ชาวบ้านรุมโทรประณาม ส.ส.วางมวยในสภา เผยรธน.กำหนดบทลงโทษถึงขั้นถอดถอน ให้ป.ป.ช.จัดการ


ชาวบ้านโทรด่าขรมส.ส.วางมวยในสภา ซัดไม่ควรได้รับการยกย่อง เสนอให้ควบคุมจริงธรรมอย่างเคร่งครัด เผยรธน.กำหนดบทลงโทษมอบให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ป.ป.ช.ลงโทษถึงขั้นถอดถอน


จากเหตุการณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ วิวาทจะชกต่อยกันในที่ประชุมรัฐสภา ขณะประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม แม้จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม มีประชาชนโทรศัพท์มายังกองบรรณาธิการ "มติชน" แสดงความไม่พอใจต่อพฤติกรรมของ ส.ส.ที่ไม่ควรได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ทรงเกียรติ หลายรายใช้ถ้อยคำตำหนิและประณาม ส.ส.อย่างรุนแรง เช่น ไม่ได้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ฯลฯ ทั้งๆ ที่เวลานี้อยู่ในบรรยากาศที่นักการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลควรจะสมานฉันท์ปรองดอง พร้อมกับเสนอให้ควบคุมจริยธรรมอย่างเคร่งครัด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ในหมวด 13 ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมาตรา 279 บัญญัติให้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องมีกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงของการกระทำ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี หากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอนจากตำแหน่งโดยวุฒิสภา

นอกจากนี้ ในมาตรา 280 บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมและส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในด้านจริยธรรม รวมทั้งมีหน้าที่รายงานการกระทำที่มีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบในการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการเมื่อปี 2551 ซึ่งพิจารณาใกล้เสร็จแล้ว

ด้านนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณายกร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกและกรรมาธิการ พ.ศ...สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยกร่างข้อบังคับฯว่า คืบหน้าไปมากและเกือบจะแล้วเสร็จเหลือเพียงปรับปรุงถ้อยคำ และจะประชุมนัดสุดท้ายในวันที่ 19 พฤษภาคม จากนั้นจะเสนอร่างฯ ให้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะบรรจุในการประชุมสมัยหน้า ทั้งนี้ร่างข้อบังคับฯนี้ได้นำข้อบังคับฉบับฯ พ.ศ.2551 มาประกอบการพิจารณายกร่างด้วย โดยร่างข้อบังคับฯ ที่จะออกนี้มีสาระสำคัญที่ต้องการให้ ส.ส.เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมและรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน คือ บทลงโทษทางวินัย ซึ่งผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับการตักเตือนและบทลงโทษขั้นร้ายแรง ถึงขั้นถอดถอน

"การกระทำของ ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในที่ประชุมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมยังไม่ถึงขั้นทำให้รัฐสภาเสื่อมเสีย เพราะยังไม่มีการลงมือถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ถ้าหากสภาเห็นว่าเรื่องนี้ควรมีความกระจ่างเกิดขึ้น ควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น โดยกรรมการชุดดังกล่าวก็จะมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานเพื่อสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและลงโทษผู้กระทำความผิดต่อไป"นายเจริญกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ พ.ศ.2551 (ฉบับที่แล้ว) ส่วนที่ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกและกรรมาธิการข้อ 12 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการจะต้องรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงของรัฐสภาและไม่กระทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติและรัฐสภา ส่วนข้อ 15 ระบุว่าสมาชิกจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีต่อในการรู้จักความสามัคคี สำหรับข้อ 16 สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาไม่สุภาพ มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เสียดสี หรือใส่ร้ายป้ายสีบุคคลใด โดยไม่มีพยานหลักฐาน หรือนำเอาเรื่องที่เป็นเท็จมาอภิปรายแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภาหรือคณะกรรมาธิการหรือที่อื่นใด

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุวิวาทในสภาว่า คงไม่มีอะไรมากมาย แต่คงเป็นเพราะเครียดกันมากไปหน่อย ตนได้สอบถาม นายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์แล้วก็บอกว่าไม่ได้ต่อย ผู้สื่อข่าวถามว่าในรัฐสภายังไม่รอมชอมแล้วสถานการณ์การเมืองข้างนอกจะรอมชอมกันได้อย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า คงต้องให้เวลาหน่อย และต้องค่อยๆ แก้ไขไป

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า นายสุเทพคงคุยกับนายอภิชาติ สุภาแพ่ง ไปแล้ว เหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นเพราะมีการยั่วโทสะกัน แต่จากนี้ไปจะไม่เกิดเหตุเช่นนี้อีกแล้ว เพราะนายสุเทพบอกว่า ถ้าเขาจะเข้ามาชก ให้ยกมือไหว้รับ ที่สำคัญประธานรัฐสภา คงต้องหามาตรการมาป้องกันต่อไป เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของสภา

ขณะที่ ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวถึงกรณีนายสมคิด บาลไธสง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย มีกลิ่นสุราขณะที่อยู่ในบริเวณห้องประชุมรัฐสภา จนเป็นเหตุของการทะเลาะวิวาทในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบนายสมคิดว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้าประชุมสภาหรือไม่ หากพบว่ามีการดื่มจริงควรมีการลงโทษตามจรรยาบรรณของสภา (ถ้ามี) อย่างไรก็ตาม ขอให้สภา ออกกฎระเบียบ ไม่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อยก่อนการประชุม 24 ชั่วโมง เพราะการประชุมเรื่องของชาติ ควรใช้สติปัญญา ที่ไม่ถูกรบกวนด้วยน้ำเมาที่ทำลายสติและสมอง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์