ปธ.ปรองดองออกตัวไม่ได้มาห้ามมวย เปรยนิรโทษฯไว้ทีหลัง ปชป.ติงดิเรกพูดให้น้อยอย่าฟันธงแก้รธน.ม.237

ปชป.ติง "ดิเรก " อย่าชี้นำฟันธงแก้รธน.ม.237 แนะพูดให้น้อยกางปัญหาดูก่อน ปธ.สมานฉันท์เปรยนิรโทษฯไว้ทีหลัง นัดประชุม 7 พ.ค. ชี้ไม่ได้มาห้ามมวย ถอยคนละก้าวเพื่อปรองดอง "เลิศรัตน์" ชี้อาจทำประชามติ

"ดิเรก" เปรยนิรโทษฯไว้ทีหลัง

ภายหลังจากที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดคือ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง มีนายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตรองอัยการสูงสุด ประธานนั้น

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานคงต้องพูดคุยถึงการปัญหาทีละประเด็น รวมถึงรัฐธรรมนูญบางมาตราที่เป็นปัญหา เช่น มาตรา 190 และมาตรา 237 การแก้รัฐธรรมนูญกับการนิรโทษกรรม เป็นคนละเรื่อง การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองต้องทำทีละประเด็น การนิรโทษกรรมต้องพูดกันทีหลัง เชื่อว่าจะใช้เวลา ทำงานประมาณ 45 วัน จะทราบรายละเอียดทั้งหมด 

"ส่วนตัวก็รู้สึกหนักใจบ้าง แต่ก็ยินดีที่รับหน้าที่ เนื่องจากที่ผ่านมาบ้านเมืองเรามีปัญหาค่อนข้างมากและส่วนตัวก็เรียกร้องความสมานฉันท์มาโดยตลอด ถ้าบ้านเมืองยังเป็นแบบนี้ก็จะไม่มีทางออก ดังนั้นการดึงปัญหาเข้าสู่รัฐสภาน่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะเป็นแนวทางที่หลายประเทศที่เจริญแล้วใช้กัน " นายดิเรกกล่าว

นายดิเรกกล่าวว่า ส่วนทิศทางในการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการชุดนี้คงต้องพูดคุยถึงการแก้ปัญหาทีละประเด็น รวมถึงรัฐธรรมนูญบางมาตราที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะมาตราที่ทำให้รัฐบาลทำงานลำบาก อาทิ มาตรา 190 ที่ว่าด้วยการทำสนธิสัญญา ส่วนมาตราอื่นๆ นั้นคงจะต้องพูดคุยกันหลังจากที่ได้ประชุมนัดแรกไปแล้ว แต่เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองได้รวบรวมประเด็นที่เห็นว่าเป็นปัญหาไว้อยู่แล้ว การแก้รัฐธรรมนูญไม่ถือเป็นเรื่องเดียวกับการนิรโทษกรรม สังคมต้องเข้าใจก่อนว่าเป็นคนละเรื่อง การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองต้องทำทีละประเด็น การนิรโทษกรรมต้องพูดกันทีหลัง แต่คณะกรรมการสมานฉันท์คงต้องพิจารณาร่วมกันว่าแนวทางใดเป็นแนวทางที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้บ้าง คงไม่ใช่เฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียว

ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ที่รัฐสภาจะเป็นการนัดประชุมครั้งแรกเพื่อกำหนดกรอบการทำงานของคณะคณะกรรมการ เพื่อสรุปประเด็นการแก้ปัญหาทางด้านการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนกรอบพิจารณาจะต้องเปิดประชุมนัดแรกว่าจะวางแนวทางอย่างไร แต่หลักปฏิบัติ ต้องการสร้างความสมานฉันท์และแก้ไขปัญหาทางการเมือง เราจะช่วยกันอย่างไรให้บ้านเมืองพ้นปัญหาวิกฤตได้ โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เชื่อว่าจะใช้เวลาทำงานประมาณ 45 วันจะทราบรายละเอียดทั้งหมด

นายดิเรกกล่าวว่า กรอบการทำงานตอนนี้ยังไม่มีเรื่องนิรโทษกรรมและยังไม่ได้พูดถึง ขอนำเข้าสู่ที่ประชุมก่อน ตอนนี้ต้องตัดเรื่องนี้ไปก่อน ส่วนตัวผมยังไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย แต่พูดว่ารัฐธรรมนูญบางมาตรามันเป็นปัญหาต้องแก้ไข และ 2 เรื่องนี้เป็นคนละส่วนกัน อย่ามาร่วมกัน  หากคณะกรรมการเสนอให้มีเรื่องนิรโทษกรรม เราต้องคุยกัน คนหนึ่งคนใดตัดสินใจไม่ได้ เรื่องนี้อาจจะต้องศึษาให้รอบคอบที่สุด รวมทั้งความเห็นของประชาชนด้วย เชื่อว่าความคิดที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ การมีเวทีเช่นนี้จึงเปิดโอกาสให้คนมีความคิดเห็นที่แตกต่างได้หันหน้ามาคุยกัน ความคิดที่ตรงกันก็นำมาพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งการที่ทุกคนเข้ามาร่วมเวทีโดยมีเป้าหมายเดียวกันก็จะทำให้เวทีนี้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว้างขวางมากขึ้น การทำหน้าที่เป็นประธานไม่ใช่จะเป็นเหมือนกรรมการห้ามมวย เพราะนายกฯได้ขอร้องให้ทุกฝ่ายถอยกันคนละก้าว เพื่อเห็นประเทศเกิดความปรองดอง การที่คนเราคิดไม่ตรงกันจึงไม่ใช่ความผิด

ข่าวแจ้งว่า ระหว่างการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้นายกฯชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ในช่วงเย็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมพิจารณารายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยทั้ง 3 ฝ่ายหารือกันว่าประธานควรเป็นคนกลาง ก่อนเห็นควรให้นายดิเรกเป็นประธานกรรมการสมานฉันท์ฯ ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯเห็นควรให้นายสมศักดิ์เป็นประธาน

ปชป.ติง "ดิเรก " อย่าชี้นำ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมการสมานฉันท์ฯกล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ฯควรมีกรอบเวลาในนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองภายใน 2 สัปดาห์ คณะกรรมการทั้ง 40 คนต้องเสนอประเด็นปัญหาเข้ามากางบนโต๊ะก่อนจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยในที่สุดก็ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนก่อน รวมทั้งหากได้ข้อสรุปอย่างไรแล้วก็ต้องทำประชามติเพื่อสอบถามเสียงส่วนใหญ่อีกครั้ง

"ล่าสุดนายดิเรกให้ข่าวในลักษณะว่าจะต้องแก้ไขมาตรา 237 ผมคิดว่านายดิเรกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานต้องรักษาความเป็นกลาง และพูดให้น้อย รวมทั้งไม่ให้ความเห็นที่ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปยากยิ่งขึ้น ต้องนำปัญหามากางบนโต๊ะก่อน" นายนิพิฏฐ์กล่าว

"ชินวรณ์ " ชี้ปชช.ชงตั้งส.ส.ร.ได้

นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรครัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า เชื่อว่านายดิเรกจะสามารถขับเคลื่อนและสร้างความปรองดองได้ เพราะนายดิเรกมีความเป็นกลางพอสมควร ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการยอมรับ ส่วนที่นายดิเรกระบุว่าจะใช้เวลาในการทำงานเบื้องต้น 45 วันนั้นถือเป็นเรื่องของคณะกรรมการว่าจะวางกรอบการทำงานและกำหนดภารกิจอย่างไรโดยเงื่อนไขเวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ประเด็นปัญหาที่นำไปสู่เป้าหมายสำคัญกว่า ซึ่งนายกฯประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ไปก้าวก่ายแทรกแซงและพร้อมดำเนินการตามหากเห็นว่าการลาออกหรือยุบสภาจะเป็นการยุติปัญหา

นายชินวรณ์กล่าวว่า ส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการชุดนี้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนน้อยนั้นเป็นใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 135 จึงมีข้อจำกัด แต่สามารถตั้งคณะอนุกรรมการที่มีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้และท้ายสุดหากมีประเด็นที่เป็นข้อกังขาก็สามารถทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดจากประชาชนได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการสามารถนำผลการวิจัยของหน่วยงานทางวิชาการต่างๆ ทั้งจากภาคประชาชน หรือสถาบันพระปกเกล้าหรือผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้มาประกอบการพิจารณาได้ และทุกพรรคการเมืองก็สามารถรวบรวมประเด็นปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญเสนอต่อคณะกรรมการฯได้

"เมื่อได้ข้อสรุปประชาชนสามารถเข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้น และภายหลังคณะกรรมการเสนอเรื่องเข้าสู่สภาและมีการพิจารณาผ่านวาระ 1 และ 2 แล้วสามารถเปิดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้" นายชินวรณ์กล่าว

"พท." ให้ทุกฝ่ายสลัดภาพเก่าทิ้ง

นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคนที่หนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯกล่าวว่า ทุกคนที่เป็นกรรมการต้องสลัดภาพเก่าทั้งหมดออก แล้วเอาบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ขอแค่ว่าทุกคนยอมรับข้อเท็จจริงแล้วหันหน้ามาพูดคุยร่วมกันแก้ปัญหา การทำงานจะไม่มีปัญหา 

เมื่อถามว่า การที่ฝ่ายการเมืองดำเนินการเองโดยที่ไม่มีภาคประชาชนเข้าร่วมอาจเกิดการไม่ยอมรับ นายวิทยากล่าวว่า อาจจะเป็นที่พอใจก็ได้ ตนว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำเอง ที่ผ่านมาทหารทำให้ทั้งนั้น ปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญแล้วก็มาเขียนฉบับใหม่ เป็นอยู่อย่างนี้บ่อยครั้ง แต่งวดนี้เป็นมิติใหม่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ทำหน้าที่ ส่วนการเปิดให้องค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น สามารถทำได้ในวาระต่อไป ขั้นนี้เป็นเพียงวาระหนึ่งเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเท่านั้น

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องศึกษาหรือหาประเด็นให้เสียเวลาอีกแล้ว เพราะการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร็วภายใน 5-7 วันด้วยซ้ำ หรืออย่างช้าภายใน 2 เดือนเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จากนั้นยุบสภาและเลือกตั้งใหม่

"ประยุทธ์" เชื่อลดขัดแย้งได้

นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ กรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ได้เฝ้ามองปัญหาที่เกิดขึ้น รู้สึกไม่สบายใจที่เห็นสังคมเกิดความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างนี้ การที่มีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาและมีตัวแทนจากหลายแนวคิดมาร่วมประชุมหารือกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เชื่อว่าจะสามารถหาช่องทางที่จะบรรเทาหรือลดความขัดแย้งในสังคมลงไปได้ไม่มากก็น้อย เพราะปัญหาปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้แต่โรคไข้หวัดใหญ่เอที่กำลังระบาดอยู่ก็ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายมาสกัด ถ้าทุกฝ่ายยังตั้งท่าขัดแย้งกันอย่างเดียวบ้านเมืองก็เดินไปต่อไม่ได้

"ผมมีความหวังว่า คณะกรรมการทั้ง 40 คนที่มีภูมิรู้และความเชื่อที่แตกต่างกันนี้จะเป็นจุดแข็ง เพราะแต่ละคนจะต้องนำความรู้ที่มีอยู่มาเสนอต่อที่ประชุม และพิจารณาร่วมกันเพื่อมองทะลุปัญหาของชาติที่กำลังอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลต้องมาช่วยกัน ไม่ให้คนในชาติแตกแยกกันไปมากกว่านี้ ถ้าความขัดแย้งยิ่งบานปลาย ประเทศชาติก็ยิ่งบอบช้ำมากเท่านั้น" นายประยุทธ์กล่าว

ชทพ.เสนอแก้รธน.7 ประเด็น

นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เปิดเผยถึงการเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาว่า พรรคสรุปประเด็นที่เห็นควรจะแก้ไขเรียบร้อยแล้ว รอปรับปรุงในรายละเอียดอีกเล็กน้อย โดยมี 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ประเด็นที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา มาตรา 190 2.ประเด็นที่นำไปสู่การยุบพรรค มาตรา 237 3.ประเด็นข้อห้าม ส.ส.ไปดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี มาตรา 265 และ 266 4.ประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 5.ประเด็น ส.ส.สัดส่วนควรกลับไปเป็นแบบระบบบัญชีรายชื่อ 6.ประเด็นอำนาจของ ส.ส.ในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และ 7.ประเด็นที่มา ส.ว.ที่ควรจะมาจากการเลือกตั้ง

นายชุมพลกล่าวว่า เพื่อให้การพิจารณาประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้อย่างราบรื่น ทางพรรคจึงคิดว่าไม่ควรนำทั้ง 7 ประเด็นเสนอคราวเดียวกัน แต่ควรแยกออกเป็น 2 ขยัก คือ ช่วงแรกควรพิจารณาประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก่อน คือ มาตรา 190, 237, 265 และ 266 ส่วนขยักที่ 2 จึงหยิบประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องที่มาของ ส.ว.-ส.ส.และเรื่ององค์กรอิสระมาพิจารณา หากแยกเช่นนี้เชื่อว่าจะสามารถทำงานได้ง่ายและรวดเร็ว

