วิวาทะ เฉลิม-อภิสิทธิ์ ผลสอบคดี 91 ศพแดง

ที่มา - สาระในคำสัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตอบโต้กันกรณีผลการสอบสวนเหตุสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา



ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

รองนายกรัฐมนตรี

"...การเปิดสำนวนผลการสอบสวนของทางการญี่ปุ่น เป็นหน้าที่ของตำรวจ เพราะเรื่องนี้ทางตำรวจญี่ปุ่นบอกผมเอง เพราะเห็นเราเป็นคนจริงจัง ที่สำคัญทหารเขาก็บอกชัดเจนว่าปฏิบัติตามหน้าที่ ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. .."

"เมื่อเช้านี้ (6 ธันวาคม) ตำรวจญี่ปุ่นติดต่อมา พร้อมส่งสำนวนการสืบสวนการตายของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่น ประจำสำนักข่าวรอยเตอร์ จำนวน 60 หน้า ซึ่งทางสำนักข่าวรอยเตอร์ได้ทำการว่าจ้างนักสืบสากลสืบสวนคดีตั้งแต่นักข่าวเสียชีวิตระหว่างการทำข่าวการชุมนุสมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่สี่แยกคอกวัว (10 เมษายน 2553) ซึ่งที่ตำรวจส่งสำนวนให้กับทางการไทย เพราะก่อนหน้านี้ไม่กล้าส่งให้รัฐบาลชุดก่อน (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เพราะแนวทางการสอบสวนไม่ตรงกับนักสืบอิสระ แต่เขารู้ว่ารัฐบาลนี้เอาจริง จึงไว้ใจส่งสำนวนให้ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้กองการต่างประเทศของตำรวจดำเนินการแปลสำนวน

ขอฝากไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะผมกลับมาอ่านข่าวตอนหลังพบว่านายอภิสิทธิ์นั้นเข้าใจผิดที่ว่า ผมไปชี้นำตำรวจให้สอบสวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ในขณะนั้น

แต่พนักงานอัยการเห็นว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นบุคคลสำคัญ จึงสอบสวน เพราะเรื่องนี้เป็นการตายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำให้ตายเขาก็ไม่สอบสวนคดี ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยส่งสำนวนให้ศาล

นอกจากนี้ ยังมีข่าวออกมาว่าการชุมนุมครั้งนี้มีการใช้ปืนทราโว แต่พยานคนดังกล่าวได้ออกมายืนยันแล้วว่าไม่มีปืนทราโว มีแต่เจ้าหน้าที่เอาปืนมาให้และทำการสอบสวนรวมถึงเรื่องชายชุดดำก็ไม่มีเป็นการกล่าวอ้างจาก ศอฉ.

ส่วนการเปิดสำนวนผลการสอบสวนของทางการญี่ปุ่น เป็นหน้าที่ของตำรวจ เพราะเรื่องนี้ทางตำรวจญี่ปุ่นบอกผมเอง เพราะเห็นเราเป็นคนจริงจัง ที่สำคัญทหารเขาก็บอกชัดเจนว่าปฏิบัติตามหน้าที่ ปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ.

ตอนนี้คงบอกไม่ได้ว่าสำนวนของทางการญี่ปุ่นชี้ชัดว่าใครผิด แต่เอาง่ายๆสรุปว่า เป็นการตายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ มีพยานบุคคล 5-6 ปาก พยานนิติวิทยาศาสตร์ และยืนยันว่าไม่มีชายชุดดำ หากจะมีก็เป็นชายชุดดำที่มาจาก ศอฉ. .."

วิวาทะ เฉลิม-อภิสิทธิ์ ผลสอบคดี 91 ศพแดง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

"..ต้องตั้งคำถามกลับไปที่รัฐบาลว่า ถ้าอยากจะให้เกิดความปรองดอง ก็ควรมาร่วมกันให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการค้นหาความจริง ไม่ใช่เอาเรื่องมาเป็นประเด็นสร้างเรื่องกล่าวหากันทางการเมือง.."

