เผือกร้อน ข้ามปี งานหนัก นายกฯ นกแก้ว โยกหนี้ ให้แบงก์ชาติ

เผือกร้อน ข้ามปี งานหนัก นายกฯ นกแก้ว โยกหนี้ ให้แบงก์ชาติ

(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2554)

มติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม เห็นชอบการโอนหนี้คงค้างจากการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินเมื่อปี 2540 ให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้บริหารจัดการและชำระหนี้โดยไม่นับรวมเป็นหนี้สาธารณะ

สะท้อนอะไร

มติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม รับทราบว่าสัญญาที่มีให้กับ กทม.สิ้นสุดลงในวันที่ 1 มกราคม 2555 และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะเข้ามาดำเนินการในวันที่ 2 มกราคม 2555

สะท้อนอะไร

สะท้อนจุดเด่นของ "นายกฯนกแก้ว" ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระนั้นหรือ สะท้อนจุดเด่นของ "ปุเลง...นอง" ของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ กระนั้นหรือ

นี่มิได้เป็นการของ "นายกฯนกแก้ว" อย่างแน่นอน

เพราะเป้าหมายของที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักร คือ การขยายศักยภาพ เพิ่มรายได้ เพื่อลดการขาดทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับเป้าหมายของการโอนหนี้คงค้างให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินคือการลดภาระหนี้สาธารณะลงได้ประมาณร้อยละ 10 โดยพลัน

ตรงกันข้าม นี่เป็นการของรัฐบาล "ทักษิณส่วนหน้า" อย่างไม่ต้องสงสัย



ถามว่าจุดเด่นของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จากเดือนมกราคม 2544 ถึง เดือนกันยายน 2549 คืออะไร

หากให้พรรคประชาธิปัตย์ตอบ ก็อึงคะนึงด้วยคำว่า ทุจริต คอร์รัปชั่น ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล

แต่หากให้กว่า 15 ล้านเสียงที่เทคะแนนให้พรรคเพื่อไทยกระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบ

ก็เห็นแต่ "นิ้วโป้ง" ที่ชูพร้อมกับคำว่า "ซูดดด ยอดดดด"

เป็นความสุดยอดในกระบวนการบริหารจัดการ เป็นความสุดยอดในการแปรนามธรรมแห่งนโยบายเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติ

นั่นก็คือ ทำให้ "ประชาธิปไตยกินได้"

ข้อเสนอของการรถไฟแห่งประเทศไทยผ่านกระทรวงคมนาคมที่จะเข้าบริหารจัดการพื้นที่อันเป็นทรัพย์สินของตน แทน ที่จะให้ กทม.เช่าด้วยราคาแสนถูก นั่นแหละคือการขับเคลื่อนในเรื่องของการบริหาร

อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อเพิ่มผลกำไรไป ลดทอนในส่วนที่ขาดทุนด้านอื่น

ยิ่งเป็นข้อเสนอในเรื่องการโอนหนี้สินคงค้างที่มีมาตั้งแต่วิกฤตเมื่อปี 2540 ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่าง เบ็ดเสร็จ

ยิ่งสะท้อนความกล้า



ไม่ว่าข้อเสนอนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่การหยิบเอาหนี้สินคงค้าง 1.14 ล้านล้านบาทจากสถานการณ์เมื่อปี 2540 นับว่าแหลมคม

นี่เป็น "เผือกร้อน" ที่หลายคนไม่อยากยื่นมือเข้าไปแตะ

แท้จริงแล้ว หนี้สินนี้เริ่มต้นที่ 1.4 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ชำระดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ชำระเงินต้น

เป็นเวลา 14 ปีแล้ว ที่รัฐต้องจัดงบประมาณปีละ 6 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระ ดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน เป็นเวลา 14 ปีแล้ว ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถชำระเงินต้นไปได้ 300 ล้านบาท จึงเหลือหนี้คงค้างอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน

14 ปีชำระได้ 300 ล้านบาท

14 ปีชำระดอกเบี้ยไปแล้ว 8 แสน 4 หมื่นล้านบาท


การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกปัดปฏิเสธไม่ยอมรับมติ ครม.เป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยก็จะนำไปสู่การถกแถลงอภิปรายถึงเหตุถึงผล

ที่สำคัญก็คือ หากไม่ทำอย่างนี้แล้ว จะดำเนินการอย่างไรจึงจะเป็นคุณ


ความขัดแย้งมิได้เป็นเรื่องเลวร้าย ตรงกันข้าม ภายในความขัดแย้งย่อมมีหนทางออกที่เหมาะสม

รัฐบาลมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เมื่อมีปัญหาก็ต้องเข้าไปศึกษา หาวิธีแก้ปัญหาเพราะปัญหาเขามีไว้แก้มิได้มีไว้แบก

เรื่องอย่างนี้พวก "ดีแต่พูด" ไม่ทำหรอก มีแต่ "นายกฯนกแก้ว" เท่านั้น ที่กล้าลงมือทำ

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์