"มาร์ค" ชี้ไม่ฟังปชช.เสี่ยงขัดแย้ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พูดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 มาตราหลักๆ ก่อนว่า นั่นเป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นเท่านั้นว่ามีหลายมาตราที่มีปัญหาอยู่ ส่วนจะแก้ไขกี่มาตราและแก้อย่างไรบ้างก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเพื่อไทยต้องการให้ศึกษาให้เสร็จใน 30 วัน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยู่ที่คณะกรรมการเพราะไม่ทราบว่าแต่ละพรรคมีความคิดสอดคล้อง หรือต่างกันมากแค่ไหน และเมื่อพรรคการเมืองได้กรอบระดับหนึ่งแล้วต้องหาทางเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนระยะเวลาการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นต้องดูให้มีความพอดี ถ้าจะทำโดยไม่ให้ช้าเกินไปน่าจะทำได้ แต่ถ้าทำโดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลย ก็อาจจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งอีก

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้เวทีรัฐสภาสร้างสมานฉันท์ พรรคมั่นใจว่าการทำงานของคณะกรรมการจะแก้ปัญหาได้ แต่การทำงานจะไม่ประสบความสำเร็จถ้าไม่มีการระดมพลังจากประชาชนทุกภาคส่วน ดังนั้น คณะกรรมการจะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน หากจะแก้รัฐธรรมนูญก็จะต้องทำเพื่อความสมานฉันท์บนผลประโยชน์ของส่วนรวม

"เลิศรัตน์" ชี้อาจทำประชามติ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา และกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า กรรมการค่อนข้างมีความหลากหลาย โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วน ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา การนำทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งมาหารือกันบนโต๊ะถือเป็นทางออกหนึ่ง แต่ข้อสรุปจะต้องเกิดจากการเห็นพ้องต้องกันจากเสียงส่วนใหญ่ ส่วนประเด็นไหนไม่มีข้อขัดแย้ง ต้องดูในแต่ละมิติ การสร้างความสมานฉันท์นั้นคงไม่เฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ควรมองเรื่องอื่นด้วย ถ้าเป็นประเด็นใดจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่หรือมีความละเอียดอ่อนต้องเสนอให้สังคมพิจารณาด้วย โดยอาจทำประชามติหรือการรับฟังความคิดเห็น ส่วนกรณีนิรโทษกรรมคดีการเมืองนั้นเป็นประเด็นที่นำมาประกอบการพิจารณา แล้วแต่ที่ประชุมว่าจะคิดว่าเป็นทางออกหรือไม่

"อย่าคิดว่ากรรมการต้องการเกี้ยเซี้ยกัน เพราะสัดส่วนกรรมการไม่ได้มีเพียงนักการเมือง แต่มี ส.ว.และนักวิชาการที่ไม่ได้ประโยชน์ ทั้งนี้มองว่าควรใช้เวลา 1-2 เดือนในช่วงปิดสมัยประชุมเพื่อหาแนวทางสร้างสมานฉันท์ คาดว่าต้นเดือนสิงหาคมก็น่าจะสามารถเสนอต่อสภาได้" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกันของทุกฝ่าย เพื่อวางกรอบการทำงาน หลังจากนั้นจะลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนจากทุกภาคส่วน แต่จะนำมาสู่การเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ แต่หากประชาชนเห็นดี ก็คงจะนำความเห็นเสนอที่ประชุมสภาเพื่อให้ร่วมกันชี้ขาด โดยระยะเวลารวบรวมข้อเสนอ เชื่อว่าจะเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนที่มีความกังวลกันว่าหากฝ่ายการเมืองเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราแล้วตกลงกันไม่ได้จะทำให้เกิดปัญหาการทำงานร่วมกันนั้นไม่น่าห่วง เพราะการทำงานจะต้องใช้มติของคณะกรรมการ หากเสียงส่วนมากเห็นด้วยก็ควรยอมรับ
 
นักวิชาการเชื่อกก.ไม่เผชิญหน้า

นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ต้องหารือกับที่ประชุมว่ามีแนวทางการสร้างสมานฉันท์อย่างไรบ้าง ส่วนตัวมีประเด็นที่อยู่ในใจแล้ว แต่ไม่อยากพูดไปก่อน เพราะสังคมอาจจะมองว่าตั้งธงไว้ก่อน เชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดระดับความขัดแย้งของการเมืองนอกสภาได้มากพอสมควร

