ระดมสมองก่อนจัดตั้งสบ.ชต.

ห้วง 10 ปี ก่อนรัฐบาลทักษิณ สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ทำงานร่วมกับกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 หรือ พตท.43

แม้จะพูด ได้ไม่เต็มปากว่าสงบเรียบ ร้อย แต่ก็อยู่ในข่ายค่อนข้างสงบ

"ไฟใต้" ลุกโชนขึ้นอีกครั้งในรัฐบาลทักษิณ ที่เปรียบ เทียบกลุ่มก่อการร้ายเป็นโจรกระจอก สั่งยุบศอ.บต. และพตท.43

ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แม้จะมีการฟื้นศอ.บต. และพตท.43 ขึ้นใหม่

แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เคยเป็น

เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากพ.ร.บ.จัดตั้งศอ.บต. ถูกแช่แข็ง เรื่อยมาถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ขณะเดียวกัน ศอ.บต. ที่เคยขึ้นตรงต่อนายกฯ ก็มาอยู่ใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

และยึดแนวทาง "การทหารนำการเมือง" ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ

เมื่อพรรคประชาธิปัตยเข้ามาเป็นรัฐบาล มีแนวคิดจัดตั้งสำนักบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สบ.ชต. ขึ้นเป็นองค์กรถาวรเพื่อดับไฟใต้ ดำเนินการภายใต้กรอบ "การเมืองนำการทหาร"

หลักการคือ เป็นองค์กรอิสระที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ขึ้นตรงต่อนายกฯ มีกฎหมายรองรับ บริหารงบประมาณได้เอง

ให้อำนาจโยกย้ายข้าราชการข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่มีปัญหาออกจากพื้นที่

อำนาจเบ็ดเสร็จและงบประมาณก้อนโต ทำให้โมเดลดับไฟใต้นี้ถูกจับตา และเกิดคำถามมากมาย

แม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังเห็นไม่ตรงกันเรื่องการจัดตั้งองค์กร

ที่สำคัญคือแรงต้านจากฝ่ายทหาร

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ศอ.บต. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการจัดตั้งองค์กรเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาชายแดนจังหวัดภาคใต้ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ เพื่อระดมความเห็นจากนักวิชาการ และหน่วยงานผู้ปฏิบัติในพื้นที่ให้ได้แนวทางที่สมบูรณ์ที่สุดก่อนออกกฎหมายจัดตั้งองค์กร โดยมีความเห็นทั้งจากห้องสัมมนา และการให้สัมภาษณ์ไว้น่าสนใจ ดังนี้



วรวิทย์ บารู

ส.ว.ปัตตานี



รัฐบาลต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องยอมรับว่าปัญหาในพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากการปกครอง ดังนั้นรัฐบาลต้องเปิดใจให้กว้าง เพราะในพื้นที่ปลายด้ามขวานยังมีกลุ่มคนที่ต่างวัฒน ธรรม ต่างความ เชื่อ จึงไม่ควรแก้ปัญหาอย่างสะเปะสะปะ ใครอยากทำอะไรทำ จนติดหล่มอยู่ในปัญหาความรุนแรง

เมื่อมีเหตุความรุนแรงก็พยายามจะหาแต่ยุทโธปกรณ์ลงไปแก้ปัญหา แต่ไม่มีการพูดถึงระบบคุณธรรม ความเป็นธรรมที่ประชาชนต้องการ รวมถึงการตอบสนองความต้องการทางอาชีพตามลักษณะวิถีชุมชน ยังหาทางออกกันคนละทาง

จึงควรเปิดกว้างให้มีโอกาสร่วมกันสร้างชาติ ตัดปัญหาการเมืองการปกครอง ให้คุณค่ากับผู้ปฏิบัติ ผู้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ เน้นประชาชนเป็นหลัก ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด



ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี



ผมเห็นว่าเลขาฯสบ.ชต. ควรจะขึ้นอยู่กับนายกฯ ไม่ใช่มหาดไทย แม้ว่ามหาดไทยจะมีจุดเด่นในการประสานงาน เพราะอำนาจในการสั่งข้าราช การในพื้นที่ควรเป็นอำนาจตรงจากนายกฯ และไม่ควรกำหนดพื้นที่จังหวัดชาย แดนภาคใต้เป็น 5 จังหวัด เพราะหากกำหนดพื้นที่กว้างเกินไป ปัญหาจะขยายใหญ่ตามพื้นที่หรือไม่

และยังมีปัญหากับการใช้งบประมาณที่ต้องดูแลพื้นที่มากขึ้น ควรกำหนดพื้นที่ความขัดแย้งและระดมคน งบประมาณ ไปในพื้นที่ที่มีปัญหาเท่านั้น



อาซิส เบ็ญหาวัน

ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุข

จังหวัดชายแดนใต้(สสต.)



ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อนหน้านี้ ที่รัฐบาลตั้งศอ. บต.ขึ้น ซึ่งเป็นองค์กรแก้ปัญหา เฉพาะกิจ มีส่วนราชการลงมาทำงานในพื้นที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในจัง หวัดชายแดนภาคใต้ รู้เลยว่าถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็เดินไปหาศอ.บต.

