ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ′ความเชื่อมั่น′ที่หดหาย ปรับครม.ไม่ใช่ทางออก

คอลัมน์ มติชน 8 พ.ย.2554

ดูเหมือนว่า "ความเชื่อมั่น" ในการจัดการน้ำที่ไหลบ่าเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร (กทม.) ของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่มีต่อผู้คนในสังคมที่ประสบภัย ดูจะไร้ผล

ยิ่งมวลน้ำรุกคืบมากขึ้นเท่าใด "ความเชื่อมั่น" ต่อตัวนายกรัฐมนตรี และสถานะของรัฐบาล ก็ยิ่งหดหาย

เพราะการแก้ไขปัญหาแต่ละวันของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไล่ตาม "น้ำ" ไม่ทัน

เหตุเพราะเครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อม บุคลากรไร้คุณภาพ

จะเห็นได้จากการที่ "พิชัย นริพทะพันธุ์" รมว.พลังงาน กล่าวตำหนิการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบบชัดๆ ว่า ทำไม กฟผ.วัดปริมาณน้ำฝนในภาคกลางแล้วพบว่ามีเพิ่มถึง 250% เมื่อเทียบกับปี 2553 แต่ไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ ทำให้แม่น้ำยมที่ไหลมาโดยไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ ไหลมาจนท่วม

หรืออย่างกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีการเตรียมการรับมือ ทุกครั้งเมื่อถูกถามถึง "ข้อมูล" เรื่องปริมาณน้ำ ก็จะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งที่เห็นแล้วว่าปริมาณน้ำที่ท่วม อ.สามเงา จ.ตาก ท้ายเขื่อนภูมิพล มีปริมาณมากเกินปกติ

มากเกินกว่าการทำเกษตรกรรม

นั่นคือ "ความล้มเหลว" ของหน่วยงานและบุคลากรที่ดูแลเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำมาทั้งชีวิต


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ′ความเชื่อมั่น′ที่หดหาย ปรับครม.ไม่ใช่ทางออก


การมาของพายุ 5 ลูกในรอบ 3-4 เดือนติดๆ กัน จึงไม่น่าจะใช่คำตอบ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบใส่ใจ

แม้กระทั่ง กทม.ที่มีเวลาเตรียมการรับมือนานราว 2 เดือน ก่อนที่น้ำเหนือจะไหลบ่าลงมา ทั้งการลอกคูคลอง เพื่อระบายผักตบ ขยะ การเตรียมเครื่องสูบน้ำที่ทรงประสิทธิภาพทุกคลองที่เกี่ยวข้อง เพื่อผันน้ำลงทะเล

ถามว่ามีการเตรียมการหรือไม่

ภาพที่เห็นคือ "คำตอบ" ที่ชัดเจนที่สุด

การขอเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำลงคลองจากหน่วยงานอื่นๆ เมื่อถึงเวลาจวนเจียน แถมการทำหน้าที่ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ก็ทำตามขั้นตอน รูปแบบข้าราชการเป๊ะ ด้วยการทำหนังสือขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทาน ผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ประสานไปยัง ศปภ. ก่อนที่ ศปภ.ประสานไปยังกรมชลประทานอีกทอด

ไม่มีการบูรณาการ ไม่มีรูปแบบ "ฟาสต์แท็ก" เพื่อให้งานเดินหน้าไปดักรอก่อนที่น้ำจะมาถึง

จะเห็นว่าทุกหน่วยงานราชการของไทย ยังคงทำงานกันในรูปแบบ "เช้าชาม เย็นชาม" หรือ "ธุระไม่ใช่"


แต่เมื่อ "ภัย" มาถึงตัว ต่างออกมาปกป้องตัวเอง-หน่วยงานกันจ้าละหวั่น

กฟผ.ระบุว่า น้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐาน โดย 1 พฤษภาคม มีปริมาณน้ำเก็บกัก 6,076 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 45.1 ของความจุ

เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำเก็บกัก 4,784 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 50.3 ของความจุ

เมื่อเทียบกับเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำที่ใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก

ต่อมามีพายุเข้ามา 5 ลูก ใน 5 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม ทำให้มีฝนตกทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน รวมทั้งพื้นที่ภาคกลาง เกิดภาวะน้ำท่วม

ส่วนกรมชลประทานก็เป็นหน่วยงานที่ผูกติด-ยึดโยง กับการเมืองมากจนเกินไป

มากจนหลายคนตำหนิว่า การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ขึ้นอยู่กับ "คำสั่ง" นักการเมือง ที่ไม่ต้องการให้น้ำท่วมพื้นที่ฐานเสียงของตัวเอง

มากกว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

ขณะที่ กทม.ก็เอาประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนคนกรุงมา "เล่นการเมือง"

จนเกินความพอดี

ทำให้เห็นภาพนักการเมืองไทยชัดเจนเลยว่า "บ้านเมืองจะบรรลัยไม่ว่า

ขอให้ข้าได้คะแนนเสียงเหนือคู่แข่ง"

นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้น แบบที่คนในสังคมไทยไม่เคยเห็นมาก่อน

การมาของ "น้ำ" จึงเป็นการ "ประจาน" ความล้มเหลวของระบบการบริหารราชการแบบไทยๆ

ความล้มเหลวของระบบราชการที่เกิดขึ้น ส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อสถานภาพของรัฐบาล และสถานะของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย

จริงอยู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นทางออกหนึ่ง

แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหา

ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพราะนายกรัฐมนตรี ใช้ "คนผิด" ตั้งคน "ไม่เป็น" เข้ามาทำงาน

เรียกว่า "กลัดกระดุมผิดเม็ด" ตั้งแต่แรก

ดังนั้น ข้อเสนอที่ถูกโยนออกมาว่าสมควรที่จะมีการปรับ ครม. เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคม

มันน้อยเกินไป

เมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก่อนการเลือกตั้ง

เพราะยิ่งนานวัน "ความเชื่อมั่น" ยิ่งหดหาย

ข้อเสนอของ "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่า "ความเชื่อมั่นต้องแก้ด้วยการเลือกตั้ง"

หรือ "ยุบสภา" จึงเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจยิ่ง


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์