คุกคามสื่อ พันธุกรรมชั่วผู้มีอำนาจ

คุกคามสื่อ พันธุกรรมชั่วผู้มีอำนาจ

โดย ผู้จัดการรายวัน 11 เมษายน 2549 08:59 น.

ชั่วระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแทรกแซงและคุกคามสื่อของผู้มีอำนาจได้พัฒนาไปสู่การเข้าซื้อกิจการสื่ออย่างเปิดเผย การปิดกั้นทางธุรกิจด้วยงบโฆษณา หรือการฟ้องดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง บางคดีถูกเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท แตกต่างจากในอดีตที่ใช้อำนาจมืดที่แฝงมากับอิทธิพลของฝ่ายรัฐเข้าปิดโรงพิมพ์ ยึดแท่นพิมพ์ หรือทำร้ายชีวิต

แต่หลังการเมืองเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ดูเหมือนการคุกคามสื่อได้พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยการใช้กลุ่มพลังมวลชนเข้าคุกคามข่มขู่สื่อ โดยมีอำนาจมืดแฝงตัวคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง

ดังกรณี ขบวนมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลายร้อยคนเดินทางไปรวมตัวกันหน้าสำนักงานเครือผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์แนวหน้า พร้อมกับนำพวงหรีดประท้วงและเผาทำลาย บางส่วนถึงกับแสดงอาการข่มขู่ ขว้างปาสิ่งของเข้าไปในสำนักงานของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว

และเหตุการณ์ม็อบคารานคนจนปิดล้อมทางเข้า-ออกของสำนักงานหนังสือพิมพ์ เครือเดอะเนชั่น คมชัดลึก เป็นเวลานานกว่า 7 ชั่วโมง โดยห้ามบุคคลไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทต่างๆ ผู้ป่วยและหญิงตั้งครรภ์ เข้า-ออก

*สื่อกับหน้าที่กระบอกเสียงของประชาชน

สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) กล่าวว่าปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองบีบให้สื่อแสดงบทบาทที่มีความแหลมคมมากขึ้น เปลี่ยนจากการทำหน้าที่เสนอข่าวให้ข้อเท็จจริงมาเป็นผู้ขับเคลื่อนทางการเมือง

"สะท้อนให้เห็นความท้าทายของสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อทางเลือก ขณะที่รัฐบาลไม่พอใจการทำหน้าที่ดังกล่าว นำไปสู่การสกัดตอบโต้ แต่หนังสือพิมพ์ค่อนข้างคุมลำบากและพยายามทำหน้าที่ของตนเต็มที่ทำให้ผู้มีอำนาจหมดความอดทนเรื่อยๆ ขณะที่สื่อวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลัก เป็นกระบอกเสียงของรัฐ ไม่ออกจากการครอบงำ คนกลับไม่มอง"

การนำเสนอข่าวสารของสื่อปัจจุบัน อาจมีผู้รับสารบางกลุ่ม มองว่าเนื้อหาที่นำเสนอเป็นการคุกคามประชาชน ตรงนี้สุภิญญามองว่าท้ายสุดประชาชนผู้รับสารจะเป็นฝ่ายตัดสินใจอ่านหรือไม่อ่านข่าวนั้นๆ

"มีคำถามเกิดขึ้นว่าสื่อไม่เป็นกลาง ไม่เอารัฐบาล เราต้องให้ความเป็นธรรมกับสังคม เรียนรู้ว่าสื่อปรับบทบาทของตัวเอง สื่อก็ต้องฟังสังคมเหมือนกัน แต่ก็มีเส้นแบ่ง เช่น เนชั่น ผู้จัดการ มีบทบาทโดดเด่นในการวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ แต่ถ้าไปดูสื่ออื่นนำเสนอข่าวรัฐบาลครึ่งหนึ่ง ประชาชนครึ่งหนึ่ง ถือว่าเป็นพัฒนาการของสื่อนิยมประชาธิปไตย ถ้าสื่อมีจุดยืนชัด ประชาชนจะรู้ว่าสื่อนั้นเป็นอย่างไร ท้ายสุดประชาชนจะเป็นคนเลือกว่าจะซื้ออ่านหรือไม่ ตราบใดที่สื่อยังไม่ก้าวไปเล่นการเมืองโดยตรง คิดว่าการนำเสนอแบบนี้ยังโอเค เป็นการสะท้อนเสียงประชาชนกลุ่มหนึ่ง เป็นเสียงภาคประชาชน สังคมที่ไม่ใช่การเมือง ซึ่งยังดีกว่าสื่อวิทยุ โทรทัศน์ คนดูคิดว่าเป็นช่องดูข่าว เชื่อถือได้ แต่แท้จริงถูกคุมโดยรัฐ วิญญาณเป็นกระบอกเสียงของรัฐ"

