กทพ.ส่อเค้าเสียค่าโง่ทางด่วนปากเกร็ด-บางปะอิน 3หมื่นล. อนุญาโตฯชี้ขาดให้จ่ายแล้วเกือบ2พันล้าน


กทพ.ส่อเค้าเสียค่าโง่อีกแล้ว จ่ายให้ทางด่วน"ปากเกร็ด-บางปะอิน" หลังอนุญาโตฯชี้ขาดปี51 จ่ายชดเชยปี42กว่า 730ล้าน และปี43พันล้าน หลังปล่อยให้มีการสร้างดอนเมืองโทลลเวย์แข่งขัน ทำทางด่วนฯรายได้หดไม่ได้ตามเป้า คาดถ้าจ่ายตลอดอายุสัมปทาน 30ปี กทพ.อ่วมจ่ายกว่า3หมื่นล้าน


แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย "มติชนออนไลน์" เมื่อวันที่  26 เมษายนว่า  กทพ. มีโอกาสที่จะต้องเสียค่าโง่หรือต้องจ่ายค่าชดเชยรายได้ให้แก่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัดหรือ เอ็นอีซีแอล (ในเครือบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ-บีอีซีแอล) ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน โครงการทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน 30 ปีตั้งแต่ปลายปี 2542-2572

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาด (ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 83/2551 วันที่27 พฤศจิกายน 2551 )ให้ กทพ.ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ ที่ลดลงจากการประมาณให้แก่ เอ็นอีซีแอลสำหรับปี 2542 จำนวน 730.8 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยตามสัญญานับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2543  เป็นต้นไป และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059.2 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตฯดังกล่าว เกิดจาก เอ็นอีซีแอลฯยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตฯว่า  หลังจากที่บริษัทได้ทำสัญญาสัมปทานโครงการทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน ระยะเวลาของสัญญา 30 ปี เมื่อเดิอนกันยายน 2539  ซึ่งในสัญญาดังกล่าวระบุว่า ถ้าในระหว่างระยะเวลาของสัญญา กทพ.หรือรัฐบาลได้ดำเนินการก่อสร้าง หรือปรับปรุงถนนหรือทางหลวงจนได้มาตรฐานเช่นเดียวกับทางพิเศษภายในขอบเขตหรือพื้นที่ใกล้เคียงกับทางด่วน ซึ่งมีผลกระทบอย่างแรงทำให้ปริมาณการจราจรที่ใช้ทางด่วนหรือรายได้ที่จะได้รับจากการใช้ทางด่วนดังกล่าวลดลงจากประมาณการรายได้ กทพ.จะชดเชยรายได้ค่าผ่านทางส่วนที่ลดลงหรือชดเชยด้วยวิธีการที่คู่สัญญาเห็นว่า เหมาะสมให้แก่ เอ็นอีซีแอลตลอดระยะเวลาของสัญญา

แต่ปรากฏว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อกุมภาพันธ์ 2540 ให้กรมทางหลวงก่อสร้างทางยกระดับดินแดง-ดอนเมือง (ดอนเมืองโทลย์เวย์)ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิตโดยทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน และดอนเมืองโทลลเวย์ส่วนต่อขยายเปิดใช้ในเดือนธันวาคม 2541 ซึ่ง เอ็นอีซีแอลเห็นว่า การก่อสร้างดอนเมืองโทลลเวย์ เป็นการแข่งขันกับการก่อสร้างทางด่วนปากเกร็ด-บางประอินซึ่งเป็นข้อห้ามตามสัญญาทำให้รายได้จากการใช้ทางด่วนลดลง แม้ กทพ.จะคัดค้านว่า การก่อสร้างดอนเมืองโทลลเวย์ไม่ใช่การสร้างทางแข่งขันกับทางด่วนเพราะมาตรฐานต่างๆ กัน และพื้นที่ห่างกัน

แต่ในที่สุดคณะอนุญาโตฯได้พิจารณาจากพยานและเอกสารต่างๆแล้วเห็นว่า การสร้างดอนเมืองโทลลเวย์ มีผลกระทบรุนแรงต่อปริมาณจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนจากประมาณการในปี 2542 จำนวน 730.8 ล้านบาท และ ในปี 2543 จำนวน 1,059.2 ล้านบาท จึงให้ กทพ.ชำระเงินค่าชดเชยให้แก่เอ็นอีซีแอล

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552  กทพ. โดยนายชัยวัฒน์ ธิติชัยฤกษ์ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเอ็นอีซีแอลต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ (คดีดำที่ 323/2552) ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลปกครองกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อคณะอนุญาโตฯชี้ขาดให้ กทพ.จ่ายเงินชดเชยให้แก่เอ็นอีซีแอล จากการขาดรายได้จากค่าทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอินในปี 2542-2543 แล้วเนื่องจากรัฐบาลได้สร้างดอนเมืองโทลลเวย์มาแข่งขันซึ่งเป็นการผิดสัญญาสัมปทานแล้ว โอกาสที่ เอ็นอีซีแล้วจะยื่นคำร้องเสนอพิพาทให้คณะอนุญาโตฯชี้ขาดว่า เอ็นอีซีแแอลขาดรายได้ในปีต่อมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน และตลอดอายุสัมปทานก็มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งแต่ละปีน่าจะขาดรายได้ต่ำกว่าประมาณการไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ตลอดสัญญาสัมปทาน  กทพ.อาจต้องเสียค่าโง่ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์