เตือนระวังอันตราย รถเร่ขายสมุนไพร


นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าววานนี้ (1 เม.ย.) ว่า จากการออกตรวจราชการในต่างจังหวัด

ได้รับรายงานจากอาสาสมัคร

สาธารณสุขว่า ขณะนี้ในพื้นที่ในแถบชนบทจะมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ วิ่งไปเร่ขายสมุนไพรตากแห้งพร้อมปรุงเป็นยาหม้อและยาสมุนไพรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในรูปบดเป็นผง ใช้ ผสมน้ำกิน และยาลูกกลอน

อ้างสรรพคุณรักษาโรคได้

หลายอย่าง และจะวิ่งไปขายตามหมู่บ้านต่างๆ มักจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคที่ชาวชนบทเป็นกันบ่อย เช่น ปวดเมื่อย ไม่มีแรงทำงาน

โดยพ่อค้าเหล่านี้

มักจะใช้วิธีการขายแนวใหม่ โดยให้ชาวบ้านกินทดลองก่อน แล้วจะเก็บเงินสิ้นเดือน หากไม่ได้ผลก็จะไม่เก็บเงิน สร้างความเชื่อมั่นเชื่อถือให้ชาวบ้านมากขึ้นไปอีก

พ่อค้าสมุนไพรรถเร่เหล่านี้

มักจะตีสนิทและอ้างตัวว่ามาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอื่นๆ และบอกเล่าสรรพคุณของสมุนไพรว่ามีสรรพคุณดี รักษาโรคได้หลายอย่าง ทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อและซื้อมากินโดยไม่รู้ถึงอันตราย ช่วงต้นปีนี้ได้รับรายงานว่า มีชาวบ้านที่หมู่ที่ 22 บ้านสันติสุข และหมู่ที่ 16 บ้านตลุง

อยู่ติดกันในตำบลดอนแสลบ

อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี จำนวน 17 ราย เกิดอาการผิดปกติ หลังซื้อยาสมุนไพรลูกกลอนจากรถเร่ในหมู่บ้านไปกิน ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลบ่อพลอยและโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ทุกรายมีอาการเหมือนกันคือ ง่วงซึมอย่างเฉียบพลัน หน้ามืด และลืมตาไม่ขึ้น



นพ.ปราชญ์กล่าวและว่า

จากการสอบสวนหาสาเหตุของโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบว่า ก่อนที่ชาวบ้านจะป่วย 1-2 สัปดาห์ มีชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคเบาหวาน ได้ซื้อยาลูกกลอนจากรถเร่ขาย อ้างสรรพคุณว่าเป็นยาแก้ปวดเมื่อย รักษาเบาหวานและอาการต่างๆได้หลายชนิด

หลังกินยาแล้วรู้สึกมีอาการดีขึ้น

หายปวดเมื่อย ทำงานได้ ชาวบ้านรายนี้จึงบอกต่อๆกัน และต่อมารถเร่รายเดิมได้นำยามาขายให้ชาวบ้านมี 3 ชนิด คือ ยาลูกกลอน ยาทาชนิดน้ำ และยาผงละลายดื่ม ซึ่งมีลักษณะเป็นผง ไม่มีกลิ่น มีรสขม และได้นำยาผงที่อวดอ้างสรรพคุณรักษาสารพัดโรคมาละลายน้ำใส่แก้วให้ชาวบ้านทดลองดื่ม

โดยผสมยาผง

ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 แก้ว มีชาวบ้านดื่มทั้งหมด 17 ราย หลังดื่ม 2-3 นาที ทุกรายมีอาการง่วงซึมอย่างเฉียบพลัน หน้ามืด ลืมตาไม่ขึ้น

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอีกว่า

ญาติของผู้ป่วยได้สอบถามผู้ขายถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ได้รับคำตอบว่า อาการดังกล่าวเป็นอาการปกติ เมื่อผู้ป่วยตื่นขึ้นมาจะมีอาการดีขึ้นเอง หลังจากนั้นผู้ขายได้หลบหนีไป

