ไทย ไม่รับคำตัดสินคดีพระวิหารของ ศาลโลก ได้ไหม?

ภาพประกอบ จากเว็บไซต์ www.bangkokpost.comภาพประกอบ จากเว็บไซต์ www.bangkokpost.com


มวลชนบางกลุ่มเรียกร้องให้ "รบ.ไทย" ปฏิเสธอำนาจศาลโลก พร้อมไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินคดีพระวิหาร คำถามก็คือ  จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่?ก่อนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จะอ่านคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556

ได้มีมวลชนบางกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ไทยประกาศ “ไม่ยอมรับ” อำนาจของศาลโลก? หรือหากศาลโลกตัดสินมาในทางลบ ซึ่งอาจส่งผลให้เสียดินแดน ก็ “ไม่ให้ปฏิบัติตาม” คำพิพากษาดังกล่าว ?

“บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ราชบัณฑิตและเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เคยวิเคราะห์ถึงข้อเสนอดังกล่าวว่าสามารถทำตามได้หรือไม่ โดนปรากฎอยู่ในเอกสารประกอบการประชุมนิติศาสตร์แห่งชาติ หัวข้อ “คดีปราสาทพระวิหาร : เบื้องลึก เบื้องหลัง และแนวโน้มของข้อยุติ”

... "สำนักข่าวอิศรา" ขอคัดมาถ่ายทอดต่อบางส่วน

บวรศักดิ์ระบุว่า คำตัดสินของศาลโลกมีสถานะเป็น “คำพิพากษา” ในตัวเอง มีฐานะถึงที่สุดและมีผลผูกพันให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60

-คำถาม- แล้วศาลโลกจะมีกลไกบังคับตามคำพิพากษาของตนเอง เช่นเดียวกับที่ศาลภายในแต่ละประเทศมีหรือไม่

-คำตอบ- ตัวศาลโลกเองไม่มีกลไกบังคับตามคำพิพากษาโดยตรง แต่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งสามารถยื่นขอให้ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” ออกมาตรการมาบังคับให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกได้ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 94 ที่บัญญัติไว้ว่า

1.สมาชิกแต่ละประเทศของสหประชาชาติ รับที่จะอนุวัติตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรม ระหว่างประเทศ ในคดีใดๆ ที่ตนตกเป็นฝ่ายหนึ่ง

2.ถ้าผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใด ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพัน ซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่ง อาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าเห็นจำเป็น ก็อาจทำคำแนะนำ หรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น

บวรศักดิ์จึงระบุว่า “จากบทบัญญัตินี้ จึงเห็นได้ว่า การไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ใช่ปัญหาทางกฎหมายอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ที่ต้องร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงฯเพื่อให้กำหนดมาตรการ ซึ่งเป็นดุลยพินิจเด็ดขาดของคณะมนตรีความมั่นคงฯ”

ทั้งนี้ เมื่อไทยแพ้คดีประสาทพระวิหารต่อศาลโลกครั้งแรก เมื่อปี 2505 ก็ประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก แต่ยอมที่จะปฏิบัติตามในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 94

-คำถาม- หากไทยแพ้คดีปราสาทพระวิหารอีก เราจะเปลี่ยนท่าที ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หรือไม่? และก่อนหน้านี้เคยมีประเทศอื่นๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกหรือไม่ แล้วผลที่ตามมาคืออะไร?

-คำตอบ- การไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในหลายๆ กรณี

1.คดีสหรัฐอเมริกา vs อิหร่าน จากกรณีที่บุคลากรทางการทูตและกงสุลของสหรัฐฯ ถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งอิหร่านแต่ก็ไม่ปฏิบัติตาม

2.คดีนิคารากัว vs สหรัฐฯ จากกรณีที่นิคารากัวกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าสนับสนุนกบฏคอนทราสก่อการร้ายด้วยการให้วางทุ่นระเบิดรอบๆ อ่านนิคารากัว ซึ่งสหรัฐฯ ยื่นคัดค้านว่าศาลโลกไม่มีอำนาจ แต่ศาลโลกยกคำคัดค้าน สหรัฐฯ จึงถอนตัวจากคดี

“คดีนี้ท้ายสุดศาลโลกพิพากษาว่าสหรัฐฯ ละเมิดสนธิสัญญาและกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ที่ต้องไม่แทรกแซงและละเมิดอธิปไตยของรัฐอื่น และให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่สหรัฐฯ ไม่ปฏิบัติตาม นิคารากัวจึงนำเรื่องไปสู่คณะมนตรีความมั่นคงฯ ซึ่งในการลงมติ 11 ชาติลงมติให้ทุกรัฐเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ 1 เสียงของสหรัฐฯ และ 1 เสียงในฐานะผู้แทนถาวรประจำคณะมนตรีความมั่นคงฯ วีโต้ ขณะที่มี 3 ชาติงดออกเสียง ทำให้การบังคับตามคำพิพากษาของศาลโลกไม่สามารถทำได้ แม้นิคารากัวจะนำเรื่องไปสู่สมัชชาสหประชาชาติ ที่ลงมติ 94 ต่อ 3 เรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ยอม ท้ายสุด นิคารากัวต้องถอนคำร้องของตนในปี ค.ศ.1992/พ.ศ.2535”

บวรศักดิ์ ชี้ให้เห็นว่า นี่คือการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกของชาติมหาอำนาจที่มีสิทธิ “ยับยั้งเด็ดขาด” หรือวีโต้ ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ อีกทั้งยังเป็นผู้บริจาครายใหญ่ให้กับสหประชาชาติ

“แต่ไทยไม่ใช่มหาอำนาจเช่นนั้น ดังนั้นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ดูจะเป็นทางเลือกที่เสียหายน้อยที่สุด เพราะจะทำให้ไทยสามารถยืนอยู่ในสังคมระหว่างประเทศได้อย่างอารยชน”

บวรศักดิ์ ยังกล่าวถึงปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาว่า สำหรับการปักปันเขตแดน เนื่องจากสองประเทศมีพรมแดนทางบกติดกัน 798 กิโลเมตร มีพื้นที่ปักหลักเขตไว้แล้ว 73 หลัก เป็นระยะทาง 603 กิโลเมตร เหลือที่ยังไม่ได้ปักหลักเขตอีก 195 กิโลเมตร

โดยใน 73 หลักเขต คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ได้ประชุมและให้ชุดสำรวจหาที่ตั้งไปแล้ว 48 หลัก โดยเห็นตรงกัน 33 หลัก เห็นไม่ตรงกัน 15 หลัก ซึ่งต้องเจรจากันต่อไป

นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชา ยังมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด



ขอบคุณ : isranews.org

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์