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่า เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชาย มีข้อมูลที่ทำให้น่าเชื่อว่าพื้นที่ที่ใช้ทำลายศพนายสมชายคือบริเวณเทศบาล ต.ห้วยชินสี อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ทางทหารที่มอบให้เทศบาลใช้กำจัดขยะขนาดพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ทั้งนี้ช่วงบ่ายวันนี้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ร่วมกับ พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อตรวจสอบและหาหลักฐานเพิ่มเติมด้วย

"สืบจากโทรศัพท์"


โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือของกลุ่มผู้ต้องสงสัย จากจุดที่ถูกอุ้มขึ้นรถบริเวณถนนรามคำแหง ก่อนออกจากกรุงเทพฯ ทางถนนพระราม 2 เข้าพื้นที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี พบการใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อของกลุ่มผู้ต้องสงสัยหยุดลงเมื่อเวลา 01.00 น. ของคืนวันเกิดเหตุ ก่อนจะพบว่ามีการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันอีกครั้งในช่วงเวลา 04.00 น. ของเช้าวันใหม่ ในบริเวณจุดเกิด เหตุด้วย ส่วนผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในข่ายขออนุมัติหมายจับ ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 10 คน โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือน ร่วมมือในการกระทำผิด ครั้งนี้ ส่วนเป็นใครบ้างยังไม่สามารถเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อมูลจากการค้นหาพยาน แวดล้อมในพื้นที่ จ.ราชบุรี คณะพนักงานสอบสวนจะนัดประชุมพิจารณาพยานแวดล้อมทั้งหมด เพื่อหาความเชื่อมโยงให้เห็นภาพการกระทำผิด ก่อนออกหมายจับต่อไป

ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษา กฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัวชินวัตร กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. ระบุว่า คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชายว่า พล.อ.สนธิไม่ได้พาดพิงว่าเป็นคนใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงแต่สื่อมวลชนบางฉบับ ตั้งคำถามแล้วสรุปเอาเองว่าท่านพูดอย่างนั้น เรื่องนี้อยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงดีเอสไอ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณขณะเป็นนายกฯ เคยได้ยินชื่อของทนายสมชายเมื่อมีการอุ้มหายตัวไป จากนั้นได้เชิญภรรยานายสมชายมาพบที่ทำเนียบรัฐบาลขอข้อมูล และกำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งรัดดำเนินการสอบสวน จึงขอให้สื่อบางฉบับระมัดระวังการเสนอข่าวเพื่อที่จะยุยงการหายตัวไปของนายสมชายกับพ.ต.ท. ทักษิณ เพราะไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา แม้แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ก็ยังไม่เปิดเผยถึงเรื่องนี้ เพราะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

"ตรวจบ่อทิ้งขยะ"


ต่อมาเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.อ.ปิยวัฒน์ กิ่งเกตุ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมทีมงานเข้าตรวจสอบบ่อทิ้งขยะ ซึ่งเป็นพื้นที่ของทหารแห่งหนึ่งที่ หมู่ 7 ต.อ่างทอง อ.เมืองราชบุรี โดยมีเนื้อที่กว้างประมาณ 1 ไร่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สงสัยว่า บ่อขยะดังกล่าวน่าเป็นจุดที่กลุ่มฆาตกรนำศพมาเผาทำลายหลักฐาน หลักจากค้นหาหลักฐานอยู่นานหลายชั่วโมง ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็เจอชิ้นส่วนกระดูกยาวประมาณ 7 ซม. โดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ระบุว่า เป็นชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ บริเวณช่วงตะโพก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นของทนายสมชายหรือไม่ ซึ่งต้องส่งไปตรวจสอบเสียก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ประสานไปยังทหารช่าง เพื่อขอรถแบ๊กโฮพร้อมกำลังอีก 20 นาย เข้ามาคุ้ยขยะค้นหาหลักฐานอื่น ๆ โดยปิดเส้นทาง ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่อย่างเด็ดขาด

ขณะที่นายธานินทร์ ใจสมุทร ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเสือไม่กินเนื้อเสือ ซึ่งทำให้การสืบสวนสอบสวนที่ผ่านมาของกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะพนักงานสอบสวน ล้วนเป็นอดีตนายตำรวจ และเป็นพรรคพวกรุ่นเดียวกับฝ่ายที่ถูกตั้งข้อสงสัย จึงทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ทั้งที่เป็นคดีที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะโลกมุสลิม ดังนั้น ตนขอเสนอให้กระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มาจากหลายฝ่าย เช่น ดีเอสไอ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สภาทนายความ กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสม และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้าร่วมด้วย เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือว่าจะดำเนินการจริงจัง และโปร่งใส อีกทั้งควรแถลงหรือจัดทำรายงานการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในคดีอุ้มฆ่าอื่น ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ก็ควรใช้โครงสร้างเดียวกันนี้ไปแก้ปัญหา ซึ่งสามารถเรียกสำเนาใบแจ้งความจากทุกสถานีตำรวจและดำ เนินการสืบสวนสอบสวนได้ทันที.


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์