ลดเป้าส่งออกมีสิทธิ์ถึงติดลบ

สื่อข่าวรายงานว่า แผนกวิจัยเศรษฐกิจ การเงิน อุตสาหกรรม มูดีส์ อีโคโนมีส์ ดอท คอม ระบุในรายงานที่ออกมาล่าสุดว่า จากตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 เปิดเผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ที่ผ่านมาติดลบ 4.3% ขณะที่ผลผลิตหดตัวมากถึง 22.8% บ่งชี้ว่า
ไทยกำลังกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดในเอเชีย โดยคาดปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 2.4% โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน 

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า

เมื่อดูจากตัวเลข สศช.แล้วยังไม่ได้เห็นว่ามีปัญหาอะไรมากกว่าประเทศอื่น บางประเด็นอาจดีกว่าคนอื่น และบางประเด็นอาจแย่กว่าคนอื่น แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้นอกเหนือไปกว่าการคาดหมายที่เคยบอกไว้ที่ว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้เศรษฐกิจอาจจะหดตัวใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 4 ของปี 51 หรืออาจแย่กว่า และจะติดลบต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 2 แต่จะเริ่มติดลบน้อยลงในไตรมาสที่ 3 โดยจะพยายามทำให้ไตรมาส 4 กลับมาเป็นบวกให้ได้ โดยในที่ประชุม ครม.กำชับให้รัฐมนตรีทุกคนเร่งจัดทำโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ออกไปแล้ว เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และใน 45 วันจากนี้จะมีมาตรการกระตุ้นรอบ 2 ออกมา

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า

การประชุมทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยปี 2552 วันนี้ (25 ก.พ.) มีแนวโน้มจะปรับลดเป้าหมายการส่งออกต่ำกว่า 0-3% เนื่องจากมีการปรับลดเป้าการส่งออกสินค้ารายตลาดเกือบทุกภูมิภาค ทั้งตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา และตลาดหลัก เช่น ยุโรป 

โดยนายปิลัณ พานิชศุภผล ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า

ได้ปรับลดเป้าการส่งออกตลาดตะวันออกกลางเหลือขยายตัว 10% จากเดิม 18% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้ตะวันออกกลางมีรายได้ลดลง ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้การลงทุนในประเทศอื่น ของตะวันออกกลางประสบปัญหา ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่จะผลักดันการส่งออกจะมุ่งเน้นธุรกิจบริการทุกประเภท ยกเว้นอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่ชะลอตัว ขณะที่ น.ส.จิราภรณ์ ตุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย กล่าวว่า
ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกตลาดอินเดียอยู่ที่ 10% มูลค่า 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมขยายตัว 20% แต่ยังถือว่าตลาดอินเดียมีโอกาสส่งออก เพราะมูลค่าการส่งออกยังน้อย โดยสินค้าส่งออกสำคัญยังเป็นกลุ่มอิเล็กทรอ-นิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า และสินค้าผลไม้ ที่ได้ประโยชน์ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 82 รายการ 

ขณะที่นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ กล่าวว่า

การส่งออกไปแอฟริกาจะลดลงเหลือ 5-8% จากเดิม 10% เพราะเศรษฐกิจแอฟริกาชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจแอฟริกาจะขยายตัวเหลือ 3-5% จากเดิม 6-7% ซึ่งเป็นผลกระทบวิกฤติการเงินโลก อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเช่น อาหาร และข้าวยังส่งออกได้ดีอยู่ ด้านนายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า การส่งออกไปตลาดจีนปีนี้คาดจะขยายตัว 7% ลดลงจากเดิมที่ 15% โดยจะใช้กลยุทธ์ในการเจาะตลาดด้วยการขยายจำนวน และพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และการผลักดันสินค้าและบริการใหม่ๆในตลาดจีนเพิ่มขึ้น 

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุง-ลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า

การส่งออกไปยุโรปจะขยายตัว 3% ลดลงจากเดิมที่ 4-5% จากผลของเศรษฐกิจโลก โดยสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกลดลง คือ ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังมีสินค้าส่งออกได้ดีอยู่คือไก่แปรรูป ผัก ผลไม้สด เสื้อผ้า และอัญมณี ขณะที่นางจันทิรา ยิมเรวัต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตลาดสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัว 2% เท่าเป้าหมายเดิม แม้ว่าสหรัฐฯจะประสบวิกฤติเศรษฐกิจภายใน เพราะมีการเจาะช่องทางการขายสินค้าพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น สถาบันศึกษา โรงพยาบาล กองทัพ เรือสำราญ สวนสนุก รวมทั้งเปิดร้านอาหารไทย นอก เหนือจากการกระจายสินค้าภายในซุปเปอร์มาร์เกตที่จะช่วยการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารให้ขยายตัวดีขึ้น. 

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์