แต่เมื่อช่วงระยะเวลาหนึ่งถูกยุบไป และกลับมาอีกครั้งในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ แต่ก็ยังมีสภาพเป็นองค์กรเฉพาะกิจอยู่ ยังมีปัญหาความลักลั่นในการทำงานอยู่ แต่ก็ยังดีที่มี

เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าควรตั้งสบ.ชต.ขึ้น พวกผมก็เห็นด้วย ในเชิงที่จะมีองค์กรถาวรขึ้นมา เพราะปัญหามันลุกลามอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ยังตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ เหตุใดจึงต้องเปลี่ยนชื่อ

เมื่อเป็นองค์กรลักษณะเดียวกันก็ให้เป็นการปรับองค์กร โดยใช้ชื่อเดิมคือศอ.บต. เพราะชื่อนี้ติดหู และอยู่ในใจของประชาชนอยู่แล้ว หากเปลี่ยนชื่อก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนอีก ทั้งที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะเห็นด้วยในการจัดตั้งองค์กร ถาวร แต่ก็ยังมีปัญหาในรายละเอียด จึงต้องจัดสัมมนาเพื่อระดมสมองและความรู้เพื่อเสนอให้รัฐบาลรับทราบ อย่างเช่นเมื่อเป็นองค์กรถาวรก็ต้องมีอำนาจ สามารถสั่งข้าราชการที่ทำให้ปัญหาในพื้นที่มีมากขึ้นออกจากพื้นที่ไปได้เพราะต้องยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เกิดจากความไม่เป็นธรรมที่ข้าราชการทำกับประชาชน

หากตั้งมาแล้วไม่มีอำนาจ ก็จบ ปัญหาก็แก้ไขไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาลด้วย

อีกอย่างที่จะเสนอ การจัดตั้งสบ.ชต. แล้วให้อำนาจเลขาธิ การสบ.ชต. มีอำนาจเทียบเท่าปลัดกระทรวงถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาขึ้นอยู่ว่าเลขาฯสบ.ชต. ควรขึ้นกับมหาดไทย หรือนายกฯ เพราะมีผลต่อการสั่งย้ายข้าราชการกระทรวงอื่นที่มหาดไทยไม่สามารถดำเนินการได้

ผู้นำองค์กรถาวรนี้จะเป็นเลขาธิการ หรือผู้อำนวยการ ก็ควรจะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่สังกัดมหาดไทยเหมือนเดิม เพื่อให้มีอำนาจกับส่วนราชการทุกหน่วยงาน เพราะหากให้คนจากมหาดไทยเป็น เวลาจะสั่งการคนอื่นอาจมีปัญหาได้

นอกจากนี้ ปัญหาในพื้นที่คือความยุติธรรมที่ยังไม่สามารถเข้าถึง จึงต้องมีนโยบายซื้อใจประชาชน ข้าราชการต้องปราศจากอคติและไม่ทำให้ประชาชนระแวง การเปลี่ยนรัฐบาลทำให้แนวคิดต่างออกไปแต่องค์กรจะต้องคงอยู่แม้จะไม่ถาวร เนื่องจากการสร้างสันติสุขทำได้ยาก เพราะมีคนที่ยังมีอุดมการณ์ที่ไม่เลือนหายไป

วันใดที่รัฐบาลอ่อนแอ ไม่ยุติธรรม รังแกประชาชน คนกลุ่มนี้จะกลับมา



ถาวร เสนเนียม

รมช.มหาดไทย



ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งสบ.ชต. นั้นร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีเนื้อหาสาระคือการแยกอำนาจจากฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน โดยทหารจะ มีหน้าที่รักษาความสงบ และระงับยับยั้งการก่อความรุนแรงทุกรูปแบบ

แต่เรื่องการพัฒนาพื้นที่ การศึกษา จิต วิทยามวลชน จะเป็นอำนาจของฝ่ายพลเรือน โดยมีเลขาฯสบ. ชต. เป็นผู้รับผิดชอบ

และจะมีอำนาจเลื่อนลดปลดย้ายข้าราชการพลเรือนในพื้นที่ทุกคน เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้าราชการลงไปซ้ำเติมปัญหาให้กับประชาชน

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นวาระแห่งชาติ สาเหตุของปัญหามีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.กลุ่มโจรก่อการร้าย 2.กระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้ำเติมสถานการณ์ และ 3.ปัญหาเรื่องรายได้และเศรษฐกิจ เราจึงจะต้องแก้ไขในทีละด้าน

แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีปัญหาเรื่องแนวคิดที่จะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ถึงจะแก้ปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานถาวรในการแก้ไขปัญหา อย่างสบ.ชต. หลังจากที่นำเรื่องเสนอต่อสภา คาดว่าภายใน 4 เดือน จะจัดตั้งองค์กรใหม่นี้ได้

ในส่วนของเลขาฯสบ.ชต. คาดว่าน่าจะเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใดคนหนึ่ง ที่ตั้งโดยรมว.มหาดไทย แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ

ส่วนที่ห่วงกันว่าทหารจะไม่พอใจ เพราะดึงอำนาจและงบประมาณไปให้องค์กรใหม่นั้น ทหารเป็นข้าราชการประจำจะเหนือกว่าฝ่ายการเมืองได้อย่างไร ไม่ว่าคุณจะเป็นจอมพล หรือพล.อ. ก็ต้องทำตามนโยบายของฝ่ายการเมืองเพราะพวกผมมาจากประชาชน ไม่มีอำนาจไหนจะใหญ่กว่าอำนาจประชาชน เมื่อเป็นนโยบายก็ต้องทำตาม

ต้องยอมรับว่าการพัฒนาและการเข้าถึงประชาชน ฝ่ายข้าราชการพลเรือนทำได้ดีกว่าทหาร ก็ต้องแบ่งอำนาจกันให้ชัด แล้วช่วยกันแก้ไขปัญหา


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์