คนญี่ปุ่นเริ่มยิ้มออก หลังเจ้าหน้าที่ใช้ "โซเดียม ซิลิเกต" อุดรอยรั่วกู้วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
ความคืบหน้าสถานการณ์วิกฤติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 เม.ย.สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า บริษัทโตเกียว อีเลคตริค เพาเวอร์ (เทปโก) เจ้าของผู้ดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ 250 กม.ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอยรั่วขนาดยาว 20 ซม.บนบ่อระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 จนเกิดน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน-131 สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 4,000 เท่าได้ไหลลงสู่ทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก จนเกรงว่าจะเกิดอันตรายในระยะยาว รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องประกาศเกณฑ์มาตรฐานวัดความปลอดภัยสำหรับอาหารทะเล ซึ่งอาจมีการปนเปื้อน
โดย เทปโก แถลงว่า คนงานของบริษัทสามารถอุดรอยรั่วได้สำเร็จแล้วเมื่อเวลาประมาณ 05.38 น.วันพุธตามเวลาท้องถิ่น
ซึ่งตรงกับ 03.38 น.วันเดียวกันตามเวลาในประเทศไทย ด้วยการอัดสารเคมีที่มีชื่อว่า "โซเดียม ซิลิเกต" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "น้ำแก้ว หรือ น้ำกาว" โดยข้อมูลในอินเตอร์เน็ตระบุว่า สารเคมีตัวนี้เป็นน้ำยาบ่มคอนกรีตชนิดโซเดียม ซิลิเกต สามารถแทรกซึมบนพื้นผิวของคอนกรีตและปูนฉาบได้เป็นอย่างดี หน้าที่ถูกกำหนดให้มาทำปฏิกิริยากับหินปูน ส่วนที่เหลือจากปฏิกิริยาไฮโดรชั่นอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้ผิวหน้าของคอนกรีตแข็งขึ้น ลดรูพรุนที่เกิดจากน้ำในคอนกรีตที่ระเหยออกมาได้
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เทปโก เคยพยายามมาแล้วหลายครั้งในอันที่จะอุดรอยรั่วนี้ให้ได้ ถึงขนาดใช้วิธีการอัดซีเมนต์ลงไปแต่ก็ยังไม่เป็นผล
อย่างไรก็ตามเมื่ออุดรอยรั่วได้แล้ว ดูเหมือนว่าระดับของสารกัมมันตรังสีในน้ำทะเลนอกฝั่งของโรงไฟฟ้าจะลดลงไปด้วย แม้จะเป็นข่าวดีชิ้นแรกในช่วงหลายวันที่ผ่านมาของการกู้วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่วางใจเสียทีเดียว ต้องทำการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่า มีรอยรั่วปรากฏตรงจุดอื่นๆอีกด้วยหรือไม่ ซึ่งทำให้น้ำทะเลมีระดับของสารกัมมันตรังสีสูงเกินปกติ
เจ้าหน้าที่ของเทปโก กล่าวด้วยว่า เทปโกมีความกังวลเกี่ยวกับการสะสมของก๊าซไฮโดรเจนในอาคารคลุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1
ซึ่งอาจมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงเมื่อผสมกับก๊าซออกซิเจน จนเกิดการระเบิดขึ้นมาก็ได้ ดังนั้นเทปโก จึงมีแผนที่จะอัดฉีดแก๊สไนโตรเจน ซึ่งเป็นแก๊สเฉื่อยที่มีอยู่มากมายในชั้นบรรยากาศเข้าไปแทนที่ของก๊าซออกซิเจน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิดขึ้นมา กระบวนการนี้จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด