ป.ป.ช.ชงครม.ปิดช่องทุจริตข้าว พบทำเป็นกระบวนการหาประโยชน์

ป.ป.ช.ชง ครม. 21 ธ.ค. แนะวิธีป้องกันทุจริตแทรกแซงข้าว หลังพบปัญหาซ้ำซาก ข้าวค้างโกดัง รัฐไม่จัดการเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เผยช่องโหว่โครงการประกันรายได้ เกษตรกรแจ้งข้อมูลพื้นที่เกินจริงรับค่าชดเชยสูงขึ้น สงสัยมีกระบวนการแสวงหาประโยชน์ที่ขัด กม.

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ธันวาคม ป.ป.ช.จะนำเสนอแนวทางการป้องกันทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาล เร่งด่วน 2 เรื่อง คือ 1.ปัญหาข้าวค้างโกดังกลางของรัฐบาล ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นควรให้รัฐบาลออกคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ กองทุนร่วมเพื่อช่วยเหลือเกษตกร และหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการโครงการรับจำนำ เร่งรัดจัดทำรายงานการเงินและปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

"การที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญที่จะดำเนินการใดๆ กับข้าวที่ค้างอยู่ในโกดัง จนก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาประมาณ 810 ล้านบาทต่อเดือน การเสื่อมสภาพของข้าวที่ค้างอยู่ในโกดังกลาง อาจพิจารณได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติได้"

แหล่งข่าวกล่าวว่า 2.ปัญหาการสำรวจผลผลิตของครัวเรือนที่ทำประกัน และข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกจริงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พบว่า การแจ้งจำนวนพื้นที่และผลผลิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขการรับเงินค่าชดเชยส่วนต่างมีจำนวนสูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรเกินความเป็นจริง และส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณ ซึ่ง ป.ป.ช. เห็นควรให้รัฐบาลเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญเรื่องความซื่อสัตย์ในการแจ้งข้อมูล และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตรวจสอบความถูกต้องที่มีอยู่ของผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หลังจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจแล้วอีกครั้ง โดยให้นำข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ของกรมพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย เป็นข้อมูลเปรียบเทียบด้วย

"ปัญหาเรื่องการแจ้งข้อมูลเกินความจริงในโครงการประกันรายได้ อาจจะมาจากระบบการดำเนินงานที่ให้ประชาคมในตำบล หมู่บ้านเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องนั้น ป.ป.ช.เห็นว่าในทางปฏิบัติไม่น่าจะได้ผล และอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาศัยโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากการดำเนินการได้"

แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่ ป.ป.ช.ต้องนำเสนอความเห็นเรื่องนี้ต่อรัฐบาลเพราะปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดพืชผลการเกษตรปรากฏให้เห็นอยู่ตลอด ทำให้เห็นได้ว่าปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่ผ่านมามีการปฏิบัติอย่างเป็นระบบเป็นกระบวนการด้วยกลวิธีที่ฉ้อฉล บิดเบือน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายในทุกขั้นตอนของการแทรกแซงในแต่ละรูปแบบ หยั่งรากลึกสะสมติดต่อกันมาเป็นเวลานาน สร้างความเสียหายด้านงบประมาณในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์