วิทยาแนะเลี่ยงร่วมแซยิดแม้ว กันหวัด09ระบาด สั่งอสม.ทั่วปท.ค้นหาผู้ป่วย สอบรพ.เอกชนไม่ยอมจ่ายยา


"วิทยา"แนะเลี่ยงร่วมแซยิด"แม้ว" กันหวัด 2009 ระบาด ถ้าอดใจไม่ไหวให้ใส่"หน้ากาก" ดีเดย์ 30 ก.ค.สั่งอสม.ทั่วปท.ค้นหาผู้ป่วยและให้ความรู้ จี้สอบข้อเท็จจริง รพ.เอกชนไม่จ่ายยาต้านไวรัสทำคนไข้ตาย ทำเนียบล้างใหญ่ หลังพบทีม"เสธ.หนั่น"ติดเชื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภาคกลาง ร่วมกันแถลงข่าว "พลัง อสม.ต้านภัยไข้หวัดใหญ่ 2009Ž" เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือโรคหวัดใหญ่ 2009 ที่สถานการณ์กำลังลุกลามไปทั่วประเทศ

นายวิทยา แถลงว่า สธ.มีนโยบายระดมพลัง อสม.ทั่วประเทศ ออกเยี่ยมบ้านเพื่อให้คำแนะนำการป้องกันโรค และค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและชุมชนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว หากป่วยจะต้องให้พบแพทย์ทันที มั่นใจว่ามาตรการนี้จะลดการเสียชีวิตได้ โดยในวันที่ 29 กรกฎาคม เวลา 13.00 น. จะนัดหารือกับ อสม.และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อตรวจสอบความพร้อมก่อนจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคมนี้

"อสม.จะเป็นวัคซีนตัวแรกที่ให้กับพี่น้องในชนบท โดยการให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 หากป่วยเป็นไข้ และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีน้ำมูก ปวดเมื่อย ให้เข้าสู่กระบวนการในการรักษาทันที หากดำเนินการได้ในลักษณะนี้จะทำให้ลดการระบาดของโรค" นายวิทยากล่าว

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ไม่สามารถสั่งจองวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มได้ เพราะจองกันเต็มหมดแล้ว การสั่งจองวัคซีน 2 ล้านโดส ที่นำเข้าจากฝรั่งเศสเพื่อความมั่นคงของประเทศ แม้วัคซีนจะยังไม่ได้รับรองผลข้างเคียงแต่เป็นหลักประกันเบื้องต้น ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศยากจนทำให้สามารถสั่งจองได้เพียงเท่านี้ หากไทยต้องการสั่งจองเพิ่มคงจองได้อีกประมาณกลางปีหน้า หรือต้องรอให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ผลิตวัคซีนเชื้อตายเอง
 
นายวิทยา ยังกล่าวขอรับคำแนะนำของ ศ. ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงการให้ความรู้ประชาชนเพื่อนำมาปรับปรุงและลดความสับสน โดยจะหาผู้ที่ให้ข้อมูลต่อสาธารณชนในส่วนของ สธ.เพียงคนเดียว ส่วนกรณีมีข่าวร้องเรียนว่า โรงพยาบาลเอกชนในเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ไม่ยอมให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จนทำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 เสียชีวิต สั่งการให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับให้กวดขันเรื่องมาตรฐานการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และการให้ยาต้านไวรัส ของโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย สปสช. ให้เป็นไปตามมาตรฐาน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการป้องกันแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 กรณีจะมีผู้ไปร่วมงานแซยิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวนมากนั้น นายวิทยากล่าวว่า หากใครป่วยไม่ควรไปแสดงสปิริตอยู่กับบ้าน แต่หากห้ามใจไม่ไหว ควรใส่หน้ากากไปยังสถานที่ชุมนุมจำนวนมาก ทั้งนี้ ควรจะจัดในที่โปร่งโล่ง และถ้าจะให้ดีก็ควรหลีกเลี่ยงการจัดชุมนุมดีกว่า ส่วนการที่อดีตนายกรัฐมนตรี จะให้ข้อมูลเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2009 ผ่านทางเว็บไซต์ทวิตเตอร์ คงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกัน เพราะยิ่งมากหมอยิ่งมากความ และสื่อมวลชนคงจะนำมาพาดหัวข่าวอยู่แล้ว

นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า มอบหมายให้ อสม. ซึ่งมีกว่า 980,000 คนทั่วประเทศ และมีประจำทุกหมู่บ้าน เข้ามาเป็นกำลังเสริมคัดกรองผู้ป่วยในหมู่บ้าน/ชุมชน จะออกเยี่ยมบ้านในความรับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีการกระจายยาต้านไวรัสไปให้คลีนิค เพราะเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของฝ่ายวิชาการ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งการรักษาพยาบาลไม่ใช่เพียงแต่เรื่องยาต้านไวรัสเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงยาลดไข้ การให้น้ำเกลือ การเฝ้าสังเกตอาการ ฯลฯ เป็นองค์ประกอบร่วมกันในการรักษา