ขณะที่เทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่นกล่าวว่า "ถ้ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อไปคุกคามใครหรือเปล่า ก็คงต้องดูตัวเองว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร เพราะว่าสื่อถูกกล่าวหามาโดยตลอด และในการกล่าวหาบางครั้งอาจจะมีน้ำหนักอยู่บ้าง อาจจะเลินเล่อ หรือไม่ได้ตั้งใจ หรือบางส่วนอาจจะตั้งใจ แต่ก็คงเป็นส่วนน้อย ในการรายงานข่าวที่อาจจะเข้าข่ายว่าไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ตกเป็นข่าวหรือเปล่า"

"นี่คงเป็นสิ่งที่สื่อจำเป็นต้องตรวจสอบ เพราะการที่สื่อลุกขึ้นมาปกป้องสื่อด้วยกันเอง และต่อสู้กับการถูกคุกคามจากฝ่ายการเมือง ในขณะเดียวกันสื่อก็ต้องให้ความมั่นใจกับคนในสังคมด้วยว่าสามารถดูแลกันเองได้ และพร้อมที่จะฟังเสียงท้วงติง เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมด้วย ในกรณีที่สื่ออาจจะล้ำเส้นหรือกรณีที่ถูกมองว่าละเมิดจริยธรรมหรือเปล่า หรือว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า"

กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างบุกหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

*สึนามิวงการสื่อ

ภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ย้อนหลังรูปแบบการคุกคามสื่อเริ่มเกิดขึ้นนับตั้งแต่มีหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย

"หมอบลัดเลย์แฉกงสุลฝรั่งเศสเรื่องความไม่ชอบของการเลี่ยงภาษี จึงถูกฟ้องทำให้หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอร์เจ๊ง เป็นการวางรากฐานของการทำหน้าที่ของสื่อ การสืบสวนสอบสวนการแฉโพยการเลี่ยงภาษี ตั้งแต่นั้นมามีเป็นระยะๆ"

เขากล่าวต่อไปว่า จนมาถึงช่วงหลังๆ นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ มีพฤติกรรมการแทรกแซงสื่อหลายแบบ พัฒนามาเรื่อยๆ และเปลี่ยนเป็นการคุกคามแบบโจ่งแจ้ง ซึ่งๆหน้าเกินกว่าจะรับได้ เช่น การให้ท้ายขบวนการต่างๆมาคุกคามสื่อ ใช้ทุน โฆษณา แทรกแซง กวาดต้อนมาเป็นพวก เลือกให้สัมภาษณ์ ถ้าดูความรุนแรงกระจายเป็นจุดๆ เรื่องวิทยุชุมชน หลายสื่อ วิทยุ ทีวีโดนหมด เพียงแต่เกิดต่างกรรมต่างวาระ และสั่งสม

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมสำนักพิมพ์ต่างๆ ทำให้บรรดาสื่อมวลชนจากแขนงต่างๆออกมารวมตัวที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเพื่อเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิของสื่อ

"จากการชุมนุม(5 เมษายน) ที่ผ่านมาบอกได้ว่าสถานการณ์การคุกคามสื่อในปัจจุบันมีความรุนแรงอย่างไร ปกติองค์กรจัดกิจกรรม ถ้าคนไม่เห็นด้วยก็ไม่มีใครมาร่วม ไม่สามารถกะเกณฑ์ให้มารวมตัวกันได้ เหมือนเขื่อนแตกเกิดชุมนุมใหญ่ เป็นการเกิดสึนามิของการข่าว แรงกดเกิดการเคลื่อนตัวแบบนี้ เราไม่รู้จะไปพึ่งใคร ในเมื่อใช้สิทธิแทนชาวบ้าน ต้องรายงานปรากฏการณ์ให้สังคมโลกได้รับรู้เป็นแบบนี้"

