รอง ผวจ.ฝ่ายความมั่นคงเริ่มงานแล้ว

นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย


กล่าววานนี้ (2 มี.ค.) ถึงการเสนอให้เพิ่มรองผู้ว่าราชการจังหวัดด้านความมั่นคง เพื่อรับภัยในรูปแบบใหม่ ว่า เป็นเรื่องของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยไม่ขัดข้อง ถือเป็นสิ่งที่ดีและไม่น่ามีปัญหา จะได้ระดมความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนจะเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าหรือไม่นั้น ต้องหารืออย่างรอบคอบก่อน

นายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า


ต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อยังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ ได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัดขึ้น มีตำแหน่งรอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัดฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งดำรงตำแหน่งรอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัด


แต่เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิก


กอ.รมน.จังหวัด และตำแหน่งทั้งหมดก็ถูกยกเลิกไป เหลือเพียงตำแหน่งประจำเท่านั้น และเมื่อมีการตั้ง กอ.รมน.จังหวัดขึ้นมาใหม่ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ก็มีการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบตามความเหมาะสม คือพื้นที่ปกติ พื้นที่ชายแดน และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น ตามโครงสร้างของ กอ.รมน.ที่ตั้งขึ้นใหม่นั้น ฝ่ายข้าราชการพลเรือน ได้ตั้งรอง ผวจ. 1 คน เป็นรอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัดอยู่แล้ว ส่วนในตำแหน่งรอง ผอ.กอ.รมน.ฝ่ายอื่นๆ เช่น ทหารให้เป็นอำนาจของ ผอ.กอ.รมน.เป็นผู้กำหนด

ดูแลความมั่นคงและจัดระเบียบสังคม


ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งของ กอ.รมน. อาจจะเรียกง่ายๆว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัด แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นมาตาม กอ.รมน.เท่านั้น หากกอ.รมน.ยุบเลิกไป ตำแหน่งนี้ก็หมดสภาพไปด้วย อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตรวจสอบไป ก็ยังไม่มีการตั้งทหารมาดำรงตำแหน่งนี้ ยังคงมีเพียงรอง ผอ.กอ.รมน.จังหวัดฝ่ายพลเรือนคนเดียว แต่หากจะตั้งก็เป็นอำนาจของ ผอ.กอ.รมน.ที่ทำได้ แต่ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เป็นตำแหน่งประจำของฝ่ายพลเรือน ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า


ขณะนี้มีทหาร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งดังกล่าว ไปรายงานตัวที่จังหวัดและเริ่มปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยจะประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง และทำหน้าที่หลักเรื่องการดูแลความมั่นคงและจัดระเบียบสังคม เพื่อกำกับดูแลในพื้นที่ให้มีความสงบเรียบร้อย เช่น การออกตรวจพื้นที่ต่างๆ แต่ยังมีบางจังหวัดยังมีปัญหาเรื่องของตัวบุคคลที่จะไปทำหน้าที่นี้


เนื่องจากเดิมจะใช้ผู้บังคับการกรมหรือรองผู้บังคับการกรม


ซึ่งเป็นตำแหน่งหลัก ที่มักติดภารกิจประจำ ไม่มีเวลาไปปฏิบัติงานในหน้าที่อื่น จึงได้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ทำงานจริง ดังนั้น จึงน่าจะได้ข้อสรุปว่าควรจะใช้ทหารประจำมณฑลทหารบก หรือประจำจังหวัดทหารบก ยศพันเอก พันเอกพิเศษ หรือ พล.ต. ซึ่งเป็นฝ่ายเสธ.และไม่ใช่ตำแหน่งหลัก จะไม่ติดภารกิจประจำและทำงานได้เต็มที่

ไสว เบรกแตกอัด คมช.เผด็จการ


นายไสว พราหมณี อดีต ส.ว.นครราชสีมา และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เป็นความคิดถอยหลังเข้าคลองเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในอดีตสมัยเผด็จการทหารก็เคยมีรองผู้ว่าฯ ฝ่ายความมั่นคง แต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะทหารไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอกับการบริหารงานพลเรือน ถึงจะจบด้านรัฐศาสตร์หรือกฎหมายมาก็ตาม และเข้ากับฝ่ายปกครองหรือฝ่ายพลเรือนไม่ได้ จนต้องยกเลิกในที่สุด แต่ประธานคมช.กลับปัดฝุ่นนำกลับมาอีก


นายไสวกล่าว


หากยังดื้อดันจะเอาให้ได้ เชื่อว่าจะเกิดความแตกแยกอย่างหนัก ระหว่างฝ่ายปกครองกับทหาร เพราะไปปิดกั้นการเจริญเติบโตฝ่ายปกครอง และทหารที่ถูกส่งมาก็ล้วนพวกนายพลที่ไม่มีตำแหน่งหลัก ถือเป็นความคิดเผด็จการชัดๆ มีความต้องการเพียงระบายคนจากกองทัพให้มีงานทำเท่านั้น อำนาจจากการปฏิวัติเข้ามาเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่ระบบการปกครองของประเทศพัฒนาไปไกลมากแล้ว อยากขอร้องให้ทบทวนแนวคิดนี้ด้วย


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์