"ข้อดีของการให้ยาต้านไวรัสผ่านทางคลีนิคต่างๆ คือผู้ป่วยเข้าถึงยาในการรักษาได้เร็วขึ้น แต่การได้รับยาเร็วนั้น จะเร็วเกินไปจนได้ผลเสียหรือไม่ต้องพิจารณา หากมีการกระจายยาในระดับคลีนิคท้องถิ่นแล้วค่อนข้าง จะคุมการใช้ยายาก ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ผู้ที่มาใช้บริการในคลีนิคจะต้องเสียเงินหากได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ แต่หากไปยังสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีสิทธิอยู่ ก็ไม่เสียค่ายา" รศ. (พิเศษ) นพ.ทวีกล่าว

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. กล่าวว่า เป็นห่วงช่วงของการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ตรังเกมส์ วันที่ 9-19 กันยายน ซึ่งต้องดูสถานการณ์ไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม ตั้งข้อสังเกตว่าหากยังไม่ดีขึ้นถ้าเลื่อนได้ก็ขอให้เลื่อน แต่คิดว่าช่วงเดือนกันยายนการแพร่ระบาดน่าจะลดลงแล้ว  ส่วนเดือนพฤศจิกายนมีข่าวว่า ทัวร์คอนเสริต์ของวงซุปเปอร์จูเนียร์จะมาแสดงที่กรุงเทพฯน่าจะเลื่อนหรือให้งดหรือไม่นั้น เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ไม่สามารถสั่งให้หยุดการแสดงได้ แต่เชื่อว่าเดือนพฤศจิกายนแพร่ระบาดน่าจะลดน้อยลงแล้ว

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 13.00 น. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) จัดกิจกรรมทำความสะอาดใหญ่ทำเนียบรัฐบาล หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัด 2009 มากว่า 3 เดือน มี น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นประธานเปิดงาน มีข้าราชการในทำเนียบ เจ้าหน้าที่ กทม. พนักงานทำความสะอาดของบริษัทเอกชนเข้าร่วมประมาณ 300 คน ช่วยกันทำความสะอาดส่วนราชการในทำเนียบรัฐบาล 5 แห่ง ได้แก่ สลน. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการพระราชดำริ (กปร.) ร่วมถึงร้านค้า ห้องทำงานสื่อมวลชน (รังนกกระจอก) ฯลฯ พร้อมนำคู่มือปฏิบัติป้องกันการแพร่ระบาด หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือมาแจกให้ทุกคนด้วย

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของ สลน.รายหนึ่งเปิดเผยว่า ทราบว่า คณะทำงานของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี รายหนึ่งได้รับเชื้อดังกล่าว แต่รักษาตัวที่โรงพยาบาลและปัจจุบันหายดีแล้ว

ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวมอบนโยบายให้กับปลัดจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2552 ช่วยกันป้องกันการแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยให้ถือเป็นปัญหาความมั่นคง และนายอำเภอต้องศึกษาช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนที่กำลังแตกตื่นและกังวล เนื่องจากยังพบว่า การรายงานสถานการณ์แต่ละครั้งของแพทย์จะไม่เหมือนและตรงกัน นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ทำคู่มือเพื่อแจกจ่ายให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และถือเป็นเรื่องที่เร่งด่วน

นายสุริยะ ชมศรีเมฆ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ราชบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ จังหวัดราชบุรีมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ยืนยัน 200 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 7 รายนั้น เป็นคนราชบุรี 6 ราย และที่อื่น 1 ราย ซึ่งเมาเยี่ยมญาติ ที่ราชบุรี และติดเชื้อจากที่อื่น และมี 2 รายที่เสียชีวิตจากการไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่กรุงเทพฯ แต่เป็นคนราชบุรี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาโรงพยาบาลมีอาการหนักมาแล้ว เพราะคิดว่าป่วยเล็กน้อยและหายากินเอง ทำให้การรักษาค่อนข้างลำบาก 

ที่ จ.ตราด นายประทีป จงสืบธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน-15 กรกฎาคม พบผู้ป่วย 71 ราย หายเป็นปกติแล้ว 66  ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวโรงพยาบาล 5 ราย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายเกรกอรี ฮาร์เทิล โฆษกขององค์การอนามัยโลก (ฮู) เปิดเผยว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ 160 ประเทศทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 800 รายแล้ว และต้องมีการเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่เชื้ออาจจะมีการกลายพันธุ์และเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงฤดูหนาว

ขณะที่เอพีรายงานว่า นพ.เคย์จิ ฟุกูดะ ผู้อำนวยการฝ่ายไข้หวัดของฮู เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังคงอยู่ในช่วงแรกเริ่มเท่านั้น และการคำนวณผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกถึง 2 พันล้านคน เป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลที่เราอาจจะได้เห็น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์