เขากล่าวต่อไปว่า ถ้าสื่อไม่ดูแลปกป้องกันเอง อาจจะนำไปสู่ภาวะไม่กล้าเสนอข่าวความจริง ทำให้ประโยชน์สาธารณะเสียหายไป

"ถ้าเราไม่กล้าเขียน ประโยชน์สาธารณะไม่ได้ เหมือนองค์กรอิสระไม่กล้าตรวจสอบ เกิดความเสียหาย ระบบการตรวจสอบไม่กล้ายืนหยัดทำให้ตัวการถ่วงดุลทั้งหลายในสังคมเกิดขึ้น เป็นภาพสะท้อนว่าระบบใหญ่ไม่เกิดการตรวจสอบ ทำให้เกิดระบบการหยุดระบบทักษิณขึ้น ถ้ารัฐบาลสนับสนุนสื่อ ไม่มีการแทรกแซง เปลี่ยนมาใช้วิธีตรวจสอบการทำงานของสื่อว่าทำได้ดีหรือไม่ จะทำให้รัฐบาลเข้มแข็งกว่านี้"

*เบื้องหลังการคุกคามสื่อ

สมัยพฤษภาทมิฬฯ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ผู้จัดการ และแนวหน้า เป็นสื่อที่ถูกอำนาจรัฐคุกคาม และปัจจุบันการคุกคามนั้นก็กลับมาซ้ำรอยเดิม เพียงแต่ครั้งนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม

เทพชัย ย้อนหลังการคุกคามสมัยพฤษภาทมิฬฯว่าเป็นการคุกคามจากอำนาจรัฐโดยตรงค่อนข้างชัดเจนไม่ปิดบัง "มีคำสั่งออกมาพร้อมกฎอัยการศึกจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นคำสั่งห้ามเผยแพร่เอกสารข้อมูลภาพการปราบปรามประชาชน ชัดเจนว่าคนที่ออกคำสั่งหรือบังคับใช้คือฝ่ายบ้านเมือง"

แต่การคุกคามสื่อในปัจจุบันนี้เป็นการคุกคามสื่อในรูปแบบใหม่ อาจจะไม่ใช่การคุกคามโดยตรง โดยการใช้อำนาจทางทหาร ทางตำรวจมาคุกคามเหมือนสมัยก่อน แต่เป็นการคุกคามโดยอาศัยอำนาจทางการเมือง บวกกับอำนาจทางธุรกิจ ฝ่ายที่ออกมาคุกคามสื่อหรือขู่สื่อไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร แต่ก็เป็นที่รู้กันว่ามีอำนาจการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ว่าใช้วิธีการที่มันแยบยลและเนียบเนียนโดยที่ประชาชนทั่วไปอาจจะรู้ไม่เท่าทันก็ได้

"ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ผู้จัดการ และแนวหน้า ก็เป็นการคุกคามโดยอาศัยกลุ่มมวลชนถูกว่าจ้างมา แต่ก็พยายามสร้างภาพว่าเป็นกลุ่มมวลชนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านหรือต่อต้านสื่อด้วยตัวเอง แต่ว่าทั้งหมดก็เป็นที่รับรู้กันว่ามีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็เป็นการคุกคามสื่อในรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เลยทำให้ทางสื่อมีความรู้สึกว่าจำเป็นต้องมารวมตัวกันในวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาเพื่อที่จะบอกทางฝ่ายการเมืองให้หยุดการกระทำแบบนี้ และก็บอกสังคมว่าขณะนี้สื่อถูกคุกคามในรูปแบบไหนบ้าง"

เช่นเดียวกับความเห็นของ วัชระ เพชรทอง บรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์แนวหน้า เป็นอีกสำนักพิมพ์ที่ถูกคุกคามจากมวลชน มองการมาคุกคามสื่อโดยกลุ่มมวลชนที่เกิดขึ้นปัจจุบันว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดโดยมีคนในอำนาจรัฐเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังในทุกกรณี และผู้บงการนี้ก็มีอิทธิพลและวิชามารที่นำมาใช้กับสื่อโดยอาศัยคนจนและผู้ด้อยโอกาส รวมถึงคนที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐเป็นเครื่องมือ ในการกำราบ กดดัน สื่อมวลชน ที่มีจุดยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลเป็นการกระทำเพราะใบสั่ง