ซึ่งหลังจากที่ผู้ป่วยตื่น

และกลับไปพักที่บ้านประมาณ 2-3 ชั่วโมง อาการยังไม่ดีขึ้น ญาติจึงนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล และอาการหายเป็นปกติ ซึ่งทางโรงพยาบาลเก็บตัวอย่างน้ำในกระเพาะอาหาร



ยาลูกกลอน และยาทา

ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลปรากฏว่าตรวจพบสารสเตียรอยด์ ชนิดเด๊กซ่าเมทาโซน (Dexa methazone) และเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ส่วนการป้องกันภัยจากรถเร่ขายสมุนไพร ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์

ให้ประชาชนในหมู่บ้าน

ได้รู้เท่าทันถึงอันตรายของยาจากรถเร่ และขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุข 800,000 คน ช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวัง หากพบรถเร่ ขอให้แจ้งประสานงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อจับกุมลงโทษได้เลย

เนื่องจากการเร่ขายยา

จัดเป็นการขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทลงโทษตามมาตรา 111 จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงสารสเตียรอยด์ว่า สเตียรอยด์เป็นยาที่มีผลต่อระบบต่างๆในร่างกายแทบทุกระบบ มีอันตรายสูงมาก การใช้สเตียรอยด์ในขนาดสูง มีผลกดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่ายและยังบดบังอาการของโรคติดเชื้อ

กว่าจะรู้ตัว

ก็ต่อเมื่อโรคกำเริบรุนแรงไปแล้ว และมีผลทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารทะลุ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหารโดยไม่มีอาการปวดมาก่อนได้ การใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ยังทำให้กระดูกผุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือคนที่เป็นโรคไขกระดูกต้องระวัง



เลขาฯ อย. กล่าวอีกว่า

ผลของสเตียรอยด์ยังทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือโปแตสเซียมทางปัสสาวะมาก อาจมีผลทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่มีแรงและหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นเสียชีวิตได้ อย. กำหนดให้สารสเตียรอยด์เป็น ยาควบคุมพิเศษ หากร้านขายยาจะจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้

จะต้องมีใบสั่งยา

จากแพทย์เท่านั้น ยกเว้นสารสเตียรอยด์ที่นำไปใช้เป็นยาเฉพาะที่กับผิวหนัง ตา หู คอ จมูก หรือปาก ซึ่งจัดเป็น ยาอันตราย จำหน่ายได้เฉพาะร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ผลิตจะขาย หรือนำเข้าสารสเตียรอยด์ จะต้องจัดทำบัญชีซื้อ-ขายไว้ด้วย

ต้องรายงานปริมาณและมูลค่าการผลิต

การนำเข้ายาดังกล่าวต่อ อย. เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นสารอันตราย อย.จึงมีการควบคุมดูแลภายใต้กฎหมายที่บัญญัติไว้ ส่วนกรณีที่นำยาสเตียรอยด์ไปขายในลักษณะยาชุดก็มีบทลงโทษตามกฎหมายเช่นกัน

ประชาชนที่นิยมยาแผนโบราณ

ประเภทยาลูกกลอน ก่อนซื้อจะต้องดูชื่อยา ซึ่งจะมีเลขทะเบียนตำรับยา ชื่อผู้ผลิตยาและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ปริมาณยาที่บรรจุ และมีคำว่า ยาแผนโบราณ ระบุไว้ด้วย ทั้งนี้ ชื่อตำรับยาต้องไม่ใช้ชื่อในทำนองอวดอ้าง

หรือทำให้เข้าใจผิดไปจาก

ความเป็นจริงได้ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้ผลิตยาแผนโบราณขออนุญาตขึ้นทะเบียนยาต่อ อย.แล้ว 1 หมื่นกว่าตำรับ ส่วนใหญ่ผลิตเองในประเทศ โดยยาแผนโบราณทุกตำรับ จะต้องไม่มียาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม เลขาฯ อย. กล่าว



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์