ทิพาวดี ยันพร้อมอุ้มวิกฤตไอทีวี - ตามเจตนารมณ์ กม.


ทิพาวดี ตอบกระทู้ สนช.รับปากพลิกวิกฤตไอทีวี เป็นโอกาส เตรียมเปิดเวทีสาธารณะดึง ปชช.เข้ามามีส่วนร่วม ยันค่าปรับต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย พร้อมโอบอุ้มพนักงานตามขอบเขต แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของไอทีวีเอง

วันที่ (21 ธ.ค.) ที่รัฐสภา

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานในที่ประชุม โดยที่ประชุมได้มีการตั้งกระทู้สดถามเรื่องการแก้ปัญหาของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดย นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.อดีตนายกสมาคมวิทยุโทรทัศน์ไทย เป็นผู้ตั้งกระทู้


โดย นายสมชาย กล่าวว่า

ตนอยากทราบถึง หลักการที่รัฐบาลเตรียมการรับมือการแก้ปัญหาสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าปรับ ว่ารัฐบาลต้องการจะดำเนินการเช่นไร หรือเรื่องของค่าสัมปทาน รัฐบาลจะคิดเท่าไหร่ แล้วจะนำไอทีวีไปใช้ประโยชน์ด้านใด หรือต้องการยึดคืนเพื่อทำให้เป็นสื่อสาธารณะ

อีกทั้งความกังวลในเรื่องสถานภาพของพนักงานไอทีวี ประมาณ 1,000 คน ที่ถือเป็นผลผลิตจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเป็นคนข่าวที่มีคุณภาพ ซึ่งตนอยากรับทราบความชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างไร


ด้าน คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในช่องสัญญาณยูเอชเอฟ เพื่อต้องการให้เป็นช่องข่าวสารเพื่อประชาชน โดยกำหนดให้มีการนำเสนอข่าวสาร ร้อยละ 70 และบันเทิงร้อยละ 30 โดยข้อสัญญาในข้อ 11 ระบุว่า หากผู้ดำเนินงานไม่ทำตามสัญญาวรรค 2 ผู้ดำเนินงานก็ยินดีที่จะจ่ายค่าปรับร้อยละ 10 ของรายได้ที่ได้รับในแต่ละปี โดยคิดเป็นวัน

เหตุที่สัญญาดังกล่าวกำหนดให้เก็บค่าปรับก็เพื่อไม่ให้สถานีโทรทัศน์นำช่องรายการไปปรับเป็นอย่างอื่น แต่เมื่อไอทีวีได้ปรับเนื้อหาเป็นอย่างอื่น ก็ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาระบุไว้ ซึ่งขณะนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ยื่นหนังสือไปยังผู้บริหารไอทีวี เพื่อให้ส่งคำตอบกลับมาภายใน 45 วัน ว่า จะดำเนินการจ่ายค่าปรับอย่างไร ซึ่งขณะนี้ ต้องรอเวลาอย่างเดียวว่าไอทีวีจะดำเนินการอย่างไร


รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลทำตามกฎหมาย ส่วนการที่หลายฝ่ายต้องการให้รัฐบาลนำไอทีวีมาทำเป็นสื่อสาธารณะนั้น ต้องขอย้ำว่า ไอทีวีเป็นของประชาชน ไม่ได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด และรัฐบาลกับประชาชนก็เป็นเหมือนส่วนเดียวกัน

ดังนั้น การดำเนินการเช่นไรที่จะให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด รัฐบาลก็จะดำเนินการ ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะต้องมองในภาพรวม และต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องการความเห็นจากประชาชน และอยากให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และเสนอแนวคิดว่าต้องการให้สื่อของรัฐเป็นสื่อสาธารณะเพื่อประชาชนอย่างไร โดยอาจจะเป็นการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน



สำหรับกรณีที่พนักงานไอทีวี มีความกังวลต่อสถานภาพของตัวเองนั้น คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า ต้องขอบอกว่าการดำเนินการทุกอย่างของรัฐบาลอยู่ในขั้นตอนของกฎหมาย ในแต่ละขั้นตอน จะมีนักกฎหมายมาร่วมพิจารณาตลอด เราจะดำเนินการตามหลักกฎกติกาและกฎหมาย หรือ Rule Of Law ซึ่งในส่วนของพนักงานนั้น แม้จะเป็นพนักงานของไอทีวี แต่รัฐบาลก็พร้อมจะปกป้องคุ้มครองและโอบอุ้มในส่วนที่รัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้ในขอบเขตเท่าที่ดูแลได้ แต่ต้องรอดูเงื่อนไขเวลาที่ไอทีวีจะตัดสินใจ แต่ตอนนี้ยังมาไม่ถึง ต้องรอเวลา และโอกาสที่จะมาถึงก่อน ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์