"ถ้าสื่อนั้นเป็นพวกรัฐบาลก็จะไม่มีการคุกคาม ซึ่งนอกจากไม่มีการคุกคามแล้ว ยังเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพีมัน โดยไม่ใส่ใจต่อความจริงที่ปรากฏในสังคม กรณีที่เกิดขึ้นกับแนวหน้านั้นก็มีนักการเมืองรัฐบาลเป็นผู้บงการ และอยู่เบื้องหลังในการชี้นำ กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในการมาประท้วง ปิดทางเข้าและทางออกของนสพ.แนวหน้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00- 14.00 นาฬิกา มีการห้ามบุคคลเข้า-ออก เหมือนกับเช่นที่เกิดขึ้นกับนสพ. คม ชัด ลึก"

ทั้งนี้ผู้เดินทางมาประท้วง ไม่รู้จักคนที่ประท้วงแม้แต่น้อย

"ขณะมาประท้วงไม่รู้จักกระทั่งตัวผม พวกเขาตะโกนว่าวัชรพลออกมาๆ ทั้งที่ผมชื่อวัชระ บางคนตะโกนก่นด่าผม บางคนบอกว่าน่าจะเอาน้ำกรดจับกรอกปาก ซึ่งเขาพูดไปด้วยความคะนอง ผมไม่คิดถือว่าสาความใดๆแม้แต่น้อย เพราเขาไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำผิดกฎหมาย และทางนสพ.โดยผู้บริหารและบริษัทอื่นๆในรั้วเดียวกันก็ไม่ได้ติดใจเอาความ แจ้งความดำเนินคดีแก่กลุ่มมอเตอร์ไซด์แต่อย่างใด ซึ่งต่อมาพวกเขาไปร้องเรียนต่อสภาการหนังสือพิมพ์ว่าหนังสือพิมพ์ทำผิดต่อสถาบันและฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ในข้อหาหมิ่นประมาท โดยมีผมเป็นจำเลยที่ 2 แต่ศาลยุติธรรมจะรับฟ้องหรือไม่ ผมก็ไม่อาจรู้ได้"

*สั่นคลอนเสรีภาพการนำเสนอ

ขบวนมอเตอร์ไซค์รับจ้างบุกหนังสือพิมพ์แนวหน้า

แม้หลายๆสื่อกำลังถูกคุกคาม แต่พวกเขากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าอำนาจมืดที่คุกคามไม่สามารถบั่นทอนเสรีภาพและความตั้งใจในการเดินหน้านำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้

"อย่าว่าแต่คุกคามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน เราต้องมองให้กว้างไปที่ประชาชนว่ากำลังถูกคุกคามด้วยเช่นกัน และการคุกคามนั้นก็เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องลุกขึ้นสู้อย่ายอมจำนน จากวันนั้นถึงวันนี้แนวหน้ายังคงเป็นแนวหน้าในการพิทักษ์ธรรมและต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด ไม่มีใครมากดดันหรือชี้นำให้แปรเปลี่ยนเจตนาในการรับใช้ประชาชนไปได้อย่างเด็ดขาด" วัชระกล่าว

ขณะที่ เทพชัย กล่าวว่า ทางฝ่ายที่คุกคามคงหวังผลให้สื่อที่ถูกคุกคามลดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบ หรือรายงานข่าว แต่ว่าถ้าดูจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นค่อนข้างมั่นใจว่า สื่อคงไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจมืดหรือการควบคุมอย่างง่ายๆ

"เพราะถ้ามีการตรวจดูเนื้อหาของการรายงานข่าวการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่าสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทำหน้าที่ค่อนข้างจะดีพอสมควร ถึงแม้จะถูกคุกคาม ขู่เข็ญ แต่ก็ยังไม่มีฉบับใดที่จะถอยไปเลย"