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ต้องดูแนวทางของกรรมการทั้ง 40 คนก่อนว่ามีจุดหมายอย่างไร จากที่ดูขอบเขตอำนาจหน้าที่ระบุว่าต้องฟังเสียงของประชาชนนั้นคงต้องดูว่าจะรับฟังอย่างไร  ส่วนข้อมูลที่สถาบันพระปกเกล้าเคยรวบรวมไว้นั้นถือเป็นผลวิจัยที่มีความหลากหลาย สามารถหยิบมาพิจารณาได้ แต่ต้องฟังทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวมถึงนักวิชาการที่เป็นกรรมการว่าคิดเห็นอย่างไร เบื้องต้นคงหนีไม่พ้นการกำหนดประเด็นว่าอะไรที่เป็นปัญหาให้เกิดความขัดแย้งบ้าง ส่วนที่ฝ่ายการเมืองเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องดูว่าจะแก้ไขประเด็นใด มาตราใด มีจุดมุ่งหมายอะไร เชื่อว่ากรรมการทั้ง 40 คนต่างเป็นผู้ใหญ่และมีวุฒิภาวะ แม้จะมีความคิดเห็นแตกต่างกันก็ไม่น่าจะทำให้เกิดการเผชิญหน้า แต่จะเป็นเวทีของการคุยกันด้วยเหตุด้วยผลและหาข้อสรุปได้พอสมควร

ปธ.สอบสลายม็อบหนักใจ

นายสมศักดิ์ บุญทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง กล่าวว่า ในวันที่ 4 พฤษภาคมจะไปรายงานตัว จากนั้นจะพิจารณาคำสั่งดังกล่าวว่าคณะกรรมการมีอำนาจตรวจสอบอย่างไรได้บ้าง จากนั้นจะเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อกำหนดกรอบและวางแผนดำเนินการ โดยจะต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด รู้สึกหนักใจสำหรับการทำงานนี้ อย่างไรก็ตาม จะพยายามทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้อย่างดีที่สุด

อดีตรองอัยการสูงสุด ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง  รู้สึกหนักใจสำหรับการทำงานในตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำงานระดับชาติ เชื่อว่าคงมีการตั้งคำถามถึงความเป็นกลางอย่างแน่นอน ต้องยอมรับว่าเวลานี้มีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตนจะพยายามทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้อย่างดีที่สุด เชื่อว่าประชาชนกำลังเฝ้ามองการทำหน้าที่ของตนเองอยู่ ส่วนกรอบระยะเวลาในการทำงานนั้น คงต้องขอเข้าไปดูรายละเอียดคำสั่งแต่งตั้งของนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาก่อน แต่เบื้องต้นจะพยายามกำหนดกรอบการทำงานให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ยังกล่าวถึงการแต่งตั้งนายสมศักดิ์ บุญทอง เป็นประธานคณะกรรมการสลายการชุมนุมฯว่า นายสมศักดิ์ถือเป็นคนที่มีความเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับ คิดว่าผลภายหลังการสอบสวนจะสามารถตอบคำถามสังคมได้ หากพรรคเพื่อไทยหรือประชาชนมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็สามารถยื่นข้อมูลต่อคณะกรรมการชุดนี้ได้

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เปิดเผยว่า คิดว่าจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงวันสงกรานต์มีผู้ร้องเรียนมายังพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก ส่วนกรรมการที่มีตัวแทนจากเสื้อแดงเข้าร่วมนั้นไม่คิดว่าจะเกิดความขัดแย้งในการทำงาน

มติทปอ.หนุน"หยุดทำร้ายปท."

วันเดียวกัน นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังประชุมสามัญที่ประชุม ทปอ. ครั้งที่ 2/2552 ว่า ที่ประชุม ทปอ.มีมติเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมรณรงค์หยุดทำร้ายประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมนี้ โดยขอให้มหาวิทยาลัยต่างๆ รณรงค์อย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ เช่น การติดธงชาติไว้ที่หน่วยงาน ติดป้าย กิจกรรมร้องเพลง หรืออื่นๆ แล้วแต่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะเห็นสมควร ทั้งนี้ ทปอ.เห็นตรงกันว่าขณะนี้ความขัดแย้งในสังคมไทยที่แบ่งเป็นสีต่างๆ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถ้าปล่อยไว้ต่อไปอาจเกิดสงครามกลางเมือง ยากที่จะเยียวยาแก้ไข มหาวิทยาลัยจึงควรเข้ามามีบทบาทในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ และเพื่อให้คนทั้งในและต่างประเทศเห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องการความสงบสุข ไม่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ

นายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การเข้าร่วมรณรงค์หยุดทำร้ายประเทศไทยครั้งนี้ แม้จะไม่เห็นผลในทันที แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพื่อบอกให้คนส่วนใหญ่รู้ว่าต้องการความสงบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทยว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ คณะกรรมการที่ขับเคลื่อนเป็นนักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรการเมืองภาคประชาชน จึงไม่น่าจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง เชื่อว่ากลุ่มนี้จะหยุดการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงได้

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์