"..คำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุสำนักข่าวรอยเตอร์จ้างนักสืบสืบในทางลับพบว่า การเสียชีวิตของช่างภาพรอยเตอร์ในการชุมนุมคนเสื้อแดงและนำสำนวนมาให้ตำรวจนั้นถือว่าเป็นการชี้นำ ผมได้เตือนไปแล้วว่าควรให้เจ้าหน้าที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง และหาก ร.ต.อ.เฉลิมบอกว่าใครมีหลักฐานข้อมูลอะไร ก็ควรนำมาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวน เพราะเป็นการสอบสวนในรัฐบาลนี้อยู่แล้ว เหตุใดจึงใช้วิธีการออกมาพูดจาชี้นำ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นเจตนาชัดว่าจะพยายามให้เป็นประเด็นทางการเมือง

แต่ทั้งผมและคุณสุเทพ พร้อมที่จะไปให้ความร่วมมือให้ข้อเท็จจริงต่างๆ อยู่แล้ว จึงอยากฝากให้รัฐบาลปล่อยเรื่องนี้เป็นเรื่องของการสอบสวน หากรู้จักใครว่ามีหลักฐานหรือมีพยานใดๆ ก็ควรให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ไม่เช่นนั้นแล้วกระบวนการหรือข้อสรุปทั้งหลายจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ เพราะจะกลายเป็นเรื่องว่าการเมืองมาชี้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ขณะนี้ผมอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เตรียมไปชี้แจงในวันที่ 9 ธันวาคม ซึ่งไม่รู้สึกกังวล และคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่หวั่นไหว เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในที่สุด เพราะ ร.ต.อ.เฉลิมจะไม่มารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป จึงคาดหวังว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้รับข้อเท็จจริงและความเป็นธรรมจากเรื่องที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ผมยังไม่ได้คุยกันกับคุณสุเทพ เพราะต่างคนต่างรวบรวมเอกสารกันอยู่ ส่วนจะมีการนำข้อมูลที่จะไปให้ปากคำไปขยายผลเหมือนกรณีที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. ให้ปากคำหรือไม่นั้น ตรงนี้มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ จึงอยากเรียกร้องให้การเมืองถอยออกไป แล้วให้คนมีหน้าที่ค้นหาความจริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายจะดีที่สุด

"การออกมาแสดงบทบาท เป็นเพราะร.ต.อ.เฉลิม อยากจะแสดงตน เพื่อเอาอกเอาใจใครที่อยากจะเอาใจ แต่ไม่ทราบ เพราะจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ และตรงนี้ต้องตั้งคำถามกลับไปที่รัฐบาลว่า ถ้าอยากจะให้เกิดความปรองดอง ก็ควรมาร่วมกันให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการค้นหาความจริง ไม่ใช่เอาเรื่องมาเป็นประเด็นสร้างเรื่องกล่าวหากันทางการเมือง

ผมขอยืนยันว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะไม่มีผลกดดันจนทำให้ต้องเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม เพราะความเหมาะสมในการจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าผมหรือใครจะเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพราะการพิจารณาเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมจะต้องอยู่บนหลักการ

แต่ตอนนี้มีความพยายามที่จะทำให้ทุกฝ่ายผิดหมดแน่นอนก็โดยผู้ที่ต้องการผลักดันเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่ออ้างว่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่อยากย้ำว่ารายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ฉบับแรก เขียนชัดว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านจะเป็นทางออก แต่ไม่ใช่การนิรโทษกรรม และไม่ใช่เรื่องที่บังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่ไม่คำนึงถึงบริบททางการเมือง

"ผมมีหน้าที่ในการต่อสู้ตามรูปคดี แต่จะไม่นำเรื่องดังกล่าวมาปนกับจุดยืนทางการเมือง วันนี้ผมไม่ทราบแนวคิดของรัฐบาลว่าคืออะไร และยังสร้างเงื่อนไขความแตกแยกอยู่ คิดว่าวันนี้อยากให้ทุกฝ่ายมาแก้ไขปัญหาของประชาชนร่วมกัน.."

หน้า 2,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2554

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์