มีชัยปัดสนธิ ชี้นำที่มานายกฯ -ยัน 35 กมธ.ยกร่างฯรับผิดชอบ

"มีชัย"ปัด"สนธิ" ชี้นำที่มานายกฯ -ยัน 35 กมธ.ยกร่างฯรับผิดชอบ

มีชัย ฤชุพันธ์ ปธ.สภานิติบัญญัติฯ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 มกราคม 2550 17:30 น.

ปธ.สนช. ชี้ 35 อรหันต์ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องคิดด้วยความรอบคอบและเป็นผู้รับผิดชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปฏิเสธปธ.คมช.ชี้นำที่มาของนายกรัฐมนตรี ยอมรับเป็นห่วงกรอบเวลาในการยกร่าง รธน.

วันนี้ (1 ม.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เพียง 4 เดือน ส่วนอีก 2 เดือน เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หากทำควบคู่กันไประยะเวลาที่กำหนดไว้น่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสร็จทัน โดยนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นตัวตั้ง และปรับปรุงเฉพาะส่วนที่จำเป็นเท่านั้น หากจะยกร่างใหม่ตั้งแต่มาตรา 1 คงเสร็จไม่ทันตามกำหนดเวลา

ส่วนที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เสนอที่มาของนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง จะเป็นประเด็นให้เกิดการต่อต้านหรือไม่นั้น ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เท่าที่ฟังประธาน คมช. ไม่ได้ชี้แนะ เพียงแต่ตั้งคำถามว่าที่มาของนายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ หากมาจากการเลือกตั้งจะป้องกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนในอดีตอย่างไร และหากไม่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนยอมรับได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นคนคิด

คนที่ร่างรัฐธรรมนูญต้องคิดหมดทุกเรื่อง และต้องคิดมากกว่านี้หลายเท่า

ไม่ใช่เหมือนเขียนข่าว เพราะข่าวผิดก็เขียนใหม่ได้ แต่การร่างรัฐธรรมนูญเขียนใหม่ไม่ได้ จึงต้องคิดให้รอบคอบทั้งหมด อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. ถ้าจะให้ผมตั้งคำถามว่าการกำหนดเช่นนั้นดีแล้วหรือยัง หรือเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วยังเป็น ส.ส.ได้ หรือเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งว่าจะเป็นได้กี่สมัย เมื่อมีคนพูดว่าควรจะเป็นไปได้ 2 สมัย ก็ต้องกลับไปคิดว่าจะดีจริงหรือ ทำไมไม่เป็น 3-4 สมัย หรือเป็นแค่สมัยเดียว พวกนี้ต้องนำไปคิดให้หมด นายมีชัย กล่าว

ต่อข้อถามว่า ส่วนตัวคิดว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง

นายมีชัย กล่าวว่า ตนไม่มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ เลยขี้เกียจคิด ได้แต่ฟัง ส่วนเรื่องวุฒิการศึกษาของผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ว.ควรมีการแก้ไขหรือไม่นั้น ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพูดกันมานาน ควรคิดถึงผลดีผลเสียว่าเป็นอย่างไร ถ้าเหตุผลคนที่จบการศึกษาสูงและจะเป็นคนดี ก็ไม่ใช่ คนที่ไม่ได้จบการศึกษาสูงเป็นคนดีก็ได้ บางทีก็ดีกว่าคนที่จบการศึกษาสูงด้วยซ้ำ ไม่ได้อยู่ที่การศึกษาหรือปริญญา

นายมีชัย กล่าวว่า ประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีนั้น

ควรจะมีการแก้ไขหรือไม่นั้น ตนตอบไม่ได้ เป็นเรื่องของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องศึกษาทุกเรื่องอยู่แล้ว เช่น กระบวนการทางการเมือง คือต้องศึกษาว่าของเดิมเขียนไว้ และสิ่งที่เกิดขึ้นชอบหรือไม่ชอบดีหรือไม่ดี ถ้าชอบหรือดีแล้วก็คงไว้ ถ้าไม่ชอบก็ต้องคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้ดีขึ้น แล้วการที่ใครจะบอกว่าต้องการอย่างโน้นอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้ศึกษาก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ตั้งแต่หมวดรัฐสภา ถึงคณะรัฐมนตรี จะต้องมีการศึกษาเป้าหมายเดิมของรัฐธรรมนูญปี 40

ที่ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ถามว่าเสถียรภาพที่เกิดขึ้นมาเป็นเสถียรภาพที่ประชาชนต้องการหรือไม่ ก็ต้องไปศึกษาว่าประชาชนต้องการอย่างไร และกลไกที่เป็นอยู่และวางไว้จะก่อให้เกิดเสถียรภาพหรือไม่ นายมีชัย กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์