*ยิ่งคุกคาม สื่อยิ่งมีแนวร่วมมากขึ้น

การที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและอำนาจทุนไม่ระมัดระวังตนเอง พยายามที่จะปิดปากสื่อถือเป็นการคิดผิด เพราะยิ่งคุกคามสื่อมากเท่าไร ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบ ถูกคุกคามเจ็บปวดมากขึ้น แนวร่วมของสื่อซึ่งก็คือประชาชนก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สุภิญญา ยังมีความเห็นว่าการคุกคามสื่อยังสามารถมองได้ 2 ด้าน มุมหนึ่งเป็นการปลุกเร้าให้สื่อรุกขึ้นมาต่อสู้เข้มแข็ง แต่อีกมุมหนึ่งอาจจะทำให้สื่ออ่อนล้า

"มุมหนึ่งสื่อต้องรายงานข้อเท็จจริง อีกมุมหนึ่ง 30 เปอร์เซ็นต์ ต้องเผื่อไว้สู้คดี ปกป้องตัวเอง รณรงค์เพื่อสิทธิของตัวเอง ทำให้ทำงานเป็นอิสระได้น้อยลง ถ้าไม่เกิดการคุกคามสื่อรุนแรงขึ้นจะดีมาก เพื่อที่เราจะได้ฟื้นฟูสิทธิประชาธิปไตยและเสรีภาพกลับคืนมา ถ้ากลุ่มพันธมิตรฯสู้ได้ในระดับหนึ่งเกิดการปฏิรูปการเมืองยุคสอง ถ้าเมื่อไรสื่ออ่อนแอ ประชาชนเผลอ ผู้มีอำนาจใช้อำนาจอยู่เรื่อยๆ เหมือนการชักเย่อกัน ดังนั้นประชาชนและสื่อต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจเกิน"

*แนวโน้มการคุกคาม

วัชระเชื่อว่าการคุกคามสื่อจะไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่การใช้จำนวนคนมาปิดล้อมหนังสือพิมพ์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ตนเองต้องการเท่านั้น หากแต่จะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆตามมาตราบใดที่ระบบทักษิณยังอยู่

"ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ต้องกำหนดให้คู่ต่อสู้ดำเนินตามที่เขาต้องการ แต่ที่แนวหน้าเราไม่ยอมกระทำตามแม้แต่ตัวอักษรเดียว เพราะเรามีศาลยุติธรรม ที่เป็นที่พึ่งได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมขอแนะนำบรรดาเพื่อนสื่อมวลชนและนักต่อสู้ทั้งหลาย ได้โปรดระมัดระวัง ป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเองและหมู่คณะ รวมทั้งการตอบโต้อย่างฉับพลัน ภายใต้กฎแห่งธรรมชาติ"

กลุ่มคาราวานคนจนบุกปิดล้อมคม ชัด ลึก

สำหรับ สุภิญญามองว่า เมื่อ 5 ปีก่อนใช้วิธีการควบคุมแบบละมุนละม่อม เช่น ซื้อโฆษณา พาไปกินข้าว ต่อมาใช้วิธีการแยบยลมากขึ้น ใช้อำนาจทางการเมือง ข้ออ้างทางกฎหมาย ทำให้ดูชอบธรรมมากขึ้น เช่น การฟ้องร้องหมิ่นประมาท รอให้ศาลตัดสิน ซึ่งไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้มากในอดีต แต่เกิดในยุคนี้

"เมื่อประชาชนต้องการฟังข้อมูลที่ถูกกดทับมานาน กลัวว่าต่อไปจะมีการคุกคามถี่มากขึ้น เมื่อปลายปีก่อนใช้อำนาจทางกฎหมาย ฟ้องหมิ่นทุกสื่อ เรียกหลายล้านบาท ฟ้องพร่ำเพรื่อ แต่ก็ไม่พอ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการทำหน้าที่ได้ แต่สื่อยังทำหน้าที่ของตัวเอง การยกระดับความรุนแรงทำให้การข่มขู่เกิดขึ้นในเวลานี้และรุนแรงขึ้น อนาคตอาจห้ามยาก ถ้าผู้มีอำนาจยังอดทนไม่ได้ ฉะนั้นการใช้ความรุนแรงจะทวีมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด รูปแบบการคุกคามจะกลับไปสู่แบบเดิม

"ท้ายสุดถ้าอำนาจรัฐยังแข็งกร้าว ใช้กฎหมายไม่ได้ผล เจรจาหว่านล้อมไม่ได้ผล เพราะสื่อต้องทำหน้าที่ ตรวจสอบ เมื่อสะสมจะกลับไปสู่จุดเดิม นำไปสู่การใช้ความรุนแรงทางตรง เช่น การปิดโรงพิมพ์ ทำร้ายชีวิต ปิดแท่นพิมพ์ ซึ่งไม่อยากเห็นบรรยากาศแบบนั้น"

เลขาธิการ คปส. กล่าวถึงวิธีการแก้ไขว่าควรมีการทำสัญญาประชาคมกับรัฐบาลสมัยใหม่ที่จะขึ้นมาทำหน้าที่ เรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองเปิดใจกว้าง และหันมาทบทวนกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องร้อง กลั่นแกล้งสื่อ

"ในอนาคตต้องทบทวนกฎหมาย หมิ่นประมาท ฟ้องร้อง ว่าต้องแก้กฎหมายอย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายกลั่นแกล้งฟ้องสื่อ ต้องดูประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ น้อยมากจะฟ้องสื่อพร่ำเพื่อ สื่อเสียเวลาไปฟ้องร้องในศาล ต้องมาฟ้องร้องเพื่อสิทธิตัวเอง ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้ประชาชนได้ไม่ได้เต็มที่"

"และเรียกร้องให้นักการเมือง นายกฯสมัยหน้าต้องเปิดกว้าง ใจกว้าง ไม่ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งสื่อและประชาชนพร่ำเพรื่อ เป็นสัญญาประชาคมกับรัฐบาลใหม่ ดูว่าคดีที่เกิดขึ้นต้องสะสางให้เกิดความเป็นธรรม"

ขณะที่ เทพชัย หวังว่าหลังจากองค์กรสื่อและผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อลุกขึ้นมาพูดเป็นเสียงเดียวกันและเป็นเสียงที่ดัง จะทำให้ฝ่ายการเมืองกลับไปคิดว่ายังต้องการที่จะคุกคามสื่อในแบบที่ผ่านมาหรือไม่

"ที่สำคัญในส่วนของคนที่ทำสื่อจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น และจำเป็นจะต้องพูดด้วยภาษาเดียวกัน เสียงเดียวกัน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้สื่ออาจจะยังไม่ได้พูดเป็นเสียงเดียวกันเท่าไรนัก แต่ว่าตอนนี้พูดเป็นเสียงเดียวกัน ความรู้สึกว่า การคุกคามสื่อไม่ว่าจะเป็นฉบับไหน คนไหนก็ตามจะหมายถึงการคุกคามสื่อทั้งหมด ผมว่าตรงนี้เป็นสัญญาณไปทางฝ่ายการเมืองให้เห็นชัดเจนว่า จากนี้ไปสื่อจะไม่ยอมนิ่งดูดาย ถ้ามีการคุกคามสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามเฉพาะตัวสื่อ เฉพาะองค์กร หรือเฉพาะตัวบุคคล"

"และสื่อต้องช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปสนใจข่าวสารบ้านเมืองยิ่งขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าสื่อต้องพิจารณาตัวเองด้วยว่า วิธีการรายงานข่าวสาร เนื้อหาที่รายงานดีเพียงพอ รอบด้านเพียงพอ หรือสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่ ในการทำให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจความเป็นไปในสังคม ผมคิดว่า ถ้าสื่อรวมตัวกันได้และทำให้ชาวบ้านทั่วไปมีความตื่นตัวมากขึ้น โอกาสที่จะสกัดการคุกคามสื่อในทุกรูปแบบจะมีสูง"

เสรีภาพของสื่อ คือ เสรีภาพของประชาชน และการคุกคามสื่อ คือ การคุกคามประชาชน คุกคามประชาธิปไตย และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์สังคมประชาธรรม

แม้จะอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยความก้าวล้ำของเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่จะเกิดประโยชน์แก่ผู้รับสารได้อย่างไร หากสื่อทำหน้าที่กระบอกเสียงให้แก่ประชาชนถูกแทรกแซงและคุกคามการนำเสนอข้อเท